• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ส่องค่าตอบแทน “มนุษย์เงินเดือนจีน(กว่างซี)” ไตรมาส 1/2565 – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ส่องค่าตอบแทน “มนุษย์เงินเดือนจีน(กว่างซี)” ไตรมาส 1/2565 – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • ในไตรมาส 1/2565 ภาพรวมการจ้างงานในเขตปกครองตนเองกว่างซีมีแนวโน้มสดใส นายจ้างสนนค่าตอบแทนการจ้างงานที่สูงขึ้นเพื่อดึงดูดใจผู้สมัครและรักษาคนเก่งไว้ในองค์กร โดยเฉพาะสายงานที่ต้องใช้ทักษะวิชาชีพขั้นสูงอย่างช่างไอทีและที่เกี่ยวข้อง
  • แนวโน้มข้างต้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หรือ digital transformation ในปัจจุบัน ทำให้นายจ้างมีความต้องการพนักงานที่มีทักษะที่หลากหลาย โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล การออกแบบดีไซน์ และความรู้ในงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งขณะนี้ ตลาดยังอยู่ในสภาวะขาดแคลน (talent shortage)
  • ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2565 มี 13 พื้นที่ในจีนที่ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนทะลุ 2,000 หยวน และมี 12 พื้นที่ในจีนที่ค่าแรงขั้นรายชั่วโมงทะลุ 20 หยวนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เลียบชายฝั่งทางภาคตะวันออกของประเทศ รวมถึงมณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในจีนตะวันตก
  • อย่างไรก็ดี พื้นที่ภาคตะวันออกยังไม่ได้สูญเสียความเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศแต่อย่างใด โดยพื้นที่ดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมในพื้นที่ไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีคอนเทนต์สูง เพราะ ‘จีนในวันนี้’ กำลังก้าวเข้ายุคสมัยที่การผลิตมุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยุคสมัยที่ธุรกิจ(ต่างชาติ)ปรับทัศนะใหม่ การลงทุนในจีนไม่ใช่เพื่ออาศัยค่าแรงถูกอีกต่อไป แต่เป็นการลงทุนเพื่ออาศัยเทคโนโลยีของจีนเป็นสำคัญ และมองจีนในฐานะ “ตลาดผู้บริโภค” ขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายและศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยมหาศาล

 

ในไตรมาส 1/2565 ภาพรวมการจ้างงานในเขตปกครองตนเองกว่างซีมีแนวโน้มสดใส  นายจ้างสนนค่าตอบแทนการจ้างงานที่สูงขึ้นเพื่อดึงดูดใจผู้สมัครและรักษาคนเก่งไว้ในองค์กร โดยเฉพาะสายงานที่ต้องใช้ทักษะวิชาชีพขั้นสูงอย่างช่างไอทีและที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์จัดหางาน gxrc.com ภายใต้การกำกับดูแลของกรมทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมกว่างซี ได้เปิดเผยรายงานการจ้างงานของเขตฯ กว่างซีจ้วง ประจำไตรมาสที่ 1/2565 พบว่า เงินเดือนเฉลี่ยการจ้างงานอยู่ที่ 5,838 หยวน เพิ่มขึ้น 15.75% (QoQ) สะท้อนให้เห็นว่า นายจ้างใช้การจัดการค่าตอบแทนที่ดีเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้สมัครงาน

สายงานไอที มีค่าเฉลี่ยเงินเดือน ‘พุ่งพรวด’ จาก 5,199 หยวนเมื่อไตรมาส 4/2564 เป็น 6,502 หยวนในไตรมาส 1/2565 เพิ่มขึ้น 25.06% (QoQ) โดยเฉพาะในสาขาประสานงานโครงการและการจัดการด้านไอที มีเงินเดือนเฉลี่ย 7,414 หยวน เพิ่มขึ้น 38.68% (QoQ) และสาขาการจัดการด้านไอที (Configuration Management / Testing / Quality Management) มีเงินเดือนเฉลี่ย 5,925 หยวน เพิ่มขึ้น 43.78% (QoQ)

แม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเข้าสู่ภาวะซบเซา แต่การจ้างงานในสายงานอสังหาริมทรัพย์และที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า อาทิ สาขาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์/นายหน้า 7,421 หยวน เพิ่มขึ้น 9.62% (QoQ) และสาขาบริหารนิติบุคคลอาคารชุด 4,520 หยวน เพิ่มขึ้น 11.22%

การจ้างงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน 3 ช่วงเงินเดือน คิดเป็นสัดส่วน 56.04% แบ่งเป็น…
(1) ช่วงเงินเดือน 3,000 – 3,999 หยวน มีสัดส่วน 20.31% ลดลงร้อยละ 0.98% จุด (QoQ) ขณะที่ผู้สมัครงานในช่วงเงินเดือนดังกล่าวมีสัดส่วน 31.34% ประเมินได้ว่า ตำแหน่งงานในช่วงเงินเดือนดังกล่าวมีการแข่งขันสูง
(2) ช่วงเงินเดือน 4,000 – 4,999 หยวน มีสัดส่วน 21.85% ลดลงร้อยละ 5.91% จุด (QoQ)
(3) ช่วงเงินเดือน 5,000 – 5,999 หยวน มีสัดส่วน 13.88% ลดลงร้อยละ 3.51% จุด (QoQ)

ขณะที่ช่วงเงินเดือน 6,000 หยวนขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับที่แตกต่างกัน กล่าวคือ
(1) ช่วงเงินเดือน 6,000 – 7,999 หยวน มีสัดส่วน 18.45% เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.39 จุด (QoQ)
(2) ช่วงเงินเดือน 8,000 – 9,999 หยวน มีสัดส่วน 7.98% เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.04 จุด (QoQ)
(3) ช่วงเงินเดือน 10,000 – 19,999 หยวน มีสัดส่วน 6.21% เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 จุด (QoQ)
(4) ช่วงเงินเดือน 20,000 หยวนขึ้นไป มีสัดส่วน 0.99% เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.39 จุด (QoQ)

สาขาที่มีเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บริหารจัดการ (13,554 หยวน) ชีววิทยา/เภสัชกรรม/เครื่องมือแพทย์ (9,193 หยวน) บริการด้านลงทุนพันธบัตร/ตลาดล่วงหน้า (8,453 หยวน) เสริมสวย/บริการสุขภาพ (8,098 หยวน) คอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ (7,733 หยวน)

สาขาที่มีเงินเดือนเฉลี่ยต่ำสุด 5 อันดับท้าย ได้แก่ รปภ./แม่บ้าน (3,961 หยวน) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม (4,007 หยวน) โลจิสติกส์/คลังสินค้า (4,417 หยวน) บริหารนิติบุคคลอาคารชุด (4,520 หยวน) และเสมียน/ธุรการ (4,694 หยวน)

สาขาที่เงินเดือนมีความผันผวน ได้แก่ ทนายความ (6,398 หยวน ลดลง 20.84% QoQ และลดลง 6.80% YoY) และล่าม (6,352 หยวน ลดลง 13.10% QoQ แต่เพิ่มขึ้น 11.78% YoY)

ความคาดหวังของผู้สมัครงาน สาขาที่ผู้สมัครงานมีความคาดหวังต่อเงินเดือนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บริหารจัดการ (10,412 หยวน) พัฒนาอสังหาริมทรัพย์/นายหน้า (9,016 หยวน) ไอที (8,126 หยวน) พัฒนาซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ (7,620 หยวน) และบริการด้านลงทุนพันธบัตร/ตลาดล่วงหน้า (7,170 หยวน)

เมืองที่มีค่าตอบแทนการทำงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เมืองฝางเฉิงก่าง (6,510 หยวน เพิ่มขึ้น 54.23% QoQ) นครหนานหนิง (6,244 หยวน เพิ่มขึ้น 21.06% QoQ) เมืองยวี่หลิน (6,226 หยวน) เมืองฉงจั่ว (5,932 หยวน) เมืองหลิ่วโจว (5,560 หยวน) และเมืองชินโจว (5,519 หยวน)

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (digital transformation) ในปัจจุบัน ทำให้นายจ้างมีความต้องการพนักงานที่มีทักษะที่หลากหลาย โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล การออกแบบดีไซน์ และความรู้ในงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งขณะนี้ ตลาดยังอยู่ในสภาวะขาดแคลน (talent shortage) ยิ่งในสายงานผลิต แรงงานกำลังถูกทดแทนด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติ

ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2565 มี 13 พื้นที่ในจีนที่ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนทะลุ 2,000 หยวน และมี 12 พื้นที่ในจีนที่ค่าแรงขั้นรายชั่วโมงทะลุ 20 หยวนแล้ว

 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานจีน ทำให้ค่าตอบแทนแรงงานมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า พื้นที่เลียบชายฝั่งทางภาคตะวันออกส่วนใหญ่ของประเทศ และพื้นที่ภาคตะวันตก 2 พื้นที่ ได้แก่ มณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนทะลุ 2,000 หยวน แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมการผลิตบางส่วนไปยังพื้นที่ภาคตะวันตกที่มีอัตราค่าแรงต่ำกว่า ทำให้พื้นที่ภาคตะวันตกกลายเป็นฐานการผลิตที่น่าสนใจของประเทศจีน

อย่างไรก็ดี พื้นที่ภาคตะวันออกยังไม่ได้สูญเสียความเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศแต่อย่างใด โดยพื้นที่ดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมในพื้นที่ไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีคอนเทนต์สูง เพราะ ‘จีนในวันนี้’ กำลังก้าวเข้ายุคสมัยที่การผลิตมุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยุคสมัยที่ธุรกิจ(ต่างชาติ)ปรับทัศนะใหม่ การลงทุนในจีนไม่ใช่เพื่ออาศัยค่าแรงถูกอีกต่อไป แต่เป็นการลงทุนเพื่ออาศัยเทคโนโลยีของจีนเป็นสำคัญ และมองจีนในฐานะ “ตลาดผู้บริโภค” ขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายและศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยมหาศาล

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gxnews.com.cn (广西新闻网) วันที่  07 พฤษภาคม 2565
เว็บไซต์
www.gxrc.com (广西人才网) วันที่  06 พฤษภาคม 2565

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]