• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีดี๊ด๊า เล็งเพิ่มเที่ยวบินสู่อาเซียน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

กว่างซีดี๊ด๊า เล็งเพิ่มเที่ยวบินสู่อาเซียน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

 

ไฮไลท์

  • สำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติจีน พร้อมสนับสนุนการพัฒนาภาคการบินพลเรือนของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในหลายด้าน ทั้งการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางบินในประเทศเชื่อมกับต่างประเทศ โดยมีสนามบินหนานหนิงเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน รวมถึงการส่งเสริมการบินในระดับเพดานบินต่ำ
  • เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สายการบินนกแอร์ ได้รับอนุญาตให้กลับมาทำการบินในเส้นทาง “กรุงเทพฯ – นครหนานหนิง” ในเที่ยวบินแรก อย่างไรก็ดี ประเทศจีนยังคงรณรงค์ให้ผู้โดยสารเดินทางในเที่ยวบินต่างประเทศเท่าที่จำเป็น และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของจีนด้วยความเคร่งครัด แต่นับเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดีในการสานต่อความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจการค้า รวมถึงการแลกเปลี่ยนภาคประชาชนในระยะต่อไป
  • สนามบินหนานหนิงเป็น “ประตูการค้า” มีฟังก์ชันที่หลากหลาย และเป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยด้วย ที่ผ่านมา มีบริการเที่ยวบินสำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้า “นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ” ซึ่งใช้สำหรับขนส่งพัสดุไปรษณีย์และสินค้า Cross-border e-Commerce เป็นประจำอยู่แล้ว และยังเป็น “ด่านนำเข้าผลไม้” “ด่านนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภค” และ “ด่านนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นจากต่างประเทศ” อีกด้วย

 

เมื่อไม่นานมานี้ กรมคมนาคมและขนส่งเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เปิดเผยว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติจีน หรือ CAAC (China Aviation Administration of China) และรัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้ร่วมลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อร่วมผลักดันการพัฒนาการบินพลเรือนที่มีคุณภาพสูงของกว่างซี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-2568)

ด้านการบินระหว่างประเทศ ตามข้อตกลงฯ ระบุว่า สำนักงาน CAAC จะสนับสนุนท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง (รหัสท่าอากาศยาน IATA : NNG) ในการพัฒนา “วงแหวนโลจิสติกส์ทางอากาศ 4 ชั่วโมง” จากนครหนานหนิงสู่กลุ่มประเทศอาเซียน พัฒนาโครงข่ายเส้นทางการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และส่งเสริมการบูรณาการและการใช้ประโยขน์จากทรัพยากรร่วมกันระหว่างเครื่องบินขนส่งสินค้าและพื้นที่ระวางใต้ท้องเครื่องของเครื่องบินผู้โดยสาร

โดยเฉพาะการสนับสนุนให้สนามบินหนานหนิง ขยายเส้นทางบินและเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินระหว่างนครหนานหนิงกับกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งพัฒนาเที่ยวบิน Transit Flight ระหว่างจีน-อาเซียนที่แวะพักที่สนามบินนครหนานหนิงก่อนยังจุดหมายปลายทาง

นอกจากนี้ ยังระบุถึง การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางบินขนส่งผู้โดยสารเชื่อมในประเทศกับต่างประเทศ (อาเซียน) โดยเฉพาะการสนับสนุนให้สนามบินต่างๆ ในกว่างซีเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินไปยังมณฑลในภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor – NWLSC) พื้นที่เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangzte River Delta – YRD) และพื้นที่เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area – GBA)

ด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของสนามบินในกว่างซี สองฝ่ายจะร่วมกันสนับสนุนโครงการปรับปรุงและขยายงานก่อสร้างสนามบินหนานหนิง โดยเฉพาะการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 (Terminal 3) และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง การขยายงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารของสนามบินกุ้ยหลิน และการเตรียมแผนก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ในเมืองฝางเฉิงก่าง เมืองกุ้ยก่าง และเมืองเฮ่อโจว ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีสนามบินเป็นของตนเอง

ด้านการส่งเสริมการบินในห้วงอากาศระดับต่ำ (Low-altitude airspace) สำนักงาน CAAC จะสนับสนุนกว่างซีในการผลักดันการพัฒนาระบบหลักประกันการบริการการบินในระดับเพดานบินต่ำ สนับสนุนให้เมืองเฮ่อโจว (เมืองชายขอบของกว่างซี) พัฒนาเป็นเขตนำร่องการบินของอากาศยานไร้คนขับ

บีไอซี เห็นว่า ความเคลื่อนไหวข้างต้น มีความสอดคล้องกับนโยบายกลางที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2565 สำนักงาน CAAC ได้หารือร่วมกับหน่วยงานด้านการบินพลเรือนในบางประเทศเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการทยอยเพิ่มเที่ยวบินโดยสารระหว่างประเทศทั้งขาเข้าและขาออก รวมถึงประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ สายการบินนกแอร์ ได้รับอนุญาตให้กลับมาทำการบินในเส้นทาง “กรุงเทพฯ – นครหนานหนิง” เที่ยวบินแรกเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ประเทศจีนยังคงรณรงค์ให้ผู้โดยสารเดินทางในเที่ยวบินต่างประเทศเท่าที่จำเป็น และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของจีนด้วยความเคร่งครัด แต่นับเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดีในการสานต่อความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจการค้า รวมถึงการแลกเปลี่ยนภาคประชาชนในระยะต่อไป

สำหรับผู้ที่เตรียมวางแผนการเดินทางไปยังนครหนานหนิง (ประเทศจีน) ขอให้ติดตามมาตรการ/ข้อกำหนดในการเดินทางเข้าประเทศจีนอย่างใกล้ชิด และขอเน้นย้ำว่า “ห้ามนำกัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าวเข้าไปในประเทศจีน” โดยเด็ดขาด และขอให้ใช้ความระมัดระวังในการรับฝากสิ่งของผู้อื่นไปในประเทศจีนด้วย

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สนามบินหนานหนิงมีฟังก์ชันที่หลากหลาย นอกจากการขนส่งผู้โดยสารแล้ว สนามบินแห่งนี้ “ประตูการค้า” ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยด้วย ที่ผ่านมา มีบริการเที่ยวบินสำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้า “นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ” ซึ่งใช้สำหรับขนส่งพัสดุไปรษณีย์และสินค้า Cross-border e-Commerce เป็นประจำอยู่แล้ว

นอกจากนี้ สนามบินหนานหนิงยังเป็น “ด่านนำเข้าผลไม้”  “ด่านนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภค” และ “ด่านนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นจากต่างประเทศ” ที่ผ่านมามีประวัติการนำเข้ากุ้งแวนนาไมมีชีวิต หรือกุ้งขาวจากประเทศไทย รวมถึงผลไม้สด อย่างทุเรียน มังคุดจากประเทศไทยมาแล้วด้วย

บีไอซี เห็นว่า สนามบินหนานหนิงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทยในการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะผลไม้สด รวมถึงสินค้าไทยที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดกว่างซีและพื้นที่อื่นทั่วประเทศจีนได้ผ่านเที่ยวบินขนส่งสินค้า กรุงเทพฯ – หนานหนิง โดยใช้เวลาทำการบินเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
เว็บไซต์ http://www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网广西) วันที่ 30 มิถุนายน 2565

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]