ที่มา: Global Times
ภาพรวม เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2566 สนง. สถิติแห่งชาติจีน (NBS) แถลงภาวะเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ว่า (1) เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในไตรมาสที่ 2/2566 และขยายตัวร้อยละ 5.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 (2) แม้ต่ำกว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ แต่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2/2566 เป็นระดับสูงสุดนับตั้งไตรมาสที่ 2/2564 รวมทั้งสูงกว่าไตรมาสที่ 1/2566 (ร้อยละ 4.5) ตลอดทั้งปี 2565 (ร้อยละ 3) และระดับเฉลี่ยในช่วง 3 ปีของสถานการณ์โควิด-19 (2563 – 2565) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.5 และ (3) มีปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของ ศก. จีน อาทิ การมีฐานตัวเลขที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การแสดงผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและการฟื้นตัวของภาคบริการ
การบริโภค ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าระดับไตรมาสที่ 1/2566 ที่ร้อยละ 5.8 โดยเฉพาะรายได้ของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 และยอดค้าปลีกสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 อย่างไรก็ดี ในเดือน มิ.ย. 2566 ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.1 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ และลดลงเป็นอย่างมากจากระดับของเดือน เม.ย. 2566 (ร้อยละ 18.4) และเดือน พ.ค. 2566 (ร้อยละ 12.7)
การลงทุน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การลงทุนสินทรัพย์ถาวรของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าระดับร้อยละ 4 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 โดย (1) การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ 7.9 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงมากขึ้น หากเทียบกับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 (ลดลงร้อยละ 7.2) และเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการลงทุนของจีนในภาพรวม (2) การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 และ (3) การลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 แม้เพิ่มขึ้นน้อยลงเทียบกับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 (ร้อยละ 7.5) แต่ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของการลงทุนของจีนในภาพรวม
ภาคอุตสาหกรรม ในเดือน มิ.ย. 2566 มูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์และเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 3.5 ในเดือน พ.ค. 2566 โดย (1) สาขาอุตสาหกรรม 26 สาขา (จากทั้งหมด 41 สาขา) มีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ การผลิตถ่านหิน รถยนต์ และคอมพิวเตอร์ (2) สินค้าอุตสาหกรรม 331 รายการ (จากทั้งหมด 620 รายการ) มีปริมาณการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเหล็กดิบ เหล็กกล้า รถยนต์ และโซล่าเซลล์ และ (3) อัตราการจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมอยู่ที่ร้อยละ 95.7 ซึ่งต่ำกว่าเดือน พ.ค. 2566 (ร้อยละ 96.6) นอกจากนี้ มูลค่าการส่งมอบสินค้าส่งออกของ บ. อุตสาหกรรมในจีนลดลงร้อยละ 9.5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาคการส่งออกของจีนยังคงมีแรงกดดันค่อนข้างสูง
การจ้างงาน อัตราเฉลี่ยการว่างงานในเขตเมืองของจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 และในไตรมาสที่ 2/2566 อยู่ที่ร้อยละ 5.3 และร้อยละ 5.2 โดยลดลงร้อยละ 0.2 และร้อยละ 0.3 จากไตรมาสที่ 1/2566 โดย (1) ในเดือน มิ.ย. 2566 อัตราการว่างงานในเขตเมืองของจีนอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับเดือน พ.ค. 2566 และเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2565 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 (2) ในเดือน มิ.ย. 2566 อัตราการว่างงานของวัยรุ่นจีน (อายุ 16 – 24 ปี) และวัยทำงาน (อายุ 25 – 59 ปี) อยู่ที่ร้อยละ 21.3 และร้อยละ 4.1 โดย สนข. Caixin ระบุว่า ในเดือน มิ.ย. 2566 วัยรุ่นจีนว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากเดือน พ.ค. 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่จีนเริ่มเปิดเผยตัวเลขดังกล่าว (ปี 2561) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และ (3) ในเดือน มิ.ย. 2566 อัตราการว่างงานของเมืองขนาดใหญ่
31 แห่งของจีนอยู่ที่ร้อยละ 5.5
* * * * * * * * * *
จัดทำโดย
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง
แหล่งข้อมูล:
1. 国新办举行2023年上半年国民经济运行情况新闻发布会
http://www.scio.gov.cn/xwfbh/xwbfbh/wqfbh/49421/50158/wz50160/Document/1744231/1744231.htm
2. China’s GDP expands 5.5% in H1 as economy continues recovery momentum
https://enapp.globaltimes.cn/article/1294500
3. 5月消费同比增速回落至12.7% 低于预期
https://economy.caixin.com/2023-06-15/102066127.html
4. 二季度GDP同比增长6.3% 略低于市场预期
https://economy.caixin.com/2023-07-17/102076351.html
5. 6月工业增加值同比增长4.4% 高于市场预期
https://economy.caixin.com/2023-07-17/102076427.html
6. 国新办举行2023年上半年国民经济运行情况新闻发布会
http://www.scio.gov.cn/xwfbh/xwbfbh/wqfbh/49421/50158/wz50160/Document/1744231/1744231.htm