• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • โอกาสของธุรกิจประมงไทย เมื่อเมืองฝางเฉิงก่างสร้าง “ศูนย์ซื้อขายและแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลจีน-อาเซียน” – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

โอกาสของธุรกิจประมงไทย เมื่อเมืองฝางเฉิงก่างสร้าง “ศูนย์ซื้อขายและแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลจีน-อาเซียน” – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • รัฐบาลกลางอนุมัติให้พื้นที่ “เขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงเมืองฝางเฉิงก่าง” ของกว่างซี เป็น 1 ใน 15 จุดทดลองเขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงเลียบชายฝั่งทะเลระดับชาติ โดยเมืองฝางเฉิงก่างได้กำหนดเป้าหมายว่าจะพัฒนาให้เขตเศรษฐกิจแห่งนี้เป็น “ฐานการแปรรูปและห่วงโซ่ความเย็นสำหรับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน” เป็น“ต้นแบบของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงของประเทศจีน” และ และเป็น “ศูนย์การซื้อขายและแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำระดับนานาชาติจีน-อาเซียน”
  • แนวคิดการพัฒนา “เขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงเมืองฝางเฉิงก่าง” คือ การใช้โอกาสจากศักยภาพของภูมิศาสตร์ที่ตั้งเลียบชายฝั่งทะเลและเลียบพรมแดน กระชับความร่วมมือด้านการประมงกับประเทศสมาชิกอาเซียน ส่งเสริมการพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในพื้นที่ สร้างความเป็นที่รู้จักด้านการพัฒนาความร่วมมือในอุตสาหกรรมประมงกับอาเซียน
  • ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำรายสำคัญประเทศหนึ่งของโลก โดยไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและมีจุดแข็งด้านกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับสากล ขณะที่ประเทศจีนเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก และเมืองฝางเฉิงก่างกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมประมง จึงเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมประมงและสัตว์น้ำของไทยจะใช้จุดแข็งดังกล่าวในการพัฒนาการค้าและการลงทุนกับเมืองฝางเฉิงก่าง (และอำเภอระดับเมืองตงซิง) ของกว่างซีได้

 

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานเกษตรและชนบทเมืองฝางเฉิงก่างเปิดเผยว่า รัฐบาลกลางอนุมัติให้พื้นที่ “เขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงเมืองฝางเฉิงก่าง” เป็น 1 ใน 15 จุดทดลองเขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงเลียบชายฝั่งทะเลระดับชาติ

รู้จัก “เมืองฝางเฉิงก่าง” (Fangchenggang City/防城港市) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นเมืองที่ตั้งอยู่สุดเส้นแนวชายฝั่งทะเลของประเทศจีน เป็นเมืองท่าสำคัญที่มีการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ (bulk) เป็นหลัก เมืองฝางเฉิงก่างกำกับดูแลอำเภอระดับเมืองตงซิง ซึ่งมีพรมแดนติดกับเมือง Mongcai จังหวัด Quang ninh ของเวียดนาม และเป็นตั้งของด่านสากลตงซิง ซึ่งเป็นด่านนำเข้าผลไม้ไทยด้วย

เขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงเมืองฝางเฉิงก่าง (防城港市渔港经济区) ครอบคลุมพื้นที่ท่าเรือประมงสำคัญหลายแห่งในเมืองฝางเฉิงก่าง โดยวางแผนจะพัฒนาใน 5 ด้าน คือ ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม การซื้อขายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น การแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และการท่องเที่ยวผสมผสานประมงสัตว์น้ำ

ทั้งนี้ เมืองฝางเฉิงก่างได้กำหนดเป้าหมายว่าจะพัฒนาให้เขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงเมืองฝางเฉิงก่างเป็น “ฐานการแปรรูปและห่วงโซ่ความเย็นสำหรับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน” เป็น“ต้นแบบของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงของประเทศจีน” และ และเป็น “ศูนย์การซื้อขายและแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำระดับนานาชาติจีน-อาเซียน”

แนวคิดการพัฒนา “เขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงเมืองฝางเฉิงก่าง” คือ การใช้โอกาสจากศักยภาพของภูมิศาสตตร์ที่ตั้งเลียบชายฝั่งทะเลและเลียบพรมแดน กระชับความร่วมมือด้านการประมงกับประเทศสมาชิกอาเซียน ส่งเสริมการพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในพื้นที่ สร้างความเป็นที่รู้จักด้านการพัฒนาความร่วมมือในอุตสาหกรรมประมงกับอาเซียน และพัฒนาฟังก์ชันให้มีความครบวงจร ทั้งการเป็นท่าเรือที่เรือประมงใช้แวะหลบภัยธรรมชาติหรือขนถ่าย เติมน้ำมัน การซื้อขายสินค้าประมง การขนส่งและโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น ยาทางทะเล (marine drugs) รวมถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อน

เขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงเมืองฝางเฉิงก่าง ประกอบด้วย 3 ท่าเรือ

  • ท่าเรือประมงฉี่ซา (企沙中心渔港) เป็นท่าเรือหลัก มีเนื้อที่ราว 18,750 ไร่ มุ่งเน้นการทำประมงทะเลนอกชายฝั่ง การขนส่งสินค้าประมงขึ้นท่า การแปรรูปเชิงลึก การขนส่งและโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น การค้าสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยววิถีประมง โดยจะส่งเสริมให้มีการนำผลผลิตจากการทำประมงในประเทศสมาชิกอาเซียนมาขึ้นท่าและแปรรูป
  • ท่าเรือประมงซวงตุน (双墩渔港) มีเนื้อที่ราว 1,749 ไร่ มุ่งเน้นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนอกชายฝั่ง การทำฟาร์มในทะเล การเพาะเลี้ยง ซื้อขาย และแปรรูปไข่มุก และการท่องเที่ยววิถีประมง
  • ท่าเรือเทียนเอ๋อก่าง (天鹅湾渔港) ในอำเภอระดับเมืองตงซิง มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทางทะเลของชนชาติจิง ผสมผสานกับการทำประมงเชิงพาณิชย์และการประมงเชิงท่องเที่ยว

ปี 2564 เมืองฝางเฉิงก่างมีมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมประมง 8,100 ล้านหยวน ปริมาณผลผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ 5.5 แสนตัน มูลค่ารวมการผลิตในอุตสาหกรรมการประมง 17,800 ล้านหยวน ในจำนวนนี้ เป็นมูลค่าการผลิตของเขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงเมืองฝางเฉิงก่าง 17,000 ล้านหยวน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 95.51%

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลายปีมานี้ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทะเล เป็นหนึ่งในสินค้านำเข้าสำคัญของเมืองฝางเฉิงก่าง โดยเฉพาะเมืองที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างอำเภอระดับเมืองตงซิง มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ(จากเวียดนาม)เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปลาดาบ ปลาเผาะ กุ้ง และปลาหมึก เพื่อนำมาแปรรูปในโรงงานท้องถิ่นหรือส่งกระจายต่อไปยังพื้นที่อื่นในประเทศจีน

ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำรายสำคัญประเทศหนึ่งของโลก โดยไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและมีจุดแข็งด้านกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับสากล และประเทศจีนเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก และเมืองฝางเฉิงก่างกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมประมง จึงเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมประมงและสัตว์น้ำของไทยจะใช้จุดแข็งดังกล่าวในการพัฒนาการค้าและการลงทุนกับเมืองฝางเฉิงก่าง (และอำเภอระดับเมืองตงซิง) ของกว่างซีได้

ที่สำคัญ เมืองตงซิง ยังเป็น “จุดทดลองการนำเข้าสินค้าจากอาเซียนในรูปแบบการค้าชายแดนด้วยการขนส่งทางทะเล” กล่าวคือ คำนิยามของ “การค้าชายแดน” หมายถึง การค้ากับประเทศที่มีพรมแดนติดกัน แต่นโยบายดังกล่าวเปิดโอกาสให้เมืองชายแดนตงซิง สามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศที่สาม (ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าของประเทศเพื่อนบ้าน) โดยใช้การขนส่งทางเรือ (ไม่จำเป็นต้องเป็นการขนส่งผ่านทางชายแดน) โดยถือว่าสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าชายแดน (ไม่ใช่การค้าสากล) ซึ่งได้สิทธิประโยชน์จากภาษีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

นโยบายดังกล่าวเปรียบเสมืองกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยเปิดประตูการค้าให้กับผู้ส่งออกและสินค้าประมงไทย โดยสินค้าจะต้องขายให้กับบริษัทหรือชาวชายแดนในเมืองตงซิง กระบวนการส่งออกสินค้าด้วยเรือไปที่ท่าเรือ(ฝางเฉิงก่าง) และลากตู้สินค้าไปในเขตพื้นที่จุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดนในอำเภอระดับเมืองตงซิง เพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรประเภทสินค้าชายแดน ก่อนที่จะนำออกจากพื้นที่จุดผ่อนปรนฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูป หรือกระจายสินค้าต่อไป

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 19 มีนาคม 2565
เว็บไซต์
https://view.inews.qq.com (冻品攻略) วันที่ 13 สิงหาคม 2564

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]