นครเฉิงตูแจกดิจิทัลหยวน 160 ล้านหยวนให้ประชาชน ช้อปออนไลน์ขยายการบริโภค

 

จีนเริ่มพัฒนาดิจิทัลหยวนตั้งแต่ปี 2557 และได้ทำการวิจัยและพัฒนาการใช้งานและด้านความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องด้วยการขยายพื้นที่การทดลองใช้งานเงินดิจิทัลหยวนเป็นระลอก ๆ โดยเมื่อปลายปี 2561 ธนาคารกลางจีนได้ทดสอบการใช้งานเงินหยวนดิจิทัลในเขตสาธิตการใช้งานเงินหยวนดิจิทัล 4 แห่ง ได้แก่ เมืองเซินเจิ้น เมืองซูโจว  เขตสยงอัน และนครเฉิงตู

ที่ผ่านมา นครเฉิงตูได้ทดสอบการใช้เงินหยวนดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 นครเฉิงตูร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและธนาคารนำร่องดิจิทัลหยวนแจกคูปองดิจิทัลหยวนมูลค่ารวม 160 ล้านหยวน สำหรับใช้จ่าย ครอบคลุมการค้าปลีก อาหาร วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นอีกจำนวนมาก เพื่อขยายการบริโภคภายในประเทศ

ระหว่างวันที่ 10 – 30 มิถุนายน 2565 ประชาชนสามารถกดรับคูปองดิจิทัลหยวนกว่า 1.41 ล้านใบผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 3 แห่ง ได้แก่ JD.com, Vipshop และ Meituan โดยสามารถกดรับคูปองได้คนละ 1 ใบ/แพลตฟอร์ม/สัปดาห์

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์และกรกฎาคม 2564 และเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานกำกับดูแลและบริหารการเงินนครเฉิงตูร่วมกับธนาคาร Bank of China สาขานครเฉิงตู จัดกิจกรรมสุ่มแจกเงินดิจิทัลหยวนให้แก่ประชาชน เพื่อใช้จ่ายในร้านค้าในนครเฉิงตูกว่า 11,000 แห่ง ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถโดยสารสาธารณะ รถไฟฟ้าใต้ดิน รถจักรยาน และแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ประชาชนและทดสอบอุปสรรค/ปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้งานจริง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ปัจจุบัน กระแสการใช้เงินหยวนดิจิทัลกำลังมาแรง และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างแข็งขัน โดยเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2563 จีนได้เพิ่มเขตสาธิตการใช้งานเงินดิจิทัลหยวน อีก 6 แห่ง ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลไห่หนาน นครฉางซา นครซีอาน เมืองชิงต่าว และเมืองต้าเหลียน และล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2565 ได้เพิ่มเขตสาธิตฯ เพิ่มเติม ได้แก่ นครเทียนจิน นครฉงชิ่ง นครกว่างโจว นครฝูโจว เมืองเซี่ยเหมิน นครหังโจว เมืองหนิงโป เมืองเวินโจว เมืองหูโจว เมืองเช่าซิง และเมืองจินหัว รวมทั้งพื้นที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่งและเมืองจางจยาโข่วเป็นเขตสาธิตฯ ด้วย

ปัจจุบัน แอปพลิเคชันดิจิทัลหยวนรองรับการใช้งานกับธนาคารแล้วกว่า 34 แห่ง อาทิ ธนาคารไอซีบีซี ธนาคารเอบีซี ธนาคารแห่งประเทศจีน ธนาคารปักกิ่ง ธนาคารเซี่ยงไฮ้ ธนาคารเจียงซู ธนาคารหนานจิง ธนาคารซูโจว ธนาคารหางโจว ธนาคารฉางซา ธนาคารฉงชิ่ง ธนาคารหลูโจว ธนาคารหนิงโป ธนาคารชิงต่าว ฯลฯ

 

เมื่อพิจารณาจากพลวัตข้างต้น จะเห็นได้ว่าจีนกำลังเร่งพัฒนาและส่งเสริมการใช้เงินดิจิทัลหยวนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยครอบคลุมตั้งแต่การอุปโภคบริโภค ท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม การค้าและการเงิน

ในการนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมระบบรองรับการรับชำระเงินดิจิทัลหยวน โดยเฉพาะจากกลุ่มนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการจีน  ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนการพัฒนาระบบเพื่อเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยทางดิจิทัล การปรับกฎระเบียบภายในของไทยเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงการใช้เงินดิจิทัลหยวนกับประเทศจีนและประเทศต่าง ๆ (interoperability) รวมทั้งการสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่รัดกุมและมีเสถียรภาพ เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ต่อระบบเงินดิจิทัลต่อไป

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ sc.people.com (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565)

http://sc.people.com.cn/n2/2022/0607/c379471-35303317.html

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]