• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • มณฑลเสฉวนเปิดสนามบินแห่งใหม่ พัฒนาสู่ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งครบวงจรและคุณภาพสูงในจีนตะวันตก

มณฑลเสฉวนเปิดสนามบินแห่งใหม่ พัฒนาสู่ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งครบวงจรและคุณภาพสูงในจีนตะวันตก

 

เมืองต๋าโจวเป็นเมืองสำคัญของเขตวงกลมเศรษฐกิจมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง มีที่ตั้งอยู่บริเวณทางแยกระหว่างมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง-มณฑลส่านซี จากการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการพรรคประจำมณฑลเสฉวน ครั้งที่ 11 ได้มีการกำหนดให้เมืองต๋าโจวเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในมณฑลเสฉวนจากทางตะวันออกสู่ทางเหนือ และเป็นเมืองศูนย์กลางระดับภูมิภาคระหว่างมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง-มณฑลส่านซี และยังเป็นพื้นที่หลักของเขตสาธิตการพัฒนาพื้นที่มณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง (เขตว่านโจว-เมืองต๋าโจว-เขตไคโจว) ภายใต้เขตวงกลมเศรษฐกิจมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 มณฑลเสฉวนได้จัดพิธีเปิดใช้ท่าอากาศยานต๋าโจวจินยา ในเมืองต๋าโจว โดยมีผู้แทนสำนักบริหารการบินพลเรือนประจำภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้แห่งประเทศจีนมอบใบอนุญาตเปิดใช้ท่าอากาศยานฯ และเครื่องบินโดยสารแอร์บัส รุ่น A320 ของสายการบินเฉิงตู แอร์ไลน์ เที่ยวบิน EU1995 จากนครเฉิงตูได้ลงจอดที่ท่าอากาศยานต๋าโจวจินยาเป็นเที่ยวแรก

ท่าอากาศยานต๋าโจวจินยาเป็นท่าอากาศยานภายในประเทศ มีพี้นที่ลานบินยาว 2,600 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินโดยสารขนาดกลาง อาทิ เครื่องบินโดยสารแอร์บัส รุ่น A320 สร้างด้วยเงินลงทุนรวม 2,662 ล้านหยวน อาคารผู้โดยสารครอบคลุมเนื้อที่ 31,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของเมืองต๋าโจว คาดว่า (1) ภายในสิ้นปี 2565 ท่าอากาศยานต๋าโจวจินยามีแผนขยายเส้นทางการบินมากกว่า 20 เส้นทาง โดยจะใช้ท่าอากาศยานแห่งนี้เป็นจุดเชื่อมโยงไปยังเมืองใหญ่ในประเทศ โดยตั้งเป้าหมายไปที่เมืองที่ดึงดูดการลงทุน เมืองที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนแรงงานสูง และเมืองท่องเที่ยว (2) ภายในปี 2567 จะเพิ่มเส้นทางการบินมากกว่า 30 เส้นทาง โดยสามารถรองรับผู้โดยสารเกิน 1 ล้านคนต่อปี (3) ภายในปี 2573 จะรองรับผู้โดยสารถึง 2,350,000 คนต่อปีและขนส่งสินค้าได้ 21,000 ตันต่อปี และ (4) ภายในปี 2588 จะขยายการรองรับผู้โดยสารสูงถึง 5 ล้านคนต่อปี และขนส่งสินค้า 45,000 ตันต่อปี พร้อมรองรับเครื่องบินมากกว่า 48,000 ลำ

ท่าอากาศยานต๋าโจวจินยาเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเพื่อทดแทนท่าอากาศยานต๋าโจวเหอซี ซึ่งเป็นท่าอากาศยานเดิม โดยย้ายเส้นทางการบินที่มีอยู่เดิมไปที่ท่าอากาศยานต๋าโจวจินยารวม 14 เส้นทาง ได้แก่ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น นครซีอาน นครหนานหนิง เมืองฉางซา เมืองฉวนโจว เมืองไหโข่ว เมืองกุ้ยหยาง เมืองหยางโจว เมืองจูไห่ นครเฉิงตูและเมืองเจิ้งโจว

การเปิดใช้บริการท่าอากาศยานต๋าโจวจินยาน่าจะช่วยสนับสนุนบทบาทการเป็นศูนย์กลางการขนส่งครบวงจรระดับชาติ ศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติเชิงพาณิชย์และการบริการ และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งจากภูมิภาคจีนตะวันออกสู่ภูมิภาคตะวันตก ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างกลุ่มท่าอากาศยานระดับโลกและศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศครบวงจรของเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง การส่งเสริมการกระจายตัวทางคมนาคมและการขนส่งโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพสูง และการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการเชื่อมโครงข่ายการคมนาคมเข้ากับรถไฟความเร็วสูงสายนครเฉิงตู-เมืองต๋าโจว-เขตว่านโจวในนครฉงชิ่ง

นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 มณฑลเสฉวนได้เปิดใช้งานท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่ในนครเฉิงตู ซึ่งทำให้นครเฉิงตูกลายเป็นเมืองที่ 3 ของจีนที่มีท่าอากาศยานนานาชาติ 2 แห่ง นอกจากกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ การเปิดใช้ท่าอากาศยานต๋าโจวจินยาเพิ่มเติมสะท้อนการให้ความสำคัญในการพัฒนามณฑลเสฉวนให้เป็นพื้นที่ที่มีการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งที่ครบวงจรและมีคุณภาพสูง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้มีการนำเข้าและส่งออกมากยิ่งขึ้น และดึงดูดการค้า การลงทุนเข้ามาในภูมิภาคจีนตะวันตกมากขึ้นในอนาคต

 

 

เมื่อเดือนเมษายน 2565 ศูนย์การบินนานาชาตินครเฉิงตู (ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูซวงหลิว และท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่) มีปริมาณผู้โดยสารรวม 1.468 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 1 ในบรรดากลุ่มสนามบินในจีน และตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน 2565 ศูนย์การบินนานาชาตินครเฉิงตูมีปริมาณผู้โดยสารสะสม 10.768 ล้านคน เป็นอันดับ 1 ในบรรดากลุ่มสนามบินในจีนเช่นกัน นอกจากนี้ ปัจจุบัน มณฑลเสฉวนมีท่าอากาศยานทั้งหมด 17 แห่ง กระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ทั่วทั้งมณฑลเสฉวน เห็นได้ว่า มณฑลเสฉวนมีความสามารถด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ที่ครบวงจรและมีคุณภาพสูง ผู้ประกอบการไทยที่สนใจมาลงทุนในจีนตะวันตก อาจพิจารณามณฑลเสฉวนซึ่งมีความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นประตูสู่การขยายธุรกิจการค้าในภูมิภาคจีนตะวันตก

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ society.people (เข้าถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565)

http://society.people.com.cn/n1/2022/0520/c1008-32425890.html

เว็บไซต์ baijiahao.baidu (เข้าถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565)

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1733227735680498082&wfr=spider&for=pc

เว็บไซต์ m.gmw.cn (เข้าถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565)

https://m.gmw.cn/2022-05/24/content_1302962040.htm

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]