จากการเปิดเผยข้อมูลการสำรวจทรัพยากรด้านยาจีนครั้งที่ 4 ของมณฑลกุ้ยโจวระบุว่า กุ้ยโจวมีความหลากหลายของพืชที่ใช้ทำยารวม 7,317 ชนิด สูงเป็นอันดับ 2 ของจีน และเป็น 1 ใน 4 แหล่งผลิตสมุนไพรจีนที่ใหญ่ที่สุดของจีน รวมถึงเป็นแหล่งยาพื้นเมืองชนเผ่าแม้วที่สำคัญของจีน
มณฑลกุ้ยโจวถือเป็นแหล่งวัตถุดิบยาจีนที่สำคัญของประเทศ โดยได้รับการขนานนามว่า “คลังสมบัติยาธรรมชาติ” และ “แหล่งยาชนเผ่าแม้วของจีน” ในปี 2565 กุ้ยโจวมีพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรจีน 7.96 ล้านหมู่ (ประมาณ 3.32 ล้านไร่) ผลผลิต 2.98 ล้านตัน รวมมูลค่า 28,060 ล้านหยวน มีอำเภอที่เพาะปลูกสมุนไพรจีนมากกว่าหนึ่งแสนหมู่ขึ้นไปจำนวน 33 อำเภอ จาก 88 อำเภอทั้งหมดของมณฑล และมีพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรเทียนหมา สือหู ลูกเดือย และโกวเถิง สูงที่สุดในจีน
อย่างไรก็ดี แม้ว่ามณฑลกุ้ยโจวจะเป็นแหล่งทรัพยากรสมุนไพรจีนที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ขนาดอุตสาหกรรม และการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ รวมถึงยังต้องการการพัฒนาในอีกหลายด้าน เช่น การปรับปรุงสายพันธุ์สมุนไพรให้ดียิ่งขึ้น การสร้างระบบมาตรฐานของอุตสาหกรรมสมุนไพรจีน และการส่งเสริมพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรจีนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
จากความท้าท้ายข้างต้นส่งผลให้เมื่อช่วงต้นปี 2566 สำนักงานคณะกรรมการอนามัยและสุขภาพมณฑลกุ้ยโจวร่วมกับสำนักงานบริหารการแพทย์แผนจีนมณฑลกุ้ยโจวได้จัดทำ “แผนปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยาแพทย์แผนจีนที่มีคุณภาพสูงของมณฑลกุ้ยโจว (ปี 2566-2573)” โดยกำหนดภารกิจสำคัญไว้ 3 ประการ ได้แก่
- ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมสมุนไพรจีนให้เติบโตกว่าเท่าตัว โดยมุ่งเน้นพัฒนาสมุนไพรและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่ดียิ่งขึ้น ส่งเสริมให้มูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมยาพื้นเมืองเติบโตโดยเฉลี่ยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี รวมถึงสร้างพื้นที่เพาะพันธุ์สมุนไพรจีนที่ดีและมีความโดดเด่น
- ปรับปรุงการจัดวางพื้นที่ของอุตสาหกรรมยาแพทย์แผนจีน โดยการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสมุนไพรจีน 3-5 กลุ่ม และเขตอุตสาหกรรมสมุนไพรจีน (โดยเฉพาะสมุนไพรที่เหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่ป่า) อีก 5 แห่ง รวมถึงการส่งเสริมสินค้ายาสมุนไพรท้องถิ่นในรูปแบบ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งอุตสาหกรรม” หรือ “หลายอำเภอ หนึ่งคลัสเตอร์”
- ยกระดับการแปรรูปยาแพทย์แผนจีน โดยส่งเสริมความร่วมมือด้านการแปรรูประหว่างบริษัทผลิตวัตถุดิบสมุนไพรและบริษัทผลิตยาแพทย์แผนจีน รวมถึงความร่วมมือในลักษณะ “บริษัท+แหล่งเพาะปลูก+เกษตรกร”
ขณะเดียวกัน แผนปฏิบัติการดังกล่าวยังเน้นย้ำเรื่องการส่งเสริมการกํากับดูแลทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยของยาจีนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยการสร้างแพลตฟอร์มการกำกับดูแลการแพทย์แผนจีนแบบครบวงจรตั้งแต่การจัดหายาและครอบคลุมไปจนถึงการรักษา ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงานบริหารการแพทย์แผนจีนมณฑลกุ้ยโจวเคยออกมาตรการ “วิธีการจัดการระบบตรวจสอบย้อนกลับคุณภาพสมุนไพรจีนของมณฑลกุ้ยโจว (ฉบับนำร่อง)” เพื่อสร้างแพลตฟอร์มระบบตรวจสอบย้อนกลับคุณภาพสมุนไพรจีน นับเป็นการยกระดับคุณภาพยาจีนของมณฑลให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ที่มา: http://www.gz.xinhuanet.com/2023-05/30/c_1129655382.htm
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู