ไฮไลท์
- เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เบิกฤกษ์เส้นทางขนส่งสินค้าด้วยรถไฟข้ามประเทศเส้นทางใหม่ “นครหนานหนิง- ด่านรถไฟโม่ฮาน – เวียงจันทน์ (สปป.ลาว)” ซึ่งถือเป็นอีก “ทางเลือก” ของการขนส่งสินค้าทางรถไฟเพิ่มเติมจากการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟเส้นทาง “นครหนานหนิง – ด่านรถไฟผิงเสียง – กรุงฮานอย (เวียดนาม)”
- เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าดังกล่าวช่วยให้ผู้ค้าได้รับประโยชน์ในการเคลื่อนย้ายสินค้า สามารถขนส่งต่อเที่ยวได้ในปริมาณมาก ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ลดความเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่ง และร่นเวลาการขนส่งเหลือเพียง 3 วันเท่านั้น
- เส้นทางรถไฟข้ามประเทศเส้นทางใหม่ “นครหนานหนิง- ด่านรถไฟโม่ฮาน – เวียงจันทน์ (สปป.ลาว)” เป็นอีก “ทางเลือก” ของผู้ส่งออกไทยในการลำเลียงสินค้าด้วยรถไฟไปเจาะตลาดจีน(กว่างซี) อีกทั้ง ยังเป็นการ “เติมเต็ม” ประสิทธิภาพให้กับเส้นทางขนส่งทางรถไฟดังกล่าวด้วย ในแง่ของการมีสินค้า “ขากลับ” ไปยังจีน(กว่างซี)
- ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยสามารถพิจารณาใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น (1) การขนถ่ายสินค้าด้วยรถไฟระหว่างประเทศเชื่อมกับโครงการรถไฟในจีน (2) การขนถ่ายสินค้าระหว่างรถไฟกับรถบรรทุก และ (3) การเชื่อมโครงข่ายรถไฟ China- Europe Railway เพื่อลำเลียงสินค้าไปเจาะตลาดเอเชียกลาง และยุโรปได้ด้วย
มิติใหม่ของการขนส่งสินค้าทาง “รถไฟ” ระหว่างจีน(เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง)-สปป.ลาว หลังจากเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564 ได้พัฒนารูปแบบการขนส่ง “รถไฟ+รถบรรทุก” ในเส้นทางจีน(กว่างซี) – เวียดนาม – สปป.ลาว ในการลำเลียงสินค้าที่ใช้ทางการเกษตร (ปุ๋ยเคมี เครื่องจักรทางการเกษตร) ด้วยรถไฟจากนครหนานหนิง และไปถ่ายตู้ขึ้นรถบรรทุกในเวียดนาม ก่อนจะวิ่งไปยังปลายทางใน สปป.ลาว ระยะทาง 1,300 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 เวลา 11:00 น. ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ในเส้นทาง “นครหนานหนิง-เวียงจันทน์” ได้เคลื่อนตัวออกจากท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง (Nanning international railway port/南宁国际铁路港) ผ่านด่านรถไฟโม่ฮาน มณฑลยูนนาน โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว
แหล่งที่มา : Globalink
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 ผู้ส่งออกในอำเภอระดับเมืองผิงกั่ว เมืองไป่เซ่อของกว่างซี (เมืองชายขอบติดกับมณฑลยูนนาน) ได้ใช้บริการรถไฟดังกล่าวเพื่อส่งออก polyferric sulfate ไปยังเวียงจันทน์ สปป.ลาว เป็นครั้งแรก (สถานีน่าหลี่ เมืองไป่เซ่อ – ด่านโม่ฮาน – เวียงจันทน์)
เดิมที การขนส่งสินค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับ สปป.ลาว จะใช้การขนส่งทางเรือ (ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ หรืออ่าวตังเกี๋ย) ผ่านประเทศเวียดนาม หรือประเทศไทย ก่อนจะลากตู้สินค้าไปยัง สปป.ลาว ซึ่งรูปแบบการขนส่ง(อ้อม)ดังกล่าวต้องใช้เวลานานค่อนข้างนาน (ราว 10-15 วัน) ขณะที่ทางรถบรรทุก (ผ่านถนนอาร์ 8 อาร์ 9 และอาร์ 12) แม้จะใช้เวลาสั้นเพียง 1-2 วัน แต่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก อาทิ ประเภทสินค้าที่เหมาะกับการขนส่งทางถนน สภาพอากาศ และสภาพการจราจรที่แออัดโดยเฉพาะบริเวณด่านพรมแดน
การเปิดเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าดังกล่าวช่วยให้ผู้ค้าได้รับประโยชน์ในการเคลื่อนย้ายสินค้า สามารถขนส่งต่อเที่ยวได้ในปริมาณมาก ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ลดความเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่ง และร่นเวลาการขนส่งเหลือเพียง 3 วันเท่านั้น (ประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางเรือได้อย่างน้อย 10 วัน)
นายเฉียน เฟิง (Qian Febg/钱峰) ผู้จัดการใหญ่บริษัท SINOTRANS สาขากว่างซี (中外运广西有限公司) ให้ข้อมูลว่า สินค้าส่งออกที่ไปกับขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์นี้เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตในท้องถิ่น (อาทิ สารชะล้างโลหะ) การเปิดเส้นทางขนส่งทางรถไฟดังกล่าวช่วยวางรากฐานด้านการขนส่งที่มีความสะดวกรวดเร็วให้กับสินค้ากว่างซีในการเจาะตลาด สปป.ลาว และได้รับความสนใจอย่างมากจากลูกค้าที่กำลังมองตลาด สปป.ลาว อีกทั้ง แป้งสตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง ยางพารา และสินค้าเกษตรอื่นๆ ของ สปป.ลาว ก็สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟดังกล่าวในการขยายตลาดสินค้าในกว่างซีได้เช่นกัน ทั้งนี้ ทุกฝ่ายกำลังร่วมกันผลักดันให้เส้นทางรถไฟดังกล่าวเป็นเที่ยวประจำโดยเร็ว
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน การทำการค้าระหว่างประเทศของกว่างซี ถือได้ว่า “รถไฟ” เป็นเครื่องมือสำคัญในการลำเลียงสินค้า โดยนอกจากโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีแล้ว การขนส่งสินค้าด้วยขบวนรถไฟระหว่างประเทศก็เริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนามผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” ของกว่างซี
Tips กระบวนการขนส่งสินค้าไทยไปจีนด้วยขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม (ขาขึ้น) จะเป็นโมเดลการขนส่ง “รถ+ราง” โดยรถบรรทุกจากภาคอีสานไทย และเปลี่ยนถ่ายขึ้นรถไฟที่สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย เพื่อลำเลียงผ่านด่านรถไฟผิงเสียงไปที่นครหนานหนิง และใช้ประโยชน์จากโครงข่ายรถไฟในการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นของประเทศจีน แต่สำหรับการขนส่ง “ผลไม้ไทย” รถบรรทุกจากภาคอีสานไทย ผ่านกรุงฮานอยไปที่จังหวัดล่างเซิน (Lang Son) เพื่อเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าขึ้นรถไฟที่สถานีด่งดัง (Dong Dang) ก่อนจะวิ่งเข้าสู่ด่านรถไฟผิงเสียง และกระจายต่อไปยังพื้นที่ในประเทศจีน
บีไอซี เห็นว่า เส้นทางรถไฟข้ามประเทศเส้นทางใหม่ “นครหนานหนิง – ด่านรถไฟโม่ฮาน – เวียงจันทน์ (สปป.ลาว)” เป็นอีก “ทางเลือก” ของผู้ส่งออกไทยในการลำเลียงสินค้าด้วยรถไฟไปเจาะตลาดจีน(กว่างซี) อีกทั้ง ยังเป็นการ “เติมเต็ม” ประสิทธิภาพให้กับเส้นทางขนส่งทางรถไฟดังกล่าวด้วย ในแง่ของการมีสินค้า “ขากลับ” ไปยังจีน(กว่างซี)
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยสามารถพิจารณาใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น (1) การขนถ่ายสินค้าด้วยรถไฟระหว่างประเทศเชื่อมกับโครงการรถไฟในจีน (2) การขนถ่ายสินค้าระหว่างรถไฟกับรถบรรทุก และ (3) การเชื่อมโครงข่ายรถไฟ China- Europe Railway เพื่อลำเลียงสินค้าไปเจาะตลาดเอเชียกลาง และยุโรปได้ด้วย
จัดทำโดย : นางสาวเนตรนภา บุญมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนาหนิง
เรียบเรียงโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนาหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (广西新闻网) วันที่ 02 และ 14 เมษายน 2565
เว็บไซต์ www.xinhuanet.com (新华网) วันที่ 03 เมษายน 2565
เว็บไซต์ http://web.app.workercn.cn (工人日报社) วันที่ 02 เมษายน 256