นอกจากประเทศเวียดนามที่มีพรมแดนติดกันแล้ว กัมพูชาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง หลายปีมานี้ ความร่วมมือในระดับท้องถิ่นระหว่างจีน(กว่างซี)กับกัมพูชามีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
เป็นที่ทราบกันดีว่า กัมพูชาเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจการค้าทั้งสองฝ่ายก็มีความร่วมมือที่เรียกว่า‘ เหนียวแน่น’ ที่เห็นได้ชัดเจนเช่น การที่รัฐบาลจีนไฟเขียวให้สินค้าเกษตรและผลไม้สดหลายชนิดของกัมพูชาสามารถส่งออกไปจีนได้ ปัจจุบัน กัมพูชาได้รับอนุญาตให้ส่งออกกล้วยหอม มะม่วง และลำไยไปจีนยังไม่นับรวมผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าที่มีลักษณะ คล้ายคลึงกับประเทศไทย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นผู้นำต่างประเทศท่านแรกที่ได้รับเชิญให้เดินทางเยือนจีนในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิปีนี้ด้วย
การเดินหน้าความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาลเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือในระดับประชาชนของสองฝ่าย ปัจจุบัน จีนเป็นนักลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในกัมพูชา ในฐานะที่เป็น Gateway to ASEAN รัฐบาลกว่างซีได้สนองตอบนโยบายส่วนกลางในการสานต่อความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกับกัมพูชาในหลายมิติ และส่งเสริมให้ธุรกิจกว่างซีไปลงทุนในกัมพูชาหลายโครงการแล้ว อาทิ
ด้านการเกษตรสมัยใหม่ บริษัท Guangxi Hengbaofeng Agricultural Development Co.,Ltd. (广西恒宝丰农业发展有限公司)เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเขตสาธิตความร่วมมือด้านการเกษตรกัมพูชา-จีน(กว่างซี) และได้นำเทคโนโลยีเครื่องจักรมาใช้ในการปลูกข้าวในเขตสาธิตฯ และเป็นต้นแบบในการพัฒนาด้านเกษตรสมัยใหม่ของกัมพูชา
บริษัท Guangxi Fuwode Agriculture Technology International Cooperation Co.,Ltd. (广西福沃得农业技术国际合作有限公司) เป็นผู้รับเหมาโครงการ“สถานีทดลองการเพาะปลูกพืชเกษตรพันธุ์ดีจีน(กว่างซี)-กัมพูชา” โดยได้นำพืชเศรษฐกิจพันธุ์ดีไปปลูกในกัมพูชาแล้ว280 ชนิด ช่วยอบรมให้ความรู้เพื่อบ่มเพาะบุคลากรคุณภาพด้านการเกษตร 5,100 คนครั้ง
ด้านโครงสร้างพื้นฐานบริษัท Guangxi Power Transmission & Substation Construction Co.,Ltd.(广西送变电建设有限责任公司)กำลังรับเหมาโครงการสถานีไฟฟ้าย่อย 230Kv ระยะที่ 2 ในลักษณะสัญญา EPC (EngineeringProcurementand Construction) ให้กับการไฟฟ้าราชอาณาจักรกัมพูชา (Electricite du Cambodge – EDC) ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนให้กับกัมพูชาได้อย่างมาก
บริษัท Guangxi Construction Design Group (广西交通设计集团有限公司) เข้าไปรับเหมางานเขียนแบบก่อสร้างทางหลวงของท่าอากาศยานนานาชาติเสียมเรียบ (Siem Reap-Angkor International Airport) ระยะที่ 1 ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพงานขนส่งนักท่องเที่ยวได้ปีละ 7 ล้านคนครั้ง และมีแผนงานระยะไกลที่ 20 ล้านคนครั้ง
ด้านการค้าที่ผ่านมา ผู้นำระดับสูงของกัมพูชาได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเข้าร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Expo ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่นครหนานหนิง กลุ่มนักธุรกิจ และผู้ประกอบการกัมพูชานำสินค้าและบริการไปร่วมจัดแสดงและจำหน่ายภายในงานอย่างคึกคัก อาทิ สินค้าเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องประดับ งานศิลปะหัตถกรรม และการบริการด้านการท่องเที่ยว
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กรมพาณิชย์และสำนักงานส่งเสริมการค้า หรือ General Directorate of Trade Promotion (GDTP)กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการกระชับความร่วมมือทางการค้าภายใต้กรอบ RCEP ซึ่งถือเป็น MOU ฉบับแรกที่หน่วยงานพาณิชย์ในชาติสมาชิกอาเซียนลงนามกับกว่างซี เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพของกัมพูชาไปยังประเทศจีน ทำให้ ‘มันสำปะหลังแห้งชนิดแผ่น’ ส่งป้อนตลาดจีนได้เป็นครั้งแรก
และเมื่อเดือนธันวาคม 2565 กัมพูชาได้จัดตั้ง Cambodia Commercial Center in Nanning ที่นครหนานหนิง ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างภาคธุรกิจสองฝ่าย และเมื่อเดือนมกราคม 2566 กรมพาณิชย์กว่างซีและ GDTP กัมพูชา ได้ร่วมกันจัดงานประชาสัมพันธ์การค้าการลงทุนจีน(กว่างซี)-กัมพูชาที่กรุงพนมเปญ โดยภาคธุรกิจสองฝ่ายได้ลงนามสัญญาการลงทุนและสัญญาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ 5 โครงการ
กรมพาณิชย์กว่างซี เปิดเผยว่า ปี 2565 การค้าระหว่างกว่างซีกับกัมพูชามีมูลค่า 1,970 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 88.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)มีธุรกิจกว่างซีที่ได้ขึ้นทะเบียนไปลงทุนที่กัมพูชา (ยกเว้นการลงทุนด้านการเงิน) สะสม 56 ราย มูลค่าการลงทุนตามสัญญา 1,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัญญารับเหมาโครงงการจำนวน 17 ฉบับ คิดเป็นผลประกอบการสะสม 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ กรมพาณิชย์กว่างซี เปิดเผยอีกว่า ก้าวต่อไป กว่างซีจะกระชับความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกับกัมพูชาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผลักดันความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกกับกัมพูชา และเป็นหนึ่งในแรงสนับสนุนในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีน-อาเซียน (China-ASEAN Community with a Shared Future)
จัดทำโดย :นายกฤษณะสุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์http://gx.news.cn(广西新闻网) วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2566
เว็บไซต์https://finance.sina.com.cn (新浪网) วันที่ 9 มกราคม 2566
เว็บไซต์www.people.com.cn (人民网) วันที่ 8 มกราคม 2566