นครหนานหนิงตั้งเป้าหมายเร่งผลักดันการพัฒนาเป็น ‘ศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศของภูมิภาคที่มุ่งสู่อาเซียน’ โดยจะเร่งดึงดูดให้ผู้ให้บริการขนส่ง (courier) รายสำคัญเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter) ที่มุ่งสู่อาเซียนที่นครหนานหนิง
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างจีน-อาเซียนที่มีความใกล้ชิดและทวีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงนับเป็น ‘ผู้เล่น’ ตัวสำคัญ ในบทบาทของการเป็น Gateway to ASEAN ของจีน ตลอดหลายสิบปีมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงได้ทำหน้าที่ส่งเสริมกระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติกับชาติสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะการค้าสินค้า ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงการพัฒนางาน/ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์กับอาเซียนด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ออกประกาศ “ภารกิจสำคัญประจำปี 2566 ว่าด้วยการกระตุ้นการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงในธุรกิจขนส่งและไปรษณีย์ของเขตฯ กว่างซีจ้วง” โดยสาระสำคัญระบุถึงการผลักดันการวางแผนและก่อสร้างสวนโลจิสติกส์สำหรับธุรกิจขนส่งพัสดุ (Express Logistics Park) ที่มีฟังก์ชันครบครันและมีบทบาทในการขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่โดยรอบ และสามารถเชื่อมโยงระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์เชิงบูรณาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับศักยภาพของธุรกิจในการให้บริการ Cross-border e-Commerce หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า CBEC ให้ก้าวขึ้นอีกระดับ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการสวนอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานอัจฉริยะอาเซียน(หนานหนิง) ของบริษัทขนส่งรายใหญ่อย่าง ZTO (中通快递集团) และศูนย์คัดแยกพัสดุของท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง
ในประกาศฯ ยังระบุถึงการเชื่อมต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกระหว่างสถานีรถ ท่าเรือ สนามบิน รถขนส่งพัสดุ และโรงคัดแยกพัสดุ การขนส่งพัสดุระยะกลาง-ไกลด้วยรถไฟความเร็วสูงและรถไฟด่วน และการสนับสนุนให้ธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกับธุรกิจขนส่งพัสดุพัฒนาความร่วมมือด้านงานขนส่ง รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจขนส่งพัสดุ โดยเฉพาะคลังสินค้าไร้แรงงานมนุษย์และเทคโนโลยีการคัดแยกพัสดุแบบอัจฉริยะ เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านงานขนส่งระหว่างประเทศของธุรกิจรับ-ส่งพัสดุสินค้า
นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้ธุรกิจต่างถิ่นเข้ามาพัฒนาธุรกิจขนส่งพัสดุระหว่างประเทศที่เขตฯ กว่างซีจ้วง ผลักดันการแชร์ข้อมูล (Information and Data) ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศุลกากร พาณิชย์ ตำรวจ และไปรษณีย์ การผลักดันระบบการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร (แบบทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง และการทำงานกะพิเศษ) เพื่อช่วยภาคธุรกิจลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ทั้งนี้ คาดหมายว่า ปี 2566 เขตฯ กว่างซีจ้วงจะมีปริมาณการขนส่งพัสดุแตะ 1,700 ชิ้น ผลประกอบการในธุรกิจดังกล่าวมากกว่า 19,000 ล้านหยวน
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา นครหนานหนิงได้พยายามพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ไว้รองรับธุรกิจ CBEC อย่างต่อเนื่อง อาทิ สวนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจีน(หนานหนิง)-สิงคโปร์ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า CSILP ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง นครหนานหนิง ซึ่งภายในมีพื้นที่ฟังก์ชั่นที่เรียกว่า สวนอัจฉริยะสินค้าทัณฑ์บนสิงคโปร์-จีนไว้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ทำงานด้วยระบบอัจฉริยะแบบครบวงจร และธุรกิจ Cross-border e-Commerce ด้วย
และล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ได้เปิดใช้งาน “ศูนย์คัดแยกอัตโนมัติ” ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัท China Railway Nanning Group Co., Ltd. กับบริษัท SF Express ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในวงการขนส่งสินค้าและพัสดุ (courier) ของจีน ตั้งอยู่ในภายในพื้นที่ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง ถือเป็นศูนย์คัดแยกอัตโนมัติมุ่งสู่อาเซียนที่มีความทันสมัยและมีขนาดใหญ่ที่สุดของกว่างซี มีพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 1.5 แสน ตร.ม. มีมูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านหยวน มีศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ปีละ 1 ล้านตัน
การเติบโตของ CBEC เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้การขนส่งสินค้าและพัสดุทางอากาศระหว่างประเทศของเขตฯ กว่างซีจ้วงเติบโตตามไปด้วย โดยเฉพาะ CBEC กับชาติสมาชิกอาเซียน โดยปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีเส้นทางขนส่งสินค้าและพัสดุระหว่างประเทศ (Air Cargo) ไปยังชาติสมาชิก RCEP แล้ว 7 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย (อีก 6 ชาติ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเมียนมา)
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสการเติบโตของ CBEC ความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยต่อธุรกิจขนส่ง และช่องทางการขนส่งที่หลากหลายของเขตฯ กว่างซีจ้วง ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ทางบก และทางทะเล ในการขนส่งสินค้าและพัสดุเพื่อกระจายต่อไปยังพื้นที่อื่นในประเทศจีนได้
ดังนั้น ภาคธุรกิจไทยที่กำลังมองหาพื้นที่การค้าลงทุนใหม่ในจีน เชื่อว่า ‘นครหนานหนิง’ เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเจาะตลาดจีน(ตะวันตก) ซึ่งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีพลวัตสูง
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 01 กรกฎาคม 2566
เว็บไซต์ http://jtt.gxzf.gov.cn (广西交通运输厅) วันที่ 29 มิถุนายน 2566