ส่องเทคโนโลยีอัจฉริยะของนครเฉิงตูในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง

 

รายงานผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านเทคโลโลยีของสถาบันยุทธศาสตร์การเงินและเศรษฐกิจ สถาบันสังคมศาสตร์จีน ระบุว่า นครเฉิงตูมีความสามารถทางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคจีนตะวันตก ที่ผ่านมา นครเฉิงตูได้มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปพร้อม ๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และล่าสุด ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง (ระหว่างวันที่ 4-20 กุมภาพันธ์ 2565) โดยนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีอัจฉริยะสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวคิด “โอลิมิปิกสีเขียว แบ่งปัน เปิดกว้าง และใสสะอาด”

ตัวอย่างสำคัญที่วิสาหกิจของนครเฉิงตูได้นำเอาเทคโนโลยีอัจฉริยะสนับสนุนงานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง โดยเฉพาะในหมู่บ้านนักกีฬาและสถานที่จัดการแข่งขัน จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น “โอลิมปิกสีเขียว” ดังนี้

 

กระจกผลิตไฟฟ้าแคดเมียมเทลลูไรด์ : เทคโนโลยีแห่งอนาคต

กระจกผลิตไฟฟ้าแคดเมียมเทลลูไรด์ คือกระจกที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตไฟฟ้าได้เช่นเดียวกับโซล่าเซลล์ แต่มีข้อได้เปรียบกว่าตรงที่จะมีความใสกว่า สามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของอาคาร เช่น ติดที่ผนังภายนอกของอาคาร หรือใช้เป็นกระจกหน้าต่าง โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งที่หลังคาเหมือนกับโซล่าเซลล์

บริษัท Chengdu CNBM Optoelectronic Materials Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระจกผลิตไฟฟ้าแคดเมียมเทลลูไรด์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้ติดตั้งโครงการกระจกผลิตไฟฟ้าแคดเมียมเทลลูไรด์ที่สามารถผลิตพลังงานสีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีกำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ ในหมู่บ้านนักกีฬาและสนามจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ถือเป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สูงกว่าร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับกระจกผลิตพลังงานไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ

 

ไฟถนนอัจฉริยะที่เชื่อมโยงกับระบบสื่อสาร 5G

บริษัท Sichuan Huati Lighting Technology Co., Ltd. ได้ติดตั้งไฟถนนอัจฉริยะจำนวน 2,539 ต้นบริเวณริมถนนทั่วทั้งหมู่บ้านนักกีฬา นอกจากจะให้แสงสว่างบริเวณถนนแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบสื่อสารและอุปกรณ์เทคโนโลยี 5G ต่าง ๆ ประกอบด้วยกล้องวงจรปิด อุปกรณ์ควบคุมการประหยัดพลังงานไฟถนน ป้ายจราจร สัญญาณไฟจราจร ระบบ WiFi จอแสดงข้อมูล แท่นชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ การผลิตไฟฟ้าและอุปกรณ์อัจฉริยะอื่น ๆ อีกมากมาย

ปัจจุบัน ไฟถนนอัจฉริยะได้ถูกนำไปใช้งานในเขตสยงอัน เมืองเซินเจิ้น นครอู่ฮั่น นครฉางชา นครเฉิงตู เมืองจางเจียโข่ว และเมืองอื่น ๆ ในจีนอย่างแพร่หลายอีกด้วย

 

รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน

รถ COASTER พลังงานไฮโดรเจนที่ผลิตโดย Sichuan FAW Toyota Motor Co., Ltd. ในนครเฉิงตู ได้ถูกนำไปให้บริการในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว มีความจุไฮโดรเจน 8 กิโลกรัม สามารถวิ่งได้ระยะทาง 600 กิโลเมตร นับเป็นการสร้างระบบคมนาคมขนส่งที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

ทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทยและจีนล้วนมีเป้าหมายที่จะผลักดันและพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว  เป็นสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการผนวกเอานวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการขับเคลื่อนและบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเงิน รวมไปถึงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการยกระดับทักษะแรงงานศักยภาพสูง ต้องใช้งบประมาณและการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ ความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชน รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ประเทศไทยอาจแสวงหาความร่วมมือกับจีน ซึ่งมีนโยบาย เป้าหมายและบทบาทในเรื่องดังกล่าวที่ชัดเจน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่ยุค “ประเทศไทย 4.0” อย่างเต็มรูปแบบได้ในอนาคต

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : นิตยสาร Hello Chengdu ฉบับเดือนมีนาคม (สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565)

เว็บไซต์ baijiahao.baidu และ 163.com (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565)

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1724159995674178560&wfr=spider&for=pc

https://www.163.com/dy/article/GNTI3FV90552C2H4.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]