เมื่อวันที่ 23 – 24 ก.พ. 2566 กรมพาณิชย์มณฑลกวางตุ้งจัดงานสัมมนาการพัฒนาคุณภาพสูงด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (cross-border e-commerce: CBEC) ณ เมืองซ่านโถว โดยในการประชุมได้รายงานภารกิจของรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งในปี 2566 โดยเน้นย้ำการเร่งสร้างพื้นที่สาธิตด้าน CBEC ซึ่งปัจจุบันมณฑลกวางตุ้งอยู่ระหว่างการร่างแผนดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
ในงานสัมมนายังระบุด้วยว่า อุตสาหกรรม CBEC ของมณฑลกวางตุ้งพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ปัจจุบัน เมืองในมณฑลกวางตุ้งได้รับอนุมัติให้เป็นที่ตั้งของเขตนำร่องแบบบูรณาการด้าน CBEC แล้วครบ 21 เมือง มากที่สุดในจีน นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมพาณิชย์มณฑลกวางตุ้งเผยว่า ระหว่างปี 2558 – 2565 มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกในอุตสาหกรรม CBEC ของมณฑลกวางตุ้งเติบโตจาก 14,800 ล้านหยวนเป็น 645,400 ล้านหยวน ขยายตัวเกือบ 43 เท่า โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 72 ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 31 ของมูลค่าการนำเข้าส่งออกในอุตสาหกรรม CBEC ทั้งหมดของจีน โดยในส่วนของการเติบโตของอุตสาหกรรม CBEC เมืองในมณฑลกวางตุ้งมีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป โดยมีพัฒนาการที่น่าสนใน ดังนี้
นครกว่างโจว ได้รับอนุมัติให้เป็นเมืองนำร่องพาณิชย์และการบริการอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระดับชาติจีนครั้งแรกตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกในอุตสาหกรรม CBEC ของนครกว่างโจว ขยายตัวกว่า 93 เท่า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสูงเป็นอันดับที่ 1 ของจีนเป็นระยะเวลา 9 ปีติดต่อกัน นอกจากนี้ นครกว่างโจวยังมีแผนที่จะเดินหน้าสร้างศูนย์อุตสาหกรรม CBEC ที่สำคัญ ได้แก่ (1) ศูนย์บริการผู้ประกอบการ CBEC นานาชาติ (2) ศูนย์ห่วงโซ่อุปทาน และ (3) ศูนย์นวัตกรรมและบ่มเพาะวิสาหกิจ CBEC ครบวงจร รวมถึงวางแผนที่จะจัดการประชุมด้าน CBEC ระดับโลก รวมถึงงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี
เมืองเซินเจิ้น มีเป้าหมายที่จะมุ่งขยายมูลค่าการนำเข้า-ส่งในอุตสาหกรรม CBEC สู่ระดับ 300,000 ล้านหยวนภายในปี 2568 โดยได้เตรียมการโดยการวางนโยบายอันครอบคลุมและตรงจุด มีระบบการบริการการกำกับดูแลอันรอบคอบ ชาญฉลาด และแม่นยำ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งระบบบริการโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนที่เชื่อมโยงใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพกับระบบคลังสินค้าในต่างประเทศ เป็นต้น
เมืองตงก่วน ระหว่างปี 2560 – 2565 ยอดนำเข้า-ส่งออกในอุตสาหกรรม CBEC ของเมืองตงก่วนขยายตัว จาก 15,900 ล้านหยวนเป็น 81,860 ล้านหยวน โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 38 ต่อปี สำนักงานพาณิชย์ เมืองตงก่วนระบุว่า เมืองตงก่วนมีเป้าหมายขยายมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกในอุตสาหกรรม CBEC เกิน 500,000 ล้านหยวน ภายในปี 2568 โดยได้บ่มเพาะกลุ่มวิสาหกิจด้าน CBEC ขนาดใหญ่และมีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก ตลอดจนวิสาหกิจบริการเฉพาะทาง รวมถึงผลักดันให้มีวิสาหกิจด้าน CBEC เกิน 15,000 ราย
เมืองซ่านโถว สำนักงานพาณิชย์เมืองซ่านโถวเผยว่า เมืองซ่านโถวให้ความสำคัญต่อประเด็น ‘ชาวจีนโพ้นทะเล’ ‘อุตสาหกรรม’ และ ‘ดิจิทัล’ ผ่านการดำเนินงานสำคัญ 6 ประการ ได้แก่ ‘การยกระดับประสิทธิภาพระบบ CBEC’ ‘นโยบายส่งเสริม’ ‘การปรับอุตสาหกรรมใหม่’ ‘การดึงดูดชาวจีนโพ้นทะเลให้ร่วมดำเนินธุรกิจเพื่อกระตุ้นการค้า’ ‘การบ่มเพาะผู้มีความสามารถ’ และ ‘การยกระดับดิจิทัล’ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นเมืองผู้นำที่มีประสบการณ์ด้าน CBEC และเป็นเมืองต้นแบบให้กับเมืองอื่น ๆ ในจีน
มณฑลกวางตุ้งยังคงเป็นมณฑลที่มีความโดดเด่นทั้งในด้านการผลิตและมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม CBEC ของจีน ซึ่งนอกจากจะเพิ่มโอกาสในการนำสินค้าจีนออกไปจำหน่ายในต่างประเทศแล้ว ยังมีความสามารถในการซื้อสินค้านำเข้าที่ทำให้เมืองเอก เช่น นครกว่างโจวมีมูลค่าการนำเข้าสูงเป็นอันดับที่ 1 ของจีนเป็นระยะเวลา 9 ปีติดต่อกัน ทำให้ CBEC ยังเป็นอีกหนึ่งประตูบานสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้สินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าของไทยให้สามารถเข้ามาจำหน่ายในตลาดจีนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
พรีรษา โฆษิตวิชญ เขียน
สรศักดิ์ บุญรอด เรียบเรียง
22 มีนาคม 2566
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1758771209486843442&wfr=spider&for=pc