• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • มาแล้ว.. รถไฟความเร็วสูง “หนานหนิง-กุ้ยหยาง” พร้อมเชื่อมต่อหัวเมืองหลักในภาคตะวันตก

มาแล้ว.. รถไฟความเร็วสูง “หนานหนิง-กุ้ยหยาง” พร้อมเชื่อมต่อหัวเมืองหลักในภาคตะวันตก

ในที่สุด… รถไฟความเร็วสูงที่วิ่งด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเส้นทางแรกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงก็เปิดให้บริการแล้ว โดยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 รถไฟความเร็วสูงเส้นทาง “นครหนานหนิง-นครกุ้ยหยาง” เที่ยวขบวนG4308ได้วิ่งจากสถานีรถไฟหนานหนิงตะวันออก หรือเรียกสั้นๆว่า ตงจ้าน (Nanning Dong Railway Station/南宁东站) ไปยังสถานีรถไฟกุ้ยหยางเป่ย (Guiyang Beirailway station/贵阳北站)โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง 53 นาที

รถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้มีระยะทางรวม 482 กิโลเมตร มีทั้งหมด 13 สถานี เป็นเส้นทางในกว่างซี 282 กิโลเมตร รวม7 สถานี โดยรถไฟความเร็วสูงวิ่งจากนครหนานหนิง ผ่านเมืองเหอฉือก่อนเข้าสู่มณฑลกุ้ยโจว
โดยเมืองเหอฉือเป็นเมืองรองท้ายของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่มีรถไฟความเร็วสูง (เมืองยวี่หลิน เป็นเมืองสุดท้ายที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในเดือนมิถุนายน 2567)

 

ที่สุดของงานก่อสร้างที่ต้องใช้เวลานานกว่า 6 ปี!!! เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศและโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่สลับซับซ้อน พื้นที่ภูเขา Karst (หินปูนโพรงถ้ำ) ของเขตฯกว่างซีจ้วงและพื้นที่ภูเขาสูง (ผาตั้ง) ในมณฑลกุ้ยโจว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร่องเขาลึกที่ค่อนข้างอันตราย จึงต้องสร้างสะพาน 199 แห่งและอุโมงค์ 107 แห่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 90% ของเส้นทางทั้งหมด

 

ก่อนที่รถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าวจะเปิดให้บริการ การเดินทางด้วยรถไฟระหว่างนครหนานหนิงกับนครกุ้ยหยาง จะต้องวิ่งอ้อมผ่านเมืองกุ้ยหลิน (นครหนานหนิง – เมืองกุ้ยหลิน – นครกุ้ยหยาง โดยเส้นทางดังกล่าวในกว่างซีจะวิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งต้องใช้เวลาราว 5 ชั่วโมงและรถไฟธรรมดาต้องใช้เวลานานถึง 11 ชั่วโมง / หรือวิ่งอ้อมผ่านเมืองหลิ่วโจว (นครหนานหนิง – เมืองหลิ่วโจว – นครกุ้ยหยาง ซึ่งเป็นรถไฟธรรมดา) ต้องใช้เวลา 6 ชั่วโมงครึ่ง

ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการ บริษัทChina Railway (中国国家铁路集团) จะจัดตารางการเดินรถไฟเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เที่ยวขบวนรายวัน เที่ยวขบวนในวันสุดสัปดาห์ และเที่ยวขบวนในช่วงที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก (สามารถให้บริการได้มากสุดถึงวันละ 56 ขบวน)

ที่สำคัญ การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง “นครหนานหนิง-นครกุ้ยหยาง” จะเป็นปฐมบทใหม่ของการเชื่อมโยงการเดินทางด้วยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างหัวเมืองใหญ่ในภาคตะวันตกของจีนด้วย กล่าวคือในอนาคตโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงจะเชื่อมตรง (Direct route) ไปถึงนครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง ซึ่งจะใช้เวลาเพียง 6-7 ชั่วโมงเท่านั้น

การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าวยังช่วยแบ่งเบาภาระด้านการขนส่งทางรางของเส้นทางเดิมซึ่งใช้ทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพของการขนส่งสินค้าของเส้นทางเดิมได้อีกมาก(ในอดีต เส้นทางเดิมมีเที่ยวขบวนแบบประจำวันละ 62 เที่ยว ในจำนวนนี้ เป็นขบวนรถไฟขนส่งผู้โดยสารวันละ10เที่ยว) โดยเจ้าหน้าที่ของ China Railway Nanning Group (中国铁路南宁局) ให้ข้อมูลว่า การลดจำนวนเที่ยวขบวนรถไฟขนส่งผู้โดยสารไป-กลับ 1 คู่ขบวนจะช่วยเพิ่มเที่ยวขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไป-กลับได้ 1.3 ขบวน

โดยสรุป เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้มีบทบาทสำคัญในการเป็น “ตัวจักร” ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคภาคตะวันตก(เฉียงใต้)ของจีน ช่วยส่งเสริมการหมุนเวียนของกระแสเงินทุน การแลกเปลี่ยนของบุคลากรองค์ความรู้ และเทคโนโลยีระหว่างสองพื้นที่ ที่สำคัญเป็นเครื่องมือช่วยขจัดความยากจนในพื้นที่ชนบท ช่วยสร้างโอกาสการทำงานในพื้นที่เพื่อบรรลุเป้าหมาย ‘สังคมเสี่ยวคัง’ หรือสังคมกินดีอยู่ดีถ้วนหน้า

 

 

จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง  ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ http://gx.people.com.cn(人民网广西频道) วันที่ 31สิงหาคม และ วันที่ 2 กันยายน 2566
ภาพประกอบ http://gx.news.cn 

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]