เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566 สำนักงานโลจิสติกส์ท่าเรือ นครเฉิงตูจัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “การบริโภคของนครเฉิงตู นำไปสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางการบริโภคระหว่างประเทศ” โดยนายหลิว สู่กั๋ว รองผู้อำนวยการสำนักงานโลจิสติกส์ท่าเรือฯ ได้เปิดเผยแผนการพัฒนาการบริโภคไปสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางการบริโภคระหว่างประเทศ ดังนี้
เส้นทางการบินระหว่างประเทศ เน้นผลักดันการดำเนินงานรูปแบบบูรณาการของท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่ และท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิว ส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวของเส้นทางผู้โดยสารระหว่างประเทศและเพิ่มความถี่เที่ยวบิน ขยายการเข้าถึงศูนย์กลางทางการเมืองที่สำคัญทั่วโลก ศูนย์กลางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและโครงข่ายเส้นทางผู้โดยสารระหว่างประเทศเดินหน้าเป็นผู้นำในการส่งเสริมการฟื้นตัวของเส้นทางระหว่างทวีปที่สำคัญ รวมทั้งเปิดเส้นทางการบินใหม่ระยะสั้นของทวีปเอเชีย
เส้นทางรถไฟระหว่างประเทศ มีการขยายเส้นทาง ดังนี้ ภาคตะวันตกไปยังยุโรป ภาคเหนือขึ้นไปยังมองโกเลียและรัสเซีย ภาคตะวันออกไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้และภาคใต้ไปยังภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเส้นทางดังกล่าวได้เพิ่มประสิทธิภาพองค์กรการขนส่งระหว่างประเทศ เช่น รถไฟสายจีน-ยุโรป ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก รถไฟจีน-ลาว รถไฟจีน-เวียดนามและรถไฟจีน (เฉิงตู) -ยุโรป ให้เกิดการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การขนส่งทางรางเส้นทางระหว่างประเทศของนครเฉิงตูเปิดให้บริการมาแล้ว 10 ปี เชื่อมต่อกับ 105 เมืองในต่างประเทศและ 30 เมืองในจีน
การบริการหมุนเวียนเงินสด เน้นการบริการจัดหาเงินสดเพื่อการหมุนเวียนที่ดี โดยจะประชาสัมพันธ์ความรู้ทางการเงิน ควบคุมปริมาณการออกบัตรส่วนลดให้เพียงพอและสมเหตุสมผล เพิ่มความเข้มงวดในการกู้เงินหยวนที่ไม่เหมาะสมแก่การนำไปหมุนเวียนและการบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบัน นครเฉิงตูมีธนาคารที่มีบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกว่า 1,200 แห่ง มีตู้เอทีเอ็มและเครื่องแลกเปลี่ยนเงินตราเกือบ 5,000 ตู้ โดยมีบริการถอนเงินสดอัตโนมัติและแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้หลากหลายสกุลเงินตลอด 24 ชั่วโมง
การสร้างสภาพแวดล้อมการใช้บัตรธนาคาร เน้นคำนึงถึงพฤติกรรมการชำระเงินของชาวต่างชาติและมุ่งเน้นเสริมสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมการชำระเงินด้วยบัตรธนาคาร ปัจจุบันในนครเฉิงตูมีร้านค้าที่รองรับการชำระสินค้าด้วยบัตรธนาคารต่างประเทศเกือบ 7,000 แห่งเพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปลายปี 2565
การชำระเงินผ่านระบบมือถือและบริการหยวนดิจิทัล นับเป็นครั้งแรกที่มุ่งเน้นส่งเสริมการชำระเงินผ่านระบบมือถือสำหรับชาวต่างชาติ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบมือถือในประเทศจีน ในขณะเดียวกันนครเฉิงตูถือเป็นเมืองนำร่องสำหรับหยวนดิจิทัลชุดแรกในประเทศจีนอีกด้วย
การบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของชาวต่างชาติ ธนาคารเขตต่างๆ ในนครเฉิงตูได้มีการสร้างคู่มือทางการเงิน และได้สร้างแอพพลิเคชั่น ต้าอวิ้นทง (Dayuntong) ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ข่าวสาร อำนวยความสะดวก ตอบคำถามและให้คำปรึกษาด้านการเงินแก่ผู้ใช้งานอย่างทั่วถึง
ที่มาข้อมูล :
- เว็บไซต์ scjjrb.com (เข้าถึงเมื่อ 10 สิงหาคม 2566)