เขียน : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง
เขียนและเรียบเรียง : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศกึ่งร้อนเอื้ออำนวยให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงประสบความสำเร็จในการปลูกผลไม้เขตร้อนได้หลายชนิด หนึ่งในนั้น คือ “ลำไย” ผลไม้ฤดูร้อนชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมของหมู่ผู้บริโภคชาวจีน นอกจากรสชาติที่หอมหวานแล้ว ชาวจีนเชื่อว่า… ลำไยมีสรรพคุณทางยา แถมยังมีชื่อที่เป็นสิริมงคล ซึ่งแปลว่า ‘เนตรมังกร’ ในภาษาจีน
ช่วงนี้ในนครหนานหนิงจะเห็นลำไยวางขายดาษดื่นบนแผงในตลาด ตามร้านผลไม้ รวมถึงหลังรถซาเล้งที่อยู่ริมข้างทาง เพราะว่าช่วงนี้เข้าสู่ ‘หน้าลำไย’ ของกว่างซี(จีน)แล้ว บทความฉบับนี้ บีไอซี จึงขอถือโอกาสนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับตลาดลำไยกว่างซี(จีน) รวมทั้งโอกาสและความท้าทายของลำไยไทยในตลาดจีน
รู้จัก…ตลาดลำไยกว่างซี(จีน) ท่านรู้หรือไม่ว่า… ด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่ไพศาล จีนเป็นประเทศที่มีพื้นที่ปลูกและมีผลผลิตลำไยสดมากที่สุดในโลก ปี 2565 ทั้งประเทศจีนมีพื้นที่ปลูกลำไยราว 1.87 ล้านไร่ มีผลผลิตเกือบ 2 ล้านตัน
ผลผลิตลำไยในจีนจะออกสู่ตลาดในราวเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี โดยลำไยพันธุ์สือเสีย (Shixia/石硖) เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมปลูกมากที่สุดจากทั้งหมด 8 พันธุ์ ทั้งนี้ พบว่า หลายปีมานี้ ผลผลิตลำไยในจีนมีความผันผวน (มีแนวโน้มลดลง) จากปัจจัยด้านสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ
โดยเขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นแหล่งปลูกลำไยอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีพื้นที่ปลูกลำไยราว 5.54 แสนไร่ ปริมาณผลผลิตลำไย (ปี 2565) 625,500 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 31.2% ของทั้งประเทศจีน โดยสายพันธุ์สือเสียเป็นสายพันธุ์ที่มีการปลูกมากที่สุดในเขตฯ กว่างซีจ้วง คิดเป็นสัดส่วน 82.7% ของพื้นที่ปลูกลำไยทั้งหมด โดยอำเภอผิงหนาน (Pingnan County/平南县) เมืองกุ้ยก่าง เป็นอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกลำไยพันธุ์สือเสียใหญ่ที่สุดในประเทศจีน
เหตุไฉน… ทำไมจีนยังนำเข้าลำไย แม้จะปลูกได้เอง แม้ว่าจีนเป็นประเทศที่ผลิตลำไยสดได้มากที่สุดในโลกก็จริง แต่ด้วยขนาดประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ทำให้กำลังการผลิตไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ ทำให้จีนจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งลำไยสดและลำไยอบแห้งจากต่างประเทศ ปัจจุบัน จีนอนุญาตการนำเข้าลำไยจากประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา และกัมพูชา
ข้อมูลปี 2565 “ลำไยสด” เป็นผลไม้ที่จีนนำเข้ามากเป็นอันดับที่ 7 (รองจากทุเรียน เชอร์รี่ กล้วย ถั่วเปลือกแข็ง มังคุด และมะพร้าว) ปริมาณการนำเข้าลำไยสด 382,546 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,579 ล้านหยวน และลำไยอบแห้ง 137,689 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,262 ล้านหยวน
โดยนับตั้งแต่ปี 2562 “ประเทศไทย” เป็นแหล่งนำเข้าลำไยสด ‘นัมเบอร์ 1’ ของจีนติดต่อกัน 4 ปี และระหว่างเดือนมกราคม – กรกฎาคม ปี 2566 ประเทศจีนนำเข้าลำไยสดจากไทยสูงถึง 139,493 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 94% ของปริมาณการนำเข้าลำไยสดของจีน
เหตุที่ลำไยไทยชนะใจตลาดจีน นั่นเป็นเพราะขนาดผลที่โต เนื้อหนา รสชาติหวานฉ่ำ มีผลผลิตตลอดปี (มีลำไยนอกฤดูกาล) สามารถรักษาความสดใหม่ได้นาน และกระบวนการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่เข้มงวดจึงมีความปลอดภัยทางอาหาร (food safety) จึงได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค
โอกาสและความท้าทายของลำไยไทยในตลาดจีน ความต้องการบริโภคลำไยที่เพิ่มสูงขึ้นได้สร้างโอกาสทางการค้า โดยเฉพาะตลาดจีนตะวันตก ถือเป็นตลาด(ใหม่)ใหญ่ที่กำลังเติบโต ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ และมีการระบบการขนส่งโลจิสติกส์ที่ทันสมัยและเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ปัจจุบัน แม้ว่าประเทศจีนจะอนุญาตการนำเข้าจาก 6 ประเทศ แต่…คู่แข่งที่น่าจับตามอง คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “เวียดนาม” แม้ว่าในระบบศุลกากรจะพบว่า…แนวโน้มการนำเข้าลำไยเวียดนามของจีนจะมีแนวโน้มลดลง มีความเป็นไปได้ว่า… ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการนำเข้าลำไยเวียดนามหันไปใช้ช่องทางการค้าชายแดนของเขตฯ กว่างซีจ้วง (สิทธิประโยชน์สำหรับประเทศเพื่อนบ้านในการค้าชายแดน ช่วยให้สินค้าที่นำเข้ามีต้นทุนต่ำ) ซึ่งตัวเลขไม่ปรากฎในระบบของศุลกากร ซึ่งอาจเป็นตัวแปรที่ส่งกระทบต่อราคารับซื้อและนำเข้าลำไย ข้อมูล ณ มิถุนายน 2566 เวียดนามมีสวนลำไยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากศุลกากรจีน (GACC) จำนวนหลายร้อยแห่ง
อีกส่วนเป็นเพราะเวียดนามกำลังเบนเข็มไปทำตลาดญี่ปุ่นและอเมริกา โดยเวียดนามเปิดเผยความสำเร็จในการพัฒนากรรมวิธี cold treatment ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชในผลไม้ พร้อมกับการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือการฉายรังสี เพื่อรักษาลำไยส่งออกให้สดและปลอดภัย โดยเวียดนามมองว่าความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลำไยส่งออกของเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยไม่ควรนิ่งนอนใจ
นอกจากนี้ ยังมี “กัมพูชา” เป็นชาติล่าสุดที่ทางการจีนเพิ่งอนุญาตให้ส่งออกลำไยเข้าประเทศจีนได้ โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2565 สองชาติได้ลงนามข้อตกลงการส่งออกลำไย และในเดือนตุลาคม 2565 ลำไยเขมรล็อตแรกนำเข้าผ่านมณฑลกวางตุ้ง ข้อมูล 7 เดือนแรก ปี 2566 จีนนำเข้าลำไยจากกัมพูชาแล้ว 7,691 ตัน เพิ่มขึ้น 294% (YoY)
ข้อมูลจากศุลกากรจีน พบว่า ปี 2565 กัมพูชามีสวนลำไยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากศุลกากรจีนแล้ว 74 แห่ง และโรงคัดบรรจุอีก 8 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดไพลิน พระตะบอง และบันทายมีชัย ที่สำคัญ กัมพูชาก็สามารถผลิตลำไยได้ตลอดทั้งปีเช่นเดียวกับไทย เนื่องจากปี 2566 เป็นปีแรกของการส่งออกลำไยกัมพูชาไปจีน แนวโน้มการตลาดของลำไยเขมรอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดเจนมากนัก จึงถือว่าเป็น “คู่แข่ง” รายใหม่ของบนสังเวียนลำไย
ด้านลำไยท้องถิ่นจีน กล่าวได้ว่า… ลำไยกว่างซีดิ้นสู้สุดใจ หลายปีที่ผ่านมา เขตฯ กว่างซีจ้วงเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงพื้นที่เขตชนบท ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลำไย โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น การประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรกรรม (ดาวเทียมเป๋ยโต่ว เครื่องจักรทางการเกษตร เทคโนโลยี IoT การสำรวจระยะไกล) และการบุกเบิกช่องทางขนส่งลำไยด้วยรถไฟความเย็นไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญ (คลัสเตอร์ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง และเขตเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง) และเขตฯ กว่างซีได้ตั้งเป้าหมายในอนาคตว่าจะมุ่งเสริมสร้างการพัฒนาและดึงดูดนวัตกรรมเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมลำไย ยกระดับคุณภาพและผลผลิต รวมถึงการสร้างแบรนด์และการทำตลาดไปพร้อมๆ กันด้วย
อีกประเด็นที่น่าจับตามอง คือ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2565 ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ลำไย โดยทีมวิจัยของมหาวิทยลัย South China Agriculture University ได้เปิดตัวลำไยลูกผสมที่มีชื่อว่า “ชุ่ยมี่” (脆蜜 ในภาษาจีนหมายถึง กรอบหวานประหนึ่งน้ำผึ้ง) ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกของโลก โดย“ลำไยพันธุ์ชุ่ยมี่ SZ52” เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างแม่พันธุ์ลำไยสือเสีย และพ่อพันธุ์ลิ้นจี่จื่อเหนียงสี่ (Ziniangxi/紫娘喜) โดยคุณลักษณะเด่นของ “ชุ่ยมี่” คือ สุกช้า ผลโต เนื้อหนานุ่มและหวานกรอบ มีกลิ่นหอม เจริญเติบโตได้ดี ทนทานต่อสภาพอากาศหนาว และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
บีไอซี เห็นว่า ลำไยไทยยังมี ‘โอกาส’ ที่สดใสที่ตลาดจีน แต่โจทย์ที่สร้างความท้าทายให้กับลำไยไทยในตลาดจีน คือ เราจะ ‘ยืนหนึ่ง’ อย่างไรให้ยั่งยืน เพราะจากความเคลื่อนไหวที่บีไอซีได้นำเสนอข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า จีนเองหรือประเทศคู่แข่งของเราต่างไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาเพื่อสร้างแรงแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมเกษตรของตนเอง ซึ่งไทยเราควรตื่นตัว เรียนรู้ และปรับกระบวนทัศน์เพื่อรับมือกับแรงกระทบในอนาคต
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรชาวสวนต้องบูรณการความร่วมมือในการดำเนินงานเชิงรุก ส่งเสริมงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่โลจิสติกส์ อาทิ การปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ลำไย กระบวนการกำจัดแมลงศัตรูพืช การคัดบรรจุ และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่า (Value added) ให้กับตัวสินค้าแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์และค่านิยมของลำไย(ผลไม้ไทย)ที่มีคุณภาพและความสดใหม่ในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน
โดยเฉพาะเรื่องการรักษามาตรฐานด้านสุขอนามัยในกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพและความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (traceability) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเรื่องการตรวจพบแมลงศัตรูพืช (เพลี้ยแป้ง) และสารตกค้าง (ซัลเฟอร์) เกินปริมาณจนทำให้ทางการจีนต้องแบนด์ล้งส่งออกไทยหลายรายในปี 2564 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาลำไยและปริมาณลำไยล้นตลาดในประเทศได้
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถสร้างคุณค่าให้กับลำไยไทยด้วย “การแปรรูป” เป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปหรือสินค้าสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน พร้อมกับการนำกลยุทธ์ทรัพย์สินทางปัญญาที่เรียกว่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI มาเชื่อมโยงกับตัวสินค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าได้ และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างขวาง อย่างเช่น การนำ “ลำไยเบี้ยวเขี้ยวลำพูน” ที่ได้ขึ้นทะเบียน GI มาแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ทั้งนี้ ผู้บริโภคชาวจีนมีความตื่นตัวและรู้สึกอ่อนไหวมากขึ้นเรื่องการใช้สารปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์อาหาร หากเป็นสินค้า ‘ไร้สารแต่งกลิ่น ไร้สีผสมอาหาร ไร้สารกันบูด’ จะช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับ ‘ผลิตภัณฑ์ลำไยไทยแปรรูป’ ได้มากเช่นกัน
สำหรับผู้ส่งออกไทยที่กำลังวางแผนบุกตลาดจีนจำเป็นต้องศึกษาลู่ทาง ตลาดเป้าหมาย พฤติกรรมการบริโภค เลือกหาคู่ค้าที่เชื่อถือได้ หาโซลูชันที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการขนส่งสินค้าไปยังตลาดเป้าหมาย ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตนเอง เพื่อประโยชน์และความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ โดยผู้ส่งออกสามารถขอรับคำปรึกษาที่เกี่ยวข้องได้ที่สํานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์