พัฒนาการการฟื้นฟูเส้นทางบินระหว่างประเทศของนครฉงชิ่ง

 

 

รัฐบาลจีนได้กำหนดให้ท่าอากาศยานนานาชาติฉงชิ่งเจียงเป่ยเป็นสนามบินสำคัญในโครงการคลัสเตอร์สนามบินระดับโลกเฉิงตู-ฉงชิ่ง และสำนักงานการบินพลเรือนจีนได้ออก “แผนการพัฒนาการบินระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14” เมื่อเดือนธันวาคม 2564  กำหนดแนวคิดการพัฒนา ภารกิจสำคัญ ตลอดจนปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของอุตสาหกรรมการบิน ความเป็นอัจฉริยะ และความปลอดภัยทางอากาศ

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 สำนักงานการบินพลเรือนจีนได้แถลงข่าวเกี่ยวกับ “แผนการเร่งรัดการพัฒนาคลัสเตอร์สนามบินระดับโลกเฉิงตู-ฉงชิ่ง” โดยกำหนดให้ก่อสร้างและพัฒนาแล้วเสร็จภายในปี 2578 และมีแผนยกระดับการให้บริการระหว่างประเทศ และการรักษาความปลอดภัย ฯลฯ โครงการดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของนครฉงชิ่งและนครเฉิงตู และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับโลก

ที่ผ่านมา นครฉงชิ่งพัฒนาอุตสาหกรรมการบินอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสำรวจพื้นที่สำหรับสร้างสนามบินแห่งที่ 2 การขยายพื้นที่ให้บริการของสนามบินสำคัญ และการเพิ่ม/กลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินผู้โดยสารและเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

โดยเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นครฉงชิ่งได้เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศจากท่าอากาศยานนานาชาติฉงชิ่งเจียงเป่ยไปยังกรุงนิวเดลี ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง B737-700 ของสายการบิน SpiceJet ของอินเดีย ซึ่งบรรทุกสินค้าประกอบด้วยผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เครื่องมือ และของใช้ในชีวิตประจำวัน มีกำหนดการบินด้วยเส้นทางดังกล่าวสัปดาห์ละ 2 เที่ยว

และเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 นครฉงชิ่งได้เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศจากท่าอากาศยานนานาชาติฉงชิ่งเจียงเป่ยไปยังเมืองมุมไบ ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง B737-700 ของสายการบิน SpiceJet โดยบรรทุกสินค้าประกอบด้วย คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ขดลวดอลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ และวัสดุผลิตเครื่องจักรกล มีกำหนดการบินด้วยเส้นทางดังกล่าวสัปดาห์ละ 1 เที่ยว

นอกจากนี้ในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 สายการบินไห่หนานแอร์ไลน์จะฟื้นฟูเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารเส้นทางนครฉงชิ่ง-กรุงโรม ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787 สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเป็นการฟื้นฟูเส้นทางบินของเที่ยวบินโดยสารข้ามทวีปครั้งแรกของนครฉงชิ่งหลังจากที่ระงับเที่ยวบินผู้โดยสารระหว่างประเทศจากสถานการณ์โควิด-19

ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติฉงชิ่งเจียงเป่ยมีเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 108 เส้นทาง การเปิดเส้นทางบินใหม่ข้างต้นจะช่วยเติมเต็มช่องว่างด้านการขนส่งสินค้าจากนครฉงชิ่งไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงช่วยขยายตลาดการส่งออกสินค้าระดับไฮเอนด์ของนครฉงชิ่ง

การเปิดเส้นทางข้างต้นสะท้อนนโยบายและศักยภาพการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และคมนาคมขนส่งในภูมิภาคจีนตะวันตกของนครฉงชิ่ง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่านครฉงชิ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 2 โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายใน 1 – 2 ปีและน่าจะสร้างเสร็จภายในปี 2572 คาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ปีละราว 80 ล้านคน นอกจากนี้ ยังสะท้อนนโยบายในภาพรวมของจีนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนจากสถานการณ์โควิด-19

 

 

โครงการคลัสเตอร์สนามบินระดับโลกเฉิงตู-ฉงชิ่ง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้เขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง มีความเชื่อโยงด้านเศรษฐกิจและคมนาคมขนส่งอย่างไร้ร้อยต่อของภูมิภาคจีนตะวันตก รวมถึงเป็นช่องทางส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักของนครฉงชิ่ง อาทิ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก รถยนต์และรถจักรยานยนต์ การเพิ่มเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศจะส่งผลดีด้านการนำเข้า-ส่งออก และเป็นไปได้ว่า โครงการคลัสเตอร์สนามบินระดับโลกเฉิงตู-ฉงชิ่ง อาจส่งผลให้เมืองดังกล่าวยกระดับเป็นเมืองสำคัญระดับโลกอีกเมืองหนึ่งในอนาคต

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]