• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เสริมแกร่ง Hub การค้าผลไม้อาเซียน กว่างซีผุด 3 ศูนย์ซื้อขายผลไม้จีน(หนานหนิง)-อาเซียนในเมืองเอก ชายแดน และท่าเรือ

เสริมแกร่ง Hub การค้าผลไม้อาเซียน กว่างซีผุด 3 ศูนย์ซื้อขายผลไม้จีน(หนานหนิง)-อาเซียนในเมืองเอก ชายแดน และท่าเรือ

ข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่มีพรมแดนติดอาเซียน (เวียดนาม) เป็นที่ตั้งของด่านพรมแดนทางบกและด่านท่าเรือทะเลที่สำคัญของประเทศ กอปรกับยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกลางมอบให้มณฑลแห่งนี้เป็น Gateway to ASEAN ทำให้กว่างซีมีบทบาทสำคัญในด้านระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อการค้าสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าผลไม้สดกับอาเซียน

เพื่อตอกย้ำบทบาทการเป็น Hub การค้าผลไม้ระหว่างจีน-อาเซียน เขตฯ กว่างซีจ้วงพยายามใช้ข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งที่ติดกับอาเซียน ผลักดันการจัดตั้ง “ศูนย์การซื้อขายผลไม้จีน-อาเซียน” (中国—东盟水果交易中心) ใน 3 เมือง คือ เมืองชายแดนฉงจั่ว นครเอกหนานหนิง และเมืองท่าชินโจว โดยจะพัฒนาให้ศูนย์การซื้อขายผลไม้จีน-อาเซียนเป็นพื้นที่ที่มีฟังก์ชันครบครัน ทั้งการจัดแสดง การกระจายสินค้า การซื้อขายออนไลน์ โลจิสติกส์อัจฉริยะ การดำเนินพิธีการศุลกากร อีคอมเมิร์ซ และการนำเข้าเพื่อการแปรรูปในท้องที่ และถือเป็นโครงการเชิงสัญลักษณ์ที่ตอบโจทย์แนวคิดการพัฒนาให้เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นพื้นที่ความร่วมมือทางอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลกลางแล้ว

เริ่มต้นที่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ศูนย์การซื้อขายผลไม้จีน(ฉงจั่ว)-อาเซียน ได้เปิดตัวที่อำเภอระดับเมืองผิงเสียง เมืองการค้าชายแดนสำคัญบนเนื้อที่ 747 ไร่ แบ่งเป็นโซนหลัก (Core Area) กับโซนแปรรูป แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 4,000 ล้านหยวน

ศูนย์แห่งนี้เน้นฟังก์ชันด้านการแปรรูป (นำเข้ามาแปรรูปในพื้นที่เพื่อการจำหน่ายในประเทศ/ส่งออก) และโกดังห่วงโซ่ความเย็น มุ่งส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้เพื่อตอบโจทย์ตลาดจีนและอาเซียน โดยใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งที่ประชิดด่านชายแดน (ด่านสากลโหย่วอี้กวาน รวมถึงช่องทาง Puzhai และช่องทาง Nongrao เชื่อมกับเวียดนาม) โดยเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การเป็นศูนย์การซื้อขายผลไม้นำเข้า-ส่งออกผ่านทางบกแบบครบวงจร

ในวันเดียวกัน รัฐบาลผิงเสียงและบริษัท Beijing Xinfadi Management Co.,Ltd. (北京新发地企业管理有限公司) หนึ่งในตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรยักษ์ใหญ่ของจีน ได้ร่วมกันลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือด้านการขนส่งสินค้าเกษตรและผลิตผลพลอยได้ทางการเกษตร และได้มีการปล่อยรถบรรทุกทุเรียนไทยและแก้วมังกรเวียดนนาม 20 คันจากศูนย์แห่งนี้เพื่อกระจายไปยังมณฑลอื่นในจีนด้วย

จากนั้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ศูนย์การซื้อขายผลไม้จีน(ชินโจว)-อาเซียน ได้เปิดตัวภายในศูนย์การซื้อขายสินค้าทัณฑ์บนห่วงโซ่ความเย็นอ่าวเป่ยปู้(ท่าเรือชินโจว)ในเมืองชินโจว ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญในอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยเรียก อ่าวตังเกี๋ย)

ศูนย์แห่งนี้ใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งที่เป็นท่าเรือทะเลที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลที่เชื่อมถึงอาเซียนได้สะดวกและรวดเร็ว โดยเน้นทุเรียน มะม่วง มะพร้าว มังคุด และลำไยจากประเทศไทย มาเลเซีย และกัมพูชาเป็นหลัก

ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 3 ปีจะสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์และตลาดการค้าผลไม้จีน(ชินโจว)-อาเซียน ผลักดันการก่อสร้างสวนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการรวบรวมสินค้าห่วงโซ่ความเย็น(สินค้าเกษตร)นานาชาติจีน-อาเซียน การพัฒนาฐานโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นแบบครบวงจรระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งใหม่ และการพัฒนาฐานไลฟ์สตรีมมิ่งและขายตรงผลไม้ พร้อมตั้งเป้าหมายว่าในปี 2568 จะมีปริมาณการนำเข้าผลไม้มากกว่า 6 แสนตัน

ในวันเดียวกัน ได้มีพิธีต้อนรับเรือบรรทุกทุเรียนมาเลเซียล็อตแรกเข้าเทียบท่าท่าเรือชินโจว พิธีเปิดแพลตฟอร์มซื้อขายผลไม้ออนไลน์ (launching ceremony) และทุเรียนมาเลเซียล็อตแรกขนถ่ายเข้าคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (cold warehouse) ด้วย

และล่าสุด เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ศูนย์การซื้อขายผลไม้จีน(หนานหนิง)-อาเซียน ได้เปิดตัวที่ ศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียนเรียกสั้นๆ ว่า CAMEX หรือ China-ASEAN Mercantile Exchange (中国—东盟特色商品汇聚中心) ซึ่งตั้งอยู่ในสวนโลจิสติกส์นานาชาติจีน(นครหนานหนิง)-สิงคโปร์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า CSILP ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงสินค้าและซื้อขายสินค้าของผู้ประกอบการจีนและอาเซียน

โดยปี 2565 การค้าผลไม้ระหว่างนครหนานหนิงกับอาเซียน แม้ว่าจะมีมูลค่าเพียง 815 ล้านหยวน แต่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 165.97% (YoY) ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการค้าผลไม้กับอาเซียน

ศูนย์การซื้อขายผลไม้จีน(หนานหนิง)-อาเซียน มีพื้นที่ราว 296 ไร่ แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส มูลค่าการลงทุน 1,600 ล้านหยวน มีพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 4.8 แสน ตร.ม. ได้รับการกำหนดบทบาทให้เป็นศูนย์การกระจาย การแปรรูป และการค้าผลไม้ระหว่างจีนกับอาเซียน โดยอาศัยความได้เปรียบของการเป็นนครเอกหนานหนิง คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิความเย็นขนาดใหญ่ในสวนโลจิสติกส์ CSILP และแพลตฟอร์มการค้าออฟไลน์+ออนไลน์ของศูนย์ CAMEX ในการสร้างระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทาน และการนำเข้า-ส่งออกในสินค้าผลไม้แบบสองทางระหว่างจีนกับอาเซียน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สวนโลจิสติกส์ CSILP (ChinaSingapore NanningInternationalLogistics Park/中新南宁国际物流园) เป็นโปรเจกต์สำคัญในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยนครหนานหนิงกับเขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรหนานหนิง ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง (Wuxiang New District/五象新区) เมืองใหม่ที่ได้รับการกำหนดให้เป็น New Growth Pole ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของนครหนานหนิง และเป็นนามบัตรใบใหม่ที่สะท้อนถึงความเจริญและทันสมัยของนครหนานหนิง

สวนโลจิสติกส์ CSILP มีเนื้อที่ราว 1,626 ไร่ แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 เฟส โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2568 ภายในสวนโลจิสติกส์ CSILP มีการจัดสรรพื้นที่เป็นหลายฟังก์ชัน อาทิ สวนอัจฉริยะสินค้าทัณฑ์บนสิงคโปร์-จีน (สำหรับธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ และ Cross-border e-Commerce) สวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอาเซียน (สำหรับธุรกิจชั้นนำด้านเทคโนโลยีการแพทย์ธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจด้านการบ่มเพาะและศึกษาวิจัยโครงการด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่) และศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน(CAMEX) ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงสินค้าและซื้อขายสินค้าของผู้ประกอบการจีนและอาเซียน

บีไอซี เห็นว่า ในภาพรวม การค้าระหว่างจีนกับอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน“อาเซียน” ได้ก้าวขึ้นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกว่างซีติดต่อกัน 23 ปี โดยสินค้าเกษตรเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีความสำคัญในโครงสร้างการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน โดยเขตฯ กว่างซีจ้วงมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรกับอาเซียนเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศจีน โดยเฉพาะการค้าผลไม้

ความใกล้ชิดด้านทำเลที่ตั้งของเขตฯ กว่างซีจ้วง จึงเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยสามารถเข้าไปพัฒนาการค้าแบบสองทาง โดยเลือกใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มการค้าผลไม้ข้างต้นที่กว่างซีได้รังสรรค์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่นครเอกหนานหนิง เมืองชายแดนฉงจั่ว(ผิงเสียง) และเมืองท่าชินโจว ซึ่งเป็นโซลูชันทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายช่องทางการค้ากับจีนได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังสามารถใช้ประโยชน์จากระบบคมนาคมขนส่งที่รวดเร็วและทันสมัยของกว่างซีทั้งทางถนน รถไฟ เรือ และอากาศภายใต้โมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal Transportation) ในการกระจายสินค้าต่อไปยังพื้นที่อี่นทั่วประเทศจีนได้ด้วย

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]