จากความได้เปรียบที่มีพรมแดนติดกับเวียดนามทั้งทางบกและทางทะเล และมีด่านการค้าจำนวนมากทั้งด่านสากลและด่านการค้าชายแดน ได้เอื้ออำนวยให้เขตฯ กว่างซีจ้วง เป็น ‘ช่องทางการค้า’ ที่สินค้าเกษตรจากอาเซียนเข้าสู่ประเทศจีนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าผลไม้สด
และด้วยสภาพภูมิอากาศแบบลมมรสุมเขตกึ่งร้อน ทำให้เขตฯ กว่างซีจ้วงมีผลไม้ประจำฤดูกาลที่หลากหลายในทุกฤดู และเป็นแหล่งผลิตผลไม้ได้มากที่สุดในประเทศจีนหลายปีติดต่อกัน โดยเฉพาะผลไม้ตระกูลส้ม มะม่วง ลูกพลับ แก้วมังกร และเสาวรส ที่มีปริมาณผลผลิตสูงที่สุดในจีน
เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้จัดงานเปิดตัว “แพลตฟอร์มการให้บริการสำหรับการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรกว่างซี (อาเซียน)” ที่นครหนานหนิง โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นกลไกเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้จำหน่าย เพื่อช่วยสินค้าเกษตรของจีนกับอาเซียนบุกตลาดสมาชิก RCEP
ในงานเปิดตัวแพลตฟอร์มฯ นายหวง ถิงจวิน (Huang Tingjun/黄庭军) ผู้ตรวจการระดับ 2 ประจำกรมการเกษตรและชนบทเขตฯ กว่างซีจ้วง กล่าวว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็น สะพานเชื่อมผู้ค้าและลูกค้า ช่วยยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพในการจับคู่ธุรกิจสินค้าเกษตรในพื้นที่ ช่วยให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้ลิ้มรสผลไม้อาเซียน ขณะเดียวกัน ก็ช่วยขยายลู่ทางให้ผลไม้กว่างซีอย่างเช่นส้มมีโอกาสไปจำหน่ายยังตลาดประเทศสมาชิก RCEP ด้วย
นายหวงฯ ยังเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงกำลังเร่งผลักดันการจัดตั้งโครงการสำคัญเกี่ยวกับสินค้าเกษตร เช่น ตลาดอาหารและผลไม้จีน-อาเซียน ตลาดการค้าและแปรรูปอาหารทะเลจีน-อาเซียน เพื่อสร้างระเบียงโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นทางบก และระเบียงโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นทางทะเล (เมืองท่าชินโจว เป๋ยไห่ และฝางเฉิงก่าง) เชื่อมจีนกับอาเซียน และสร้างศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นขนาดใหญ่สำหรับสินค้าเกษตรเพื่อตอบสนองตลาดอาเซียนและตลาดพื้นที่เศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ GBA (Greater Bay Area)
นายหลี่ เชี่ยน (Li Qian/李倩) ประธานผู้บริหารบริษัท China-ASEAN Information Harbor Co., Ltd หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า CAIH (中国—东盟信息港股份有限公司) กล่าวว่า ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าว ทางบริษัทฯ จะพัฒนาระบบปฏิบัติการตามความต้องการของตลาด โดยผนวกปัจจัยแวดล้อม ผู้ค้า และตลาดเข้าไว้ด้วยกัน ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรแบบ Real-time และมีความแม่นยำ สามารถให้บริการแบบ Online + Offline รวมทั้งให้ข้อแนะนำและแผนการตลาดแก่ผู้ผลิตสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความเสถียรภาพด้านราคาและปริมาณผลผลิต ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายว่า ปี 2566 จะประชาสัมพันธ์และดึงดูดให้ผู้ค้าสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน (ผู้จัดหา ผู้จัดซื้อ และผู้จัดจำหน่าย) เข้าไปใช้แพลตฟอร์มให้ได้มากกว่า 5,200 ราย และผลักดันการยกระดับการจับคู่ธุรกิจไปสู่รูปแบบดิจิทัล
สถานการณ์การนำเข้าผลไม้ของประเทศจีน และเขตฯ กว่างซีจ้วง บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปี 2565 ประเทศจีนมีการนำเข้าสินค้าผลไม้และแห้ง (พิกัด 08) คิดเป็นมูลค่า 1.1 แสนล้านหยวน โดย 10 แหล่งนำเข้าผลไม้ (เรียงตามมูลค่า) ได้แก่ ประเทศไทย (41,810 ล้านหยวน) ชิลี (21,830 ล้านหยวน) เวียดนาม (9,962 ล้านหยวน) ฟิลิปปินส์ (4,441 ล้านหยวน) สหรัฐอเมริกา (4,415 ล้านหยวน) นิวซีแลนด์ (4,172 ล้านหยวน) ออสเตรเลีย (4,020 ล้านหยวน) เปรู (3,760 ล้านหยวน) แอฟริกาใต้ (3,440 ล้านหยวน) และกัมพูชา (1,648 ล้านหยวน)
จากตัวเลขข้างต้น จะเห็นได้ว่า ชาติสมาชิก RCEP เป็นแหล่งนำเข้าผลไม้ที่สำคัญของประเทศจีน มีมูลค่าการนำเข้ารวม 69,566 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วน 63.01% ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดย 10 มณฑลที่นำเข้าผลไม้จากชาติสมาชิก RCEP มากที่สุด ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง (20,495 ล้านหยวน) นครเซี่ยงไฮ้ (10,249 ล้านหยวน) มณฑลเจ้อเจียง (9,305 ล้านหยวน) มณฑลยูนนาน (6,335 ล้านหยวน) นครฉงชิ่ง (4,620 ล้านหยวน) เขตฯ กว่างซีจ้วง (4,521 ล้านหยวน) มณฑลซานตง (3,342 ล้านหยวน) มณฑลฝูเจี้ยน (2,224 ล้านหยวน) มณฑลเหลียวหนิง (1,358 ล้านหยวน) และมณฑลเจียงซู (1,356 ล้านหยวน)
บีไอซี เห็นว่า เมื่อการดำเนินงานของแพลตฟอร์มการให้บริการสำหรับการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรกว่างซี(อาเซียน) มีเสถียรภาพและมีความพร้อมรองรับผู้ค้าต่างประเทศแล้ว ผู้ผลิตและส่งออกผลไม้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดังกล่าวในการจับคู่ผู้ซื้อผู้ขายผลไม้ หรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนแพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อใช้อ้างอิงในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของอุตสาหกรรมผลไม้ไทยได้ในอนาคต
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 04 มีนาคม 2566
เว็บไซต์ http://www.caih.com
เครดิตภาพ : Chinanews.com