ต้องบอกว่า… เศรษฐกิจกว่างซี(จีน)ต้องสะดุดพอสมควรจากการดำเนินนโยบาย ‘ล็อกประตูบ้าน’แบบคนในไม่อยากออก คนนอกไม่อยากเข้าเป็นเวลานานกว่า 3 ปีเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากต่างประเทศหน่วยงานรัฐและเอกชนจำนวนไม่น้อยต้องแตะ ‘เบรก’ ชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีน
แม้ว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลและภาคเอกชนจีนจะพยายามนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นโซลูชั่นที่ช่วยสานต่อความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางไปมาหาสู่กันเป็น ‘กุญแจ’ดอกสำคัญที่นำไปสู่การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึน
หลังการ ‘ผ่อนคลาย’ ไปจนถึง ‘ปลดล็อก’ มาตรการคุมเข้มโควิด-19 ที่ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปของประเทศจีน รัฐบาลท้องถิ่นในมณฑลต่างๆ ได้เร่งจัดคณะนักธุรกิจออก‘โรดโชว์’ในต่างประเทศเพื่อขยายตลาดการค้าและต่อยอดการลงทุนกับต่างประเทศโดยความสำเร็จในการนำทัพธุรกิจลุยต่างประเทศที่นำร่องโดยมณฑลเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างมณฑลกวางตุ้งและมณฑลเจ้อเจียงได้กลายเป็นแนวทางให้มณฑลอื่นๆ ในจีนได้เจริญรอยตาม
เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2566 รัฐบาลกว่างซีได้จัดประชุมเพื่อผลักดันการทำงานด้านเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2566 สาระสำคัญบางส่วนระบุว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงจะผลักดันการปรับปรุงโครงสร้างการค้าต่างประเทศและพัฒนาให้การค้าต่างประเทศเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สนับสนุนการ ‘ก้าวออกไป’ ของภาคธุรกิจ การจัดคณะนักธุรกิจไปกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ยุโรป และตะวันออกกลางเพื่อส่งเสริมการขยายตลาดในต่างประเทศและการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงการปรับปรุงขั้นตอนและยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ด้วยความใกล้ชิดกันในทุกมิติ ในปี 2566 เขตฯ กว่างซีจ้วงยังคงมอง ‘อาเซียน’ เป็นตลาดเป้าหมายหลัก โดยในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์นี้ หน่วยงานในกว่างซีได้มีแผนจัดคณะนักธุรกิจออกเดินทางไป ‘ล่าออเดอร์’ ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจีน ประจำกว่างซี และกรมพาณิชย์กว่างซีที่นำคณะนักธุรกิจรวม 50 กว่ารายเดินสายไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจการค้าในเวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย
ระหว่างที่คณะอยู่ในประเทศไทย หอการค้าไทย-จีนได้จัดงานเลี้ยงรับรองและเปิดโอกาสให้คณะกรมพาณิชย์กว่างซีกับภาคธุรกิจได้พบปะทำความรู้จักเพื่อสร้างความสัมพันธ์และแสวงหาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนเพื่อผลักดันความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างภาคธุรกิจกว่างซีและไทยให้ประสบความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
คุณณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคลประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า กว่างซีเป็น Gateway to ASEAN มีข้อได้เปรียบชัดเจนทางด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้ง มีอนาคตที่กว้างไกล โดยหอการค้าฯ หวังที่จะร่วมส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกทางการค้าและการลงทุนแบบสองทางกับกว่างซี ผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในสาขาการบริการ หอการค้าฯ จะแสดงบทบาทอย่างแข็งขันในการเป็นสะพาน เพื่อกระตุ้นความร่วมมือที่เป็นประโยขน์แก่ภาคธุรกิจสองฝ่าย ช่วยเหลือธุรกิจกว่างซีมาขยายตลาดไทยมากยิ่งขึ้น แนะนำให้ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพไปลงทุนที่กว่างซี
กรมพาณิชย์กว่างซี เปิดเผยข้อมูลว่า ช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 บริษัททุนไทยที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในกว่างซี มีจำนวน 82 ราย เงินทุนต่างชาติตามสัญญาคิดเป็นมูลค่าราว 2,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินลงทุนจริงจากต่างประเทศมีมูลค่าราว 96.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่บริษัททุนกว่างซี (ประเภท Non-Financial) ที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในไทย มีจำนวน 24 ราย สองฝ่ายมีการลงนามสัญญาโครงการรับเหมาก่อสร้างสะสม 63 ฉบับ
ในภาพรวม “ประเทศไทย”เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 4 ของกว่างซี เป็นเแหล่งส่งออกสินค้าอันดับที่ 4 และเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับที่ 6 ของกว่างซีหากเทียบในอาเซียนเป็นรองเพียงเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของจีนเท่านั้น
จากการเปิดเผยของศุลกากรหนานหนิง พบว่า ปี 2565 การค้ากับประเทศไทยมีมูลค่ารวม 30,680 ล้านหยวน(-38.7%) ในจำนวนนี้ เป็นการนำเข้าจากไทย 14,978ล้านหยวน (-66.2%) และส่งออกไปไทย 15,701ล้านหยวน (+174.4%) โดยกว่างซีเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าไทยมูลค่า 723 ล้านหยวน เป็นการได้ดุลครั้งแรกในรอบ 10 ปี
เรื่องฝากจากบีไอซีปี 2566 จะเป็นปีที่มีพลวัตเป็นอย่างมากสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างจีน (เขตฯ กว่างซีจ้วง) กับประเทศไทย โดยหนึ่งในโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องจับตาและเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่น ๆ คือ การครบรอบ 20 ปีของการจัดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ CAEXPO ซึ่งเป็นมหกรรมแสดงสินค้าที่มีความสำคัญระดับภูมิภาค และเป็น 1 ในกลไกที่ประเทศจีน(เขตฯ กว่างซีจ้วง)ใช้ส่งเสริมกระชับความร่วมมือในมิติที่หลากหลายกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยผู้บริหารระดับสูงของเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า จะมีการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็น Side Events ของงาน CAEXPO ครั้งที่ 20 ตลอดทั้งปี ก่อนที่การจัดงานฯ จะเริ่มเปิดฉากขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 16-19 ก.ย. 2566 นี้ ซึ่งบีไอซีคาดว่า น่าจะมีความยิ่งใหญ่และมีบรรยากาศคึกคักมากเป็นพิเศษ
อีกทั้ง สิ่งที่ผู้ประกอบการ(ไทย)ตั้งตารอมานานกว่า 3 ปีกับการ ‘ปลดล็อก’ มาตรการคุมเข้มโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ รวมถึงไทย สามารถเดินทางมาเข้าร่วมออกบูธ/เยี่ยมชมงานที่นครหนานหนิงได้แล้ว โดยในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ฝ่ายผู้จัดงาน China-ASEAN Expo จะนำคณะเดินทางมาที่ประเทศไทยเพื่อประชาสัมพันธ์งาน China-ASEAN Expo ด้วย
บีไอซีจึงขอฝากให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าร่วมงาน China-ASEAN Expo ปีนี้คอยติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขการสมัครเข้าร่วมงานฯ ได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ของกระทรวงพาณิชย์ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-507 8381 และอีเมล[email protected] ทั้งนี้ หากมีรายละเอียดหรือข้อมูลอัปเดตที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน บีไอซีจะรายงานให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะ
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gxftz.gxzf.gov.cn/ (中国(广西)自由贸易试验区) วันที่ 02 กุมภาพันธ์ 2566
เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn (南宁海关) วันที่ 19 มกราคม 2566
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn(中国新闻网) วันที่ 17 มกราคม 2566