China-ASEAN Expo ปีนี้ ผู้จัดเปิดให้ขายต่อที่ “ศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน”

 

ไฮไลท์

  • งาน China-ASEAN Expo กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 2565 เป็นปีที่ 19 แล้ว โดยยังคงรูปแบบการจัดงานแบบผสม offline + online
  • เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 จากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ พื้นที่จัดแสดงสินค้าแบบ offline ผู้จัดงานยังคงให้เฉพาะผู้ประกอบการต่างชาติที่มีบริษัทลูกหรือมีตัวแทนในจีนเข้าร่วมออกบูธจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเท่านั้น
  • แต่ปรากฎการณ์ใหม่ของงาน China-ASEAN Expo ปีนี้ คือ หลังจากสิ้นสุดการจัดงานแล้ว สินค้าต่างชาติที่นำมาเข้าร่วมงานฯ สามารถนำไปจัดแสดงหรือจำหน่ายตามปกติได้ที่ ศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Mercantile Exchange
  • คาดหวังว่าศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียนจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนโอกาสทางการค้าสินค้าและบริการระดับคุณภาพและมีศักยภาพของผู้ประกอบการไทยได้ โดยเฉพาะ Creative economy ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ แฟชั่นและเครื่องประดับ ศิลปะและงานฝีมือ Health & Wellness สินค้า OTOP พรีเมี่ยม Thai Hospitality ตลอดจนการวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยี และการศึกษา เพื่อให้ผู้ที่สนใจในประเทศจีนสามารถเข้าชมและสามารถติดต่อกับผู้ประกอบการไทยได้

 

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าและนวัตกรรมที่มีคุณภาพสูง เสีย ‘โอกาส’ ที่จะก้าวออกไปร่วมงานจัดแสดงสินค้าหรือออกไปเปิดตลาดในจีนด้วยตนเอง ซึ่งรวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Expo ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงด้วย

งาน China-ASEAN Expo จำเป็นต้องปรับตัวจากผลกระทบของโควิด-19 โดยใช้รูปแบบการจัดงานแบบผสม offline + online เป็นครั้งแรกในปี 2563 (China-ASEAN Expo ครั้งที่ 17) จนถึงปัจจุบัน ที่กำลังจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 2565

ปีนี้ พื้นที่จัดแสดงสินค้าแบบ offline สำหรับสินค้าจากชาติสมาชิกอาเซียนมีพื้นที่รวม 11,600 ตร.ม. เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ผู้จัดงานยังคงให้เฉพาะผู้ประกอบการต่างชาติที่มีบริษัทลูกหรือมีตัวแทนในจีนเข้าร่วมออกบูธจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเท่านั้น

ตามรายงาน นอกจากประเทศสมาชิกในกรอบ RCEP (อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) แล้ว ยังมีผู้ประกอบการจากประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจตอบรับเข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าแล้ว อาทิ ปากีสถาน รัสเซีย เบลารุส ฝรั่งเศส เนปาล อิหร่าน โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาหาร สินค้าเกษตร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงานฝีมือ

สำหรับ Pavilion จัดแสดงสินค้าไทย ปีนี้ยังคงจำนวน 50 บูธเช่นเดียวกับปีก่อน (ช่วงสถานการณ์ปกติ ประเทศไทยเหมาฮอลล์สินค้า 156 บูธ) โดยจะจัดอยู่ในฮอลล์สินค้าเดียวกับประเทศกัมพูชา และสิงคโปร์

ปรากฎการณ์ใหม่ของงาน China-ASEAN Expo ปีนี้ คือ หลังจากสิ้นสุดการจัดงานแล้ว สินค้าต่างชาติที่นำมาเข้าร่วมงานฯ สามารถนำไปจัดแสดงหรือจำหน่ายตามปกติได้ที่ “ศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน” หรือ China-ASEAN Mercantile Exchange (中国—东盟特色商品汇聚中心) ซึ่งช่วยต่อยอดธุรกิจและสร้างโอกาสในการ “จับคู่ธุรกิจ” ให้กับคู่ค้าสองฝ่ายได้มากยิ่งขึ้น

ที่มาที่ไปของ “ศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562 เป็นความร่วมมือกันระหว่างสวนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจีน(หนานหนิง)-สิงคโปร์ (เรียกสั้นๆ ว่า CSILP) กับสำนักเลขาธิการงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน เพื่อเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของผู้ประกอบการอาเซียนที่ต้องการจะบุกตลาดจีน

“ศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน” ตั้งอยู่ในสวนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจีน(หนานหนิง)-สิงคโปร์ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง นครหนานหนิง มีพื้นที่สิ่งปลูกสร้างราว 1 ล้านตารางเมตร ปัจจุบัน โครงการเฟสแรกในส่วนของหอแสดงสินค้า (pavilion) กำลังจะแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการเตรียมคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ สินค้าแบรนด์ดัง และสินค้าโอท็อปพรีเมี่ยมเข้าไปอยู่ในศูนย์ดังกล่าว

ลักษณะการดำเนินงานของศูนย์แห่งนี้จะมุ่งเน้นจัดแสดงสินค้าในรูปแบบผสมผสานระหว่าง Online กับ Offline อีคอมเมิร์ซข้ามแดน (CBEC) โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ การจัดการหอแสดงสินค้า การค้าทางดิจิทัล และการบริการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งยังเป็นการต่อยอด “งานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน” แบบไม่มีวันปิดฉาก (never ending exhibition gallery)

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงาน CAEXPO และจะเข้าร่วมศูนย์ดังกล่าวยังมีโอกาสแบ่งปันการไหลของสินค้า (Commodities flow) การไหลของเงินทุน (Capital flow) และการไหลของข้อมูล (Data flow) ที่เกิดขึ้นจากงาน CAEXPO และยังสามารถนำสินค้าที่จัดแสดงในงาน CAEXPO นำไปจัดแสดงและจัดแสดงจำหน่ายในศูนย์ดังกล่าวได้ด้วย ในกรณีของการจำหน่ายสินค้า หากมูลค่าสินค้ายังอยู่ในโควต้าที่กำหนด จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีด้วย

บีไอซี เห็นว่า ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างโอกาสทางการค้าสินค้าและบริการระดับคุณภาพและมีศักยภาพของไทยได้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจากความสร้างสรรค์ (Creative Economy) ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ แฟชั่นและเครื่องประดับ ศิลปะและงานฝีมือ สุขภาพและคุณภาพชีวิต (Health & Wellness) สินค้า OTOP Premium แหล่งท่องเที่ยว (Thai Hospitality) วิจัยพัฒนาและเทคโนโลยี และการศึกษา เพื่อให้ผู้ที่สนใจในประเทศจีนสามารถเข้าชมและสามารถติดต่อกับผู้ประกอบการไทยได้ คาดหวังว่าศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียนจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และยกระดับขีดความสามารถของสินค้าและบริการไทยในตลาดจีนได้อีกหนึ่งช่องทาง

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
เว็บไซต์ http://www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网广西) วันที่ 27 กรกฎาคม 2565

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]