• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • มิติใหม่ของ ‘ศุลกากรอัจฉริยะ’ ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สินแร่นำเข้าของกว่างซี

มิติใหม่ของ ‘ศุลกากรอัจฉริยะ’ ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สินแร่นำเข้าของกว่างซี

สินแร่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ลำดับต้นๆ ที่ประเทศจีนมีความต้องการนำเข้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแร่เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม แมงกานีส สังกะสี และนิเกิลซึ่งนอกจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนถือเป็นแหล่งนำเข้าสินแร่ที่สำคัญของประเทศจีน โดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย เมียนมา มาเลเซีย สปป.ลาว เวียดนาม รวมถึงประเทศไทยด้วย

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การนำเข้า-ส่งออกผลิตภัณฑ์แร่ระหว่างอาเซียน-จีนยังคงมีแนวโน้มเชิงบวกที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะหลังจากข้อตกลง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นหนึ่งใน‘ประตูหน้าด่าน ของการนำเข้าสินแร่ของประเทศจีน โดยสินแร่หลายชนิดที่เขตฯ กว่างซีจ้วงนำเข้ามีสัดส่วนมากกว่า 30% ของทั้งจีน

ข้อมูล 5 เดือนแรก ปี 2566 การนำเข้าสินแร่โลหะของเขตฯ กว่างซีจ้วงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องมีมูลค่านำเข้า 33,860 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 17.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็น 24% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด โดยเฉพาะสินแร่ทองแดง (17,110 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 23.1%)สินแร่เหล็ก (11,270 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 12.1%) และแร่แมงกานีส (เพิ่มขึ้น 30.7%)

ทั้งนี้ การนำเข้าสินแร่ต่างๆ ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าผ่านด่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพรองรับสินค้าโภคภัณฑ์ในทะเลอ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ยโดยพิธีการศุลกากรนำเข้า

สินแร่มีหลายขั้นตอน อาทิ การตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีการคัดแยกสิ่งปลอมปนทางกายภาพการสุ่มตัวอย่าง การชั่งน้ำหนัก และการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ซึ่งต้องใช้เวลาราว 10 วัน

นายหวงไห่เซิ่ง(Huang Haisheng/黄海胜) รองหัวหน้าฝ่ายควบคุมตรวจสอบสินค้าของศุลกากรหนานหนิง เผยข้อมูลว่า ที่ผ่านมาการดำเนินงานตรวจสอบสินค้าโดยทั่วไปจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการสุ่มเก็บตัวอย่างซึ่งไม่สามารถตอบสนองต่อปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนอกจากนี้ ยังมีภัยเสี่ยงต่อสุขภาพจากสารพิษในตัวสินแร่และสิ่งปลอมปนทางกายภาพที่มากับสินแร่

ในการนี้ ศุลกากรหนานหนิง (ดูแลด่านสากลทั่วเขตฯ กว่างซีจ้วง) ได้พัฒนาโซลูชันของการตรวจสอบสินค้าโภคภัณฑ์นำเข้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาและยกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สินแร่นำเข้าให้เกิดความรวดเร็ว ปลอดภัย และได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีมาตรฐาน เป็นระบบ กระบวนการโปร่งใส และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกทั้ง ช่วยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดในเรื่องการเชื่อมโยงและเข้าถึงข้อมูลในกระบวนการตรวจสอบและโลจิสติกส์

โดยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานควบคุมตรวจสอบสินค้าผ่านจอมอนิเตอร์ในห้องควบคุมอัจฉริยะได้ตลอดเวลา ขณะที่การตรวจสอบหน้างานได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบอัจฉริยะที่สามารถทำงานอัตโนมัติผ่านระบบออนไลน์ เป็นการบูรณาการทำงานของระบบเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต คลาวด์คอมพิวติ้ง บิ๊กดาต้า การรับรู้ด้วยระบบดิจิทัล การวิเคราะห์ด้วยระบบอัจฉริยะ การปฏิบัติการด้วยระบบอัตโนมัติ

นอกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้วศุลกากรหนานหนิงยังได้นำอุปกรณ์ที่ล้ำสมัยมาใช้ด้วย อย่างเครื่องตรวจวัดรังสี เครื่องชั่งแบบสายพานลำเลียงแบบอัตโนมัติ (ช่วยผู้รับสินค้าป้องกันปัญหาสินแร่น้ำหนักขาด) อุปกรณ์สุ่มตัวอย่างแบบอัตโนมัติ เครื่องตรวจคัดแยกสิ่งปลอมปนทางภาพแบบออนไลน์ รวมถึงการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อัจฉริยะอื่นๆ อาทิ แว่นตาAR โดรน หุ่นยนต์ลาดตระเวนอัจฉริยะ (มีฟังก์ชันการถ่ายภาพรังสี)ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถสั่งการให้อุปกรณ์ทำการตรวจสอบสินค้าในระหว่างการขนถ่ายสินค้าได้แบบครบจบในขั้นตอนเดียวหากคำนวณจากปริมาณการนำเข้าแร่ 15 ล้านตัน จะช่วยผู้นำเข้าประหยัดเงินทุนได้ 50 ล้านหยวน

ทั้งนี้ หากสินค้าไม่พบความผิดปกติ ก็สามารถผ่านเคลียร์สินค้าออกได้ทันที ช่วยลดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับผู้นำเข้า

ท้ายสุด เป็นเรื่องของมาตรการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้นำเข้าอาทิ มาตรการ ‘Two pieces of access’คือ การอนุญาตให้เข้าประเทศ และการอนุญาตให้เข้าสู่ตลาด  และมาตรการ ‘Fit to importer’อย่างในกรณีของแร่เหล็กที่มีใบรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่สาม (third party)แล้ว ผู้นำเข้าไม่จำเป็นต้องยื่นความประสงค์ต่อศุลกากรเพื่อดำเนินการตรวจสอบเพื่อขอใบรับรองคุณภาพสินค้าโดยสินค้าจะได้รับการตรวจปล่อยทันทีที่ผ่านการตรวจกักกันโรค(นั่นหมายความว่า การมีใบรับรองจาก third party ช่วยให้ผู้นำเข้าสามารถประหยัดเวลาจากสินค้าที่ต้องค้างท่าเพื่อรอการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพสินค้าจากศุลกากร)

มาตรการ ‘ปล่อยก่อน ตรวจทีหลัง’ซึ่งสามารถใช้กับแร่เหล็ก แมงกานีส โครเมียม ตะกั่วและหัวแร่ตะกั่ว สังกะสีและหัวแร่สังกะสีกล่าวคือ หลังจากแร่นำเข้าผ่านการตรวจกักกันโรคที่หน้างานแล้วสามารถลำเลียงสินค้าออกจากเขตอารักขาศุลกากรโดยศุลกากรจะนำตัวอย่างสินค้าไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติและออกใบรับรองคุณภาพสินค้าในภายหลังซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนเวลา (ร่นเวลาการผ่านพิธีการศุลกากรลงได้ 6-10 วัน) และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้(สินค้าไม่จำต้องเป็นค้างท่าเพื่อรอผลตรวจสินค้า ซึ่งการค้างท่าจะ Demurrage charge เกิดขึ้น) ซึ่งมาตรการที่กล่าวมาข้างต้น สามารถประหยัดต้นทุนได้ตันละ 45 หยวน ภาคธุรกิจสามารถประหยัดต้นทุนได้มากกว่าปีละ 200 ล้านหยวน

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลายปีมานี้ ศุลกากรหนานหนิงได้เร่งปรับปรุงพัฒนาและยกระดับมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าที่มีคุณภาพให้กับผู้ค้า และดึงดูดให้ผู้ค้าหันมาใช้ประโยชน์จากด่านที่ตั้งอยู่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง จึงเป็น ‘โอกาส’ ที่ผู้ประกอบการไทยจะศึกษาพิจารณาและใช้ประโยชน์จากที่ตั้งของเขตฯ กว่างซีจ้วงและด่านในกว่างซีเพื่อการทำการค้ากับจีนให้เพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน

 

 

จัดทำโดย นางสาวฉินยวี่อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนณนครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนณนครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 19 และ 25 มิถุนายน 2566
เว็บไซต์
http://nanning.customs.gov.cn (中华人民共和国南宁海关) วันที่21มิถุนายน 2566
        หนังสือนิตยสาร China Customs กรกฎาคม 2565
ภาพประกอบ chinanews

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]