เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ศุลกากรเฉิงตูเปิดเผยว่า ในปี 2565 ยอดรวมการนำเข้าและส่งออกของการค้าระหว่างประเทศของมณฑลเสฉวนมีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านหยวน สูงเป็นในอันดับ 8 ของจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับปี 2564 และสูงสุดในประวัติการณ์
นางหลี่ ไห่ฟาน รองผู้อำนวยการศุลกากรเฉิงตูกล่าวว่า ในปี 2565 การนำเข้าและส่งออกของมณฑลเสฉวนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่แข็งแกร่ง ประสบผลสำเร็จเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้
ในปี 2565 มณฑลเสฉวนประสบความสำเร็จในการค้ากับ 229 ประเทศหรือภูมิภาค ในจำนวนนี้มี 55 ประเทศที่มีมูลค่าการค้ามากกว่า 1 พันล้านหยวน นอกจากนี้ตลาดการค้าต่างประเทศยังมีความหลากหลายยิ่งขึ้น การค้าระหว่างมณฑลเสฉวนและประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่า 3.35 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 การขนส่งผ่านขบวนรถไฟจีน-ยุโรปมีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้การค้าระหว่างมณฑลเสฉวนและประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มีมูลค่ามากกว่า 3.13 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4
การค้าระหว่างประเทศของวิสาหกิจเอกชนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 มณฑลเสฉวนมีวิสาหกิจ 7,387 แห่งที่ทำการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น 668 แห่งจากปี 2564 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกของวิสาหกิจเอกชนมีมากกว่า 3.44 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 และมีส่วนส่งเสริมการเติบโตทางการค้าต่างประเทศของมณฑลเสฉวนสูงถึงร้อยละ 137.4 ซึ่งกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตด้านการค้าระหว่างประเทศของมณฑลเสฉวน
อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกนำมาซึ่งโอกาสใหม่ มณฑลเสฉวนมีศักยภาพในด้านทรัพยากรแร่ลิเธียมและพลังงานสะอาด และมี SMEs ธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานลิเทียมมากกว่า 80 ราย รวมถึง การนำเข้าและส่งออกวัสดุแบตเตอรี่ลิเธียมหลายชนิดเป็นสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน
ในปี 2565 พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของมณฑลเสฉวนยังคงเติบโตออย่างต่อเนื่อง จัดตั้งคลังสินค้าในต่างประเทศมากกว่า 600,000 ตารางเมตร การซื้อขายทั่วโลกจะมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
การค้ากับต่างประเทศของมณฑลเสฉวนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัจจุบันรัฐบาลจีนได้ยกเลิกนโยบาย Zero-Covid ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าการค้ากับต่างประเทศของมณฑลเสฉวนจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เป็นโอกาสของไทยที่จะกระชับความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศกับมณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ คมนาคม โลจิสติกส์ และเป็นประตูสู่ภาคตะวันตกจีน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังฟื้นตัว
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ทางการของศุลกากรนครเฉิงตู (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566)
http://www.customs.gov.cn/chengdu_customs/519400/519403/4814112/index.html