ในโลกปัจจุบันที่กำลังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล “การสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ” ถือเป็นตัวจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เดินหน้าไปสู่การเจริญเติบโต สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าและบริการที่ต่อเนื่อง (Related industries)
ในยุคที่องค์กรธุรกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคลาวด์คอมพิวติ้ง อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า และบล็อกเชน จึงจำเป็นต้องใช้ระบบการจัดการและประมวลผลชุดข้อมูล (Data) ที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นเช่นกัน หากเปรียบ ‘ชุดข้อมูล’ เหมือนกับ ‘ก้อนเพชรดิบ’ แล้ว “พลังประมวลผล” (Computing Power) ก็เปรียบเสมือน ‘เครื่องเจียระไน’ (Data Mining) ที่ช่วยสกัดให้ก้อนเพชรดิบนี้มีค่ามีราคาที่สูงขึ้น
“พลังประมวลผล” คือ ศักยภาพในการบริหารจัดการชุดข้อมูลของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือศูนย์ข้อมูล (Data Center) /ศูนย์ประมวลผล (Computing Center) เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการประมวลผลชุดข้อมูลให้มีความรวดเร็วและแม่นยำ ถือเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (digital infrastructure) ที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาของเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยนวัตกรรม
ที่สำคัญ รัฐบาลกลางกำหนดให้การพัฒนา “พลังประมวลผล” อยู่ในแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติจีนภายใต้กรอบการดำเนินงานที่ให้พื้นที่ภาคตะวันตกเป็นฐานการประมวลผลชุดข้อมูลจากพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจของจีน (Eastern Data and Western Computing) และในปีที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศที่มีปริมาณการประมวลผลชุดข้อมูลสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลกด้วย
ในระดับนโยบายรัฐ เขตฯ กว่างซีจ้วงได้วางผังการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศไว้ล่วงหน้า และกำลังเร่งรัดการก่อสร้างพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังประมวลผล โดยใน 《แผนพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศของกว่างซี ระยะ 5 ปี (ระหว่างปี 2564-2568)》และ 《แผนพัฒนาดิจิทัลกว่างซี ระยะ 5 ปี (ระหว่างปี 2564-2568) 》ได้ระบุถึงการพัฒนาคลัสเตอร์ศูนย์ข้อมูลเฉพาะสาขา รวมถึงการวางผังการพัฒนาด้านพลังประมวลผลให้สมดุลทั่วมณฑล
นอกจากนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงได้ประกาศ 《แผนปฏิบัติสร้างเครือข่ายพลังประมวลผล ภายใต้กรอบแผนงานศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Information Harbor – CAIH》ซึ่งมีกำหนดพันธกิจที่สำคัญด้านการก่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายพลังประมวลผล รวมถึงการส่งเสริมผลักดันการพัฒนาด้านพลังประมวลผล (Computability) การจัดเก็บข้อมูล (Storage Power) การประมวลผล (Operation Capability) และการประยุกต์ใช้ (Application)
เพื่อสนองตอบนโยบายจากส่วนกลาง และสอดรับกับแผนพัฒนา Digital Guangxi เมื่อไม่นานมานี้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ก่อตั้ง “สมาพันธ์เครือข่ายอุตสาหกรรมพลังประมวลผลกว่างซี” (Guangxi Computing Industry Alliance/广西算力产业联盟) ที่นครหนานหนิง เพื่อส่งเสริมการคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมพลังประมวลผลตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ และสนับสนุนการเป็นศูนย์พลังประมวลผลระหว่างประเทศ (International Computing Center) และศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างประเทศ (international Information Hub) ที่มุ่งสู่อาเซียน และผลักดันการพัฒนาโครงข่ายพลังประมวลผลของกว่างซีให้ก้าวไปมีความสำคัญระดับประเทศ
สมาพันธ์ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือของ 3 ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจีน (China Telecom, China Unicom และ China Mobile) ร่วมกับบริษัทชั้นนำด้านพลังประมวลผล อาทิ Huawei, ZTE (中兴) และ CTYUN (天翼云) ภายใต้แนวทางของสำนักงานกำกับกิจการโทรคมนาคมเขตฯ กว่างซีจ้วง คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปเขตฯ กว่างซีจ้วง สำนักงานเพื่อการพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่เขตฯ กว่างซีจ้วง
คุณหวัง จื้อฟาง (Wang Zhifang / 王志芳) เลขาธิการพรรคฯ และผู้จัดการใหญ่บริษัท China Telecom สาขากว่างซี และประธานสมาพันธ์เครือข่ายอุตสาหกรรมพลังประมวลผลกว่างซี เปิดเผยว่า ภายหลังการก่อตั้งสมาพันธ์ฯ แล้ว จะขยายและต่อยอดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังประมวลผลตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ พัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ครบวงจร โดยมีพันธกิจสำคัญ คือ การผลักดันการปฏิรูปภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ของกว่างซีไปสู่ดิจิทัล เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังประมวลผลยุคใหม่ที่คาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรากฐาน ‘ดิจิทัลกว่างซี’ มุ่งยกระดับขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมดิจิทัล มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มีคุณภาพสูง
นอกจากนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงกำลังเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ โดยเฉพาะการเร่งก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศพลังประมวลผลอัจฉริยะที่มีความครบวงจร ซึ่งถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ใช้ไขประตูสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นแกนพลังในการผลิต (core productive forces) ในยุคสมัยใหม่ เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมสู่ดิจิทัล หรือ Digital reform
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
เว็บไซต์ www.21jingji.com (21世纪经济报道) วันที่ 10 มีนาคม 2566