• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ภาพรวมเศรษฐกิจของมณฑลเสฉวนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ภาพรวมเศรษฐกิจของมณฑลเสฉวนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

 

สำนักงานสถิติมณฑลเสฉวนเปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 GDP ของมณฑลเสฉวนมีมูลค่า 1,273,924 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เติบโตในสภาพที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. อุตสาหกรรมปฐมภูมิ [1] มีมูลค่า 80,842 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 อุตสาหกรรมทุติยภูมิ [2] มีมูลค่า 468,216 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 และอุตสาหกรรมตติยภูมิ [3] มีมูลค่า 724,866 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
  2. ด้านการเกษตรเติบโตในเกณฑ์ดี ผลผลิตผักและเห็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ผลผลิตแตงและผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ผลผลิตชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 และผลผลิตพืชยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
  3. ผลผลิตสุกร 16.399 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี ผลผลิตโค 848,000 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ผลผลิตแกะ 4.212 ล้านตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และผลผลิตสัตว์ปีก 180 ล้านตัว ลดลงร้อยละ 3.2
  4. มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5
  5. ภาคบริการกลับมาเติบโตในไตรมาสแรก มูลค่าอุตสาหกรรมการบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8  โดยมีมูลค่าอุตสาหกรรมการรับส่งข้อมูล ซอฟต์แวร์ และบริการเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 มูลค่าอุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 มูลค่าอุตสาหกรรมการเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และมูลค่าอุตสาหกรรมการขนส่ง คลังสินค้า และไปรษณีย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5
  6. การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 การลงทุนในอุตสาหกรรมปฐมภูมิลดลงร้อยละ 2.2 การลงทุนในอุตสาหกรรมทุติยภูมิเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 และการลงทุนในอุตสาหกรรมตติยภูมิเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1
  7. ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 591,700 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 รายได้จากธุรกิจอาหาร อยู่ที่ 78,310 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 1.5
  8. มูลค่าการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 248,030 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 151,990 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 96,040 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องกลและเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่า 113,030 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 74.4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด คู่ค้ารายใหญ่ 5 อันดับแรกของมณฑลเสฉวน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาเซียน สหภาพยุโรป ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยการค้ากับอาเซียนเติบโตร้อยละ 25.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ปริมาณการนำเข้าและส่งออกผ่านท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิวอยู่ที่ 44,800 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของ GDP มณฑลเสฉวน

นาย Zeng Junlin นักเศรษฐศาสตร์และโฆษกสำนักงานสถิติมณฑลเสฉวน เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 หลายระลอกในประเทศจีน ทำให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเกิดความไม่แน่นอนและมีความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของมณฑลเสฉวนกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัว และกลับสู่สภาวะปกติอย่างมั่นคง โดยมีปัจจัย 4 ประการ ดังนี้

ประการแรก นโยบายของรัฐบาล นับตั้งแต่ต้นปี 2565 รัฐบาลมณฑลเสฉวนได้ออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการรักษาเสถียรภาพการเติบโตและส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรม 18 ข้อ มาตรการส่งเสริมภาคบริการ 43 ข้อ มาตรการส่งเสริมการลงทุน 7 ข้อ และภารกิจหลักเพื่อส่งเสริมการบริโภค 26 ข้อ ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของมณฑลเสฉวนมีการเติบโต

ประการที่สอง โครงสร้างอุตสาหกรรมมีเสถียรภาพมากขึ้น ปัจจุบันการเติบโตของอุตสาหกรรมปฐมภูมิได้กลับสู่ระดับปกติ อุตสาหกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานไฟฟ้า-ความร้อน น้ำมัน-ก๊าซ และการผลิตยานยนต์มีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก นับได้ว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อุตสาหกรรมบริการฟื้นตัวอย่างมั่นคง อุตสาหกรรมสุขภาพ ซอฟต์แวร์และการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว และอุตสาหกรรมการเงินเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ประการที่สาม การเพิ่มจำนวนของวิสาหกิจใหม่ ในไตรมาสแรก มีบริษัทจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 มีบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวนเพิ่มขึ้น 465 แห่ง

ประการที่สี่ วิสาหกิจขนาดใหญ่เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีความสามารถในการป้องกันความเสี่ยง และมีความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ GDP ในไตรมาสแรกของมณฑลเสฉวนเติบโตเช่นกัน อาทิ บริษัทค้าปลีกชั้นนำ 100 อันดับแรกมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9  มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์ของมณฑลเสฉวน

มณฑลเสฉวนเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ คมนาคม โลจิสติกส์ และเป็นประตูสู่ภาคตะวันตกจีน มีศักยภาพด้านการค้า การลงทุน และการขนส่ง-โลจิสติกส์ และยังคงรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจได้ดีท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไทยและมณฑลเสฉวนสามารถกระชับความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน เพื่อผื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมตติยภูมิ ซึ่งมณฑลเสฉวนมีความสามารถโดดเด่นในด้านดังกล่าว (ตัวเลขอุตสาหกรรมตติยภูมิมีมูลค่าเกินกว่าครึ่งของตัวเลข GDP) นอกจากนี้ ไทยยังสามารถเรียนรู้จากปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของ GDP มณฑลเสฉวน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการออกมาตรการหรือนโยบายที่ส่งผลต่อการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทยต่อไป

 

ลำดับที่ รายการ จำนวน เพิ่มขึ้น/ลดลงร้อยละ

(เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564)

1. GDP 1,273,924 ล้านหยวน +5.3
2. อุตสาหกรรมปฐมภูมิ 80,842 ล้านหยวน +4.3
3. อุตสาหกรรมทุติยภูมิ 468,216 ล้านหยวน +6.4
4. อุตสาหกรรมตติยภูมิ 724,866 ล้านหยวน +4.8
ด้านอุตสาหกรรม
5. มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน +8.1
6. มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน +17.5
ภาคบริการ
7. มูลค่าอุตสาหกรรมการรับส่งข้อมูล ซอฟต์แวร์ และบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ +8.6
8. มูลค่าอุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีก +6.7
9. มูลค่าอุตสาหกรรมการเงิน +5.9
10. มูลค่าอุตสาหกรรมการขนส่ง คลังสินค้า และไปรษณีย์ +3.5
ด้านการบริโภค
11. ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค 591,700 ล้านหยวน +5.1
12. รายได้จากธุรกิจอาหาร 78,310 ล้านหยวน -1.5
ด้านการลงทุน
13. การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร +10.1
14. การลงทุนในอุตสาหกรรมปฐมภูมิ -2.2
15. การลงทุนในอุตสาหกรรมทุติยภูมิ +15.4
16. การลงทุนในอุตสาหกรรมตติยภูมิ +9.1
การค้าระหว่างประเทศ
17. มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 248,030 ล้านหยวน +26.2
18. มูลค่าการส่งออก 151,990 ล้านหยวน +38.3
19. มูลค่าการนำเข้า 96,040 ล้านหยวน +10.9

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: เว็บไซต์สำนักข่าว Cdrb (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565)

http://www.cdrb.com.cn/epaper/cdrbpc/202204/20/c97120.html

เว็บไซต์ baijiahao.baidu (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565)

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1730420735173620577&wfr=spider&for=pc

 

[1] อุตสาหกรรมปฐมภูมิ ได้แก่ เกษตรกรรม ป่าไม้ การเลี้ยงสัตว์ การประมง ฯลฯ

[2] อุตสาหกรรมทุติยภูมิ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมการผลิต (ไม่รวมการซ่อมแซมเครื่องจักร อุปกรณ์) การผลิตและการจัดหาไฟฟ้า ก๊าซและน้ำ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ฯลฯ

[3] อุตสาหกรรมตติยภูมิ คือ อุตสาหกรรมการบริการ อาทิ การขนส่ง คลังสินค้าและไปรษณีย์ การส่งข้อมูล บริการด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ค้าส่งและค้าปลีก โรงแรมที่พักและอาหาร การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจใช้เช่า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ บริการทางเทคนิค การสำรวจทางธรณีวิทยา การอนุรักษ์น้ำ การจัดการสิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ การบริการที่อยู่อาศัย และการบริการอื่น ๆ การศึกษา สุขภาพ ประกันสังคมและสวัสดิการสังคม วัฒนธรรม กีฬา ความบันเทิง และการท่องเที่ยว ฯลฯ

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]