สำนักงานสถิตินครฉงชิ่งเปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 GDP ของนครฉงชิ่งมีมูลค่า 639,800 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 นับเป็นการเริ่มต้นปี 2565 ได้อย่างสวยงาม
นาย Yang Hongyi รองผู้อำนวยการและโฆษกสำนักงานสถิติเทศบาลนครฉงชิ่ง เปิดเผยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเติบโตของ GDP ในไตรมาสแรกของนครฉงชิ่ง ดังนี้
- การลงทุนในทรัพย์สินถาวร เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยมีการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ มีการออกพันธบัตรพิเศษให้การค้ำประกันทางการเงินสำหรับโครงการดังกล่าว และมีการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหลายโครงการ เช่น รถไฟฟ้าสาย 15 อาคารผู้โดยสาร T3B และรันเวย์สายที่ 4 ของท่าอากาศยานนานาชาติฉงชิ่งเจียงเป่ย
นอกจากนี้ การลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิตยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปลายปี 2564 นครฉงชิ่งได้ออกนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุนแก่วิสาหกิจ เช่น การเลื่อนระยะเวลาการชำระภาษี การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการวิจัย การควบคุมราคาไฟฟ้าและพลังงาน ฯลฯ ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้การลงทุนในโครงการการผลิตต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ต่อเนื่องเป็นเวลา 13 เดือน
ในขณะที่การลงทุนในด้านการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรก การลงทุนด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.4 การลงทุนด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 100.8 และการลงทุนด้านวัฒนธรรม-กีฬาเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.2 นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนในโครงการการปรับภูมิทัศน์ชุมชนเก่า การฟื้นฟูและยกระดับภาพลักษณ์ของเมือง
- ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยนครฉงชิ่งได้ป้องกันและควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ รวมถึงมีการเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการผลิต ตั้งแต่ต้นปี 2565 นครฉงชิ่งได้มีมาตรการอำนวยความสะดวกด้านพลังงาน การขนส่ง การจ้างงาน ฯลฯ เพื่อแก้ไขปัญหาความต้องการพลังงานที่มากจนเกินไป และสร้างความมีเสถียรภาพ ของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงและยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตได้บรรลุผลสำเร็จ อาทิ ในช่วงมกราคม-มีนาคมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เติบโต 16.8 ผลผลิตยานยนต์พลังงานใหม่เติบโต 2.7 เท่า อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เติบโตร้อยละ 11 อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เติบโตร้อยละ 8.7 และอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564
ทั้งนี้ นครฉงชิ่งมีนโยบายการลดภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมีมาตรการสนับสนุนด้านการเงิน ลดต้นทุนการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งเสริมวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมการวิจัยเทคโนโลยีที่สำคัญ และรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตของนครฉงชิ่งสามารถรักษาการเติบโตอย่างมั่นคง
- การเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ต้นปี 2565 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของนครฉงชิ่งค่อย ๆ ฟื้นตัว และกลับมาเติบโตในทิศทางบวกอีกครั้ง ยอดขายอสังหาริมทรัพย์มากกว่าการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ยอดขายอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 91,102 ล้านหยวน และมูลค่าการลงทุนเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 88,284 ล้านหยวน
ในอนาคตการขยายตัวของเมืองอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ความต้องการของตลาดที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น คาดกันว่า ภายใต้การรักษาเสถียรภาพราคาที่ดิน ราคาบ้าน ตลอดจนการสนับสนุนที่อยู่อาศัยเชิงพาณิชย์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ จะส่งผลให้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของนครฉงชิ่งเข้าสู่วัฏจักรที่สมบูรณ์และเกิดการพัฒนาที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน
นครฉงชิ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ คมนาคม โลจิสติกส์ กำลังพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางการบริโภคระดับสากล เป็นส่วนสำคัญของระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor – NILSTC) และเป็นประตูสู่ภาคตะวันตกจีน มีศักยภาพด้านการค้า การลงทุน การขนส่ง-โลจิสติกส์ และการอุปโภคบริโภค ประชาชนชาวนครฉงชิ่งมีรายได้สูงและนิยมบริโภคสินค้าจากต่างประเทศ จนทำให้ในปี 2564 นครฉงชิ่งเป็นเมืองที่มียอดการใช้จ่ายสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากนครเซี่ยงไฮ้ และกรุงปักกิ่ง จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งสำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำธุรกิจในจีน โดยต้องศึกษาเรียนรู้ข้อมูลทั้งในเชิงลึกและกว้างโดยละเอียดของนครแงชิ่ง เพื่อให้สามารถเข้าถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานได้อย่างตรงเป้าหมายและมีประสิทธภาพและประสิทธิผลต่อไป
ลำดับที่ | รายการ | จำนวน | เพิ่มขึ้น/ลดลงร้อยละ
(เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564) |
1. | GDP | 639,800 ล้านหยวน | +5.2 |
2. | อุตสาหกรรมปฐมภูมิ [1] | 28,305 ล้านหยวน | +5 |
3. | อุตสาหกรรมทุติยภูมิ [2] | 240,395 ล้านหยวน | +6.8 |
4. | อุตสาหกรรมตติยภูมิ [3] | 371,100 ล้านหยวน | +4.2 |
ด้านอุตสาหกรรม | |||
5. | มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน | +8.5 | |
6. | อุตสาหกรรมการผลิตเส้นใยเคมี | +44.8 | |
7. | อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เฉพาะ | +36.1 | |
8. | อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า | +25.4 | |
9. | อุตสาหกรรมการผลิตยา | +18.3 | |
10. | อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ | +16.8 | |
11. | อุตสาหกรรมการผลิตวัตถุดิบเคมีและผลิตภัณฑ์เคมี | +13.0 | |
12. | อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร | +10.8 | |
13. | อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร | +10.7 | |
ด้านการบริโภค | |||
14. | ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค | 351,980 ล้านหยวน | +4.2 |
15. | ยอดค้าปลีกรถยนต์พลังงานใหม่ | +210 | |
16. | ยอดค้าปลีกอุปกรณ์อัจฉริยะประเภทสวมใส่ | +23.2 | |
17. | ยอดขายปลีกสมาร์ทโฟน | +12.7 | |
ด้านการลงทุน | |||
18. | การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร | +10.9 | |
CPI | |||
19. | CPI | +1 | |
รายได้ประชากร | |||
20. | รายได้สุทธิส่วนบุคคล | 10,240 หยวน | +6.6 |
21. | รายได้สุทธิส่วนบุคคลของประชาชนชาวเมือง | 13,183 หยวน | +5.8 |
22. | รายได้สุทธิส่วนบุคคลของประชาชนชาวชนบท | 5,534 หยวน | +7.5 |
การค้าระหว่างประเทศ | |||
23. | มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ | 197,090 ล้านหยวน | +9.3 |
24. | มูลค่าการส่งออก | 127,700 ล้านหยวน | +14 |
25. | มูลค่าการนำเข้า | 69,390 ล้านหยวน | +1.6 |
[1] อุตสาหกรรมปฐมภูมิ ได้แก่ เกษตรกรรม ป่าไม้ การเลี้ยงสัตว์ การประมง ฯลฯ
[2] อุตสาหกรรมทุติยภูมิ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมการผลิต (ไม่รวมการซ่อมแซมเครื่องจักร อุปกรณ์) การผลิตและการจัดหาไฟฟ้า ก๊าซและน้ำ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ฯลฯ
[3] อุตสาหกรรมตติยภูมิ คือ อุตสาหกรรมการบริการ อาทิ การขนส่ง คลังสินค้าและไปรษณีย์ การส่งข้อมูล บริการด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ ค้าส่งและค้าปลีก โรงแรมที่พักและอาหาร การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจใช้เช่า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ บริการทางเทคนิค การสำรวจทางธรณีวิทยา การอนุรักษ์น้ำ การจัดการสิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ การบริการที่อยู่อาศัย และการบริการอื่น ๆ การศึกษา สุขภาพ ประกันสังคมและสวัสดิการสังคม วัฒนธรรม กีฬา ความบันเทิง และการท่องเที่ยว ฯลฯ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ baijiahao.baidu (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565)
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1730686403043878673&wfr=spider&for=pc
เว็บไซต์ทางการของสำนักงานสถิตินครฉงชิ่ง (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565)
http://tjj.cq.gov.cn/zwgk_233/fdzdgknr/tjxx/sjjd_55469/202204/t20220420_10636743.html
เว็บไซต์ทางการของศุลกากรนครฉงชิ่ง (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565)
http://chongqing.customs.gov.cn/chongqing_customs/515855/515856/4319026/index.html