ไฮไลท์
- 30 ปีหลังการสถาปนา “ท่าเรือชินโจว” วันนี้ ท่าเรือชินโจวติดอันดับ Top50 ท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ชั้นนำระดับโลกได้เป็นครั้งแรก โดยอยู่ในอันดับที่ 47 ของโลก โดยปัจจัยที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ คือ โมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” และ Smart port ที่ใช้ระบบควบคุมอัจฉริยะในการขนถ่ายตู้สินค้าระหว่าง “เรือ+ราง” เป็นที่แรกในประเทศจีน
- โมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ได้รับความนิยมจากทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกในจีน สถิติ 6 เดือนแรก ปี 2565 พบว่า เที่ยวรถไฟขนส่งสินค้าในโมเดล “เรือ+ราง” ทั้งขาเข้าและขาออกในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี วิ่งให้บริการรวม 4,132 เที่ยว เพิ่มขึ้น 42% (YoY) ให้บริการขนส่งสินค้าแล้วมากกว่า 640 ประเภท ลำเลียงตู้สินค้ารวม 3.79 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 33.4% (YoY) และมีเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้ารวม 12 เส้นทาง ทั้งนี้ คาดว่าในสิ้นปี 2565 จะมีเที่ยวรถไฟที่วิ่งให้บริการทะลุ 7,000 เที่ยว
- ข้อได้เปรียบด้านความสะดวกรวดเร็วในการขนย้ายตู้สินค้า ช่วยให้สินค้าส่งออกจากท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพฯ และอีกกว่า 200 ท่าใน 100 กว่าประเทศ/ดินแดนทั่วโลก สามารถส่งไปที่ท่าเรือชินโจวของกว่างซี จากนั้นขนถ่ายจากเรือสินค้าไปขึ้นโบกี้รถไฟในท่าเรือชินโจวเพื่อนำสินค้ากระจายต่อไปยัง 108 สถานีใน 56 เมืองใน 16 มณฑลทั่วประเทศจีน (จากเดิม 14 มณฑล) ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว หรือจะลำเลียงออกจากประเทศจีนต่อไปถึงคาซัคสถาน รัสเซีย โปแลนด์ และเยอรมนี
- เส้นทางการเดินเรือระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบัง ปัจจุบัน มีเที่ยวเรือให้บริการสัปดาห์ละ 7 เที่ยว (เป็นเที่ยวเรือที่สามารถใช้ขนส่งผลไม้ได้ 4 เที่ยว) เที่ยวเรือที่สั้นที่สุดใช้เวลาเดินเรือเพียง 3-4 วันเท่านั้น สินค้าไทยสามารถขึ้นท่าที่ท่าเรือชินโจว และส่งขึ้นรถไฟไปยังเมืองอื่นๆ ในกว่างซี หรือกระจายต่อไปที่นครเฉิงตู นครฉงชิ่ง นครซีอาน (แป้งมันสำปะหลังจากท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเรือชินโจว – นครซีอาน ใช้เวลาขนส่งเพียง 5.5 วัน) นครสือเจียจวง ซึ่งเป็นหัวเมืองเศรษฐกิจใหม่ของจีน
หลายปีมานี้ ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ชื่อเรียกรวมของท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ หลังจากที่ได้บูรณาการท่าเรือ) มีอัตราการขยายตัวของปริมาณการขนถ่ายสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศจีน สถิติในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าสะสม 3.165 ล้าน TEUs เพิ่มขึ้น 21% (YoY)
จากข้อมูลยังพบว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เพิ่มขึ้นจาก 2,570 ล้านหยวนในปี 2562 เป็น 10,500 ล้านหยวนในปี 2564 ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าการลงทุนสูงเป็นอันดับ 3 ของท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลในประเทศจีน เส้นทางเดินเรือเพิ่มขึ้นจาก 46 เส้นทางในปี 2562 เป็น 71 เส้นทางในปัจจุบัน โดยมี “ท่าเรือชินโจว” เป็นพระเอกในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นวันคล้ายวันสถาปนา “ท่าเรือชินโจว” ครบรอบ 30 ปี ท่าเรือที่มีจุดเริ่มต้นจากท่าเทียบเรือขนาด 20,000 ตัน จนกระทั่งมีท่าเทียบเรือขนาด 300,000 ตันในปัจจุบัน เริ่มต้นจากเครนหน้าท่าที่ใช้คนงานบังคับ จนกระทั่งเป็น Smart port ที่ใช้ระบบควบคุมอัจฉริยะในการขนถ่ายตู้สินค้าระหว่าง “เรือ+ราง” เป็นที่แรกในประเทศจีน
ล่าสุด ท่าเรือชินโจวติดอันดับ Top50 ท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ชั้นนำระดับโลกได้เป็นครั้งแรก โดยอยู่ในอันดับที่ 47 ของโลก ท่านทราบหรือไม่ว่า… ทำไม “ท่าเรือชินโจว” จึงมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดดอย่างในปัจจุบัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า…โมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ โดยคำว่า “เรือ+ราง” สามารถอธิบายตัวเองได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า… โมเดลการขนส่งดังกล่าวประกอบร่างจากเรือกับรถไฟ โดยมี “ท่าเรือชินโจว” เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เชื่อมการขนส่งระหว่าง “เรือบรรทุกสินค้ากับขบวนรถไฟลำเลียงตู้สินค้า” ไว้ในบริเวณพื้นที่เดียวกัน
โมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ได้รับความนิยมจากทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกในจีน สถิติ 6 เดือนแรก ปี 2565 พบว่า เที่ยวรถไฟขนส่งสินค้าในโมเดล “เรือ+ราง” ทั้งขาเข้าและขาออกในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี วิ่งให้บริการรวม 4,132 เที่ยว เพิ่มขึ้น 42% (YoY) ให้บริการขนส่งสินค้าแล้วมากกว่า 640 ประเภท ลำเลียงตู้สินค้ารวม 3.79 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 33.4% (YoY) และมีเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้ารวม 12 เส้นทาง ทั้งนี้ คาดว่าในสิ้นปี 2565 จะมีเที่ยวรถไฟที่วิ่งให้บริการทะลุ 7,000 เที่ยว
ข้อได้เปรียบด้านความสะดวกรวดเร็วในการขนย้ายตู้สินค้า ช่วยให้สินค้าส่งออกจากท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพฯ และอีกกว่า 200 ท่าใน 100 กว่าประเทศ/ดินแดนทั่วโลก สามารถส่งไปที่ท่าเรือชินโจวของกว่างซี จากนั้นขนถ่ายจากเรือสินค้าไปขึ้นโบกี้รถไฟในท่าเรือชินโจวเพื่อนำสินค้ากระจายต่อไปยัง 108 สถานีใน 56 เมืองใน 16 มณฑลทั่วประเทศจีน (จากเดิม 14 มณฑล) ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว หรือจะลำเลียงออกจากประเทศจีนต่อไปถึงคาซัคสถาน รัสเซีย โปแลนด์ และเยอรมนี
เข้าใจง่ายๆ คือ ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้การขนส่งแบบไร้รอยต่อ “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจวของกว่างซี เพื่อการกระจายสินค้าต่อไปยัง 16 มณฑลทั่วประเทศจีนได้อย่างสะดวกง่ายดาย หรือส่งสินค้าไปเจาะตลาดเอเชียกลางและยุโรปก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “เรือ+รถไฟ” ที่ท่าเรือชินโจว คือ การขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความมีความรวดเร็ว คล่องตัว ประหยัดเวลา (ใช้เวลาสั้นลงอย่างน้อย 10 วัน เมื่อเทียบกับการขนส่งแบบเดิมที่ต้องวิธีการลำเลียงผ่านท่าเรือในหัวเมืองฝั่งตะวันออกของประเทศจีน / ยื่นสำแดงพิธีการศุลกรนำเข้า-ส่งออกแบบล่วงหน้าได้และเป็นแบบ One stop service) แถมภาครัฐยังมีนโยบายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่าย การตรึงราคาค่าขนส่งแบบราคาเดียว และลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้เท่ากับท่าเรือสากลแห่งอื่นในจีน เพื่อดึงดูดให้ผู้ค้ามาใช้บริการที่เมืองชินโจว
เส้นทางการเดินเรือระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบัง ปัจจุบัน มีเที่ยวเรือให้บริการสัปดาห์ละ 7 เที่ยว (เป็นเที่ยวเรือที่สามารถใช้ขนส่งผลไม้ได้ 4 เที่ยว) เที่ยวเรือที่สั้นที่สุดใช้เวลาเดินเรือเพียง 3-4 วันเท่านั้น สินค้าไทยสามารถขึ้นท่าที่ท่าเรือชินโจว และส่งขึ้นรถไฟไปยังเมืองอื่นๆ ในกว่างซี หรือกระจายต่อไปที่นครเฉิงตู นครฉงชิ่ง นครซีอาน (แป้งมันสำปะหลังจากท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเรือชินโจว – นครซีอาน ใช้เวลาขนส่งเพียง 5.5 วัน) นครสือเจียจวงซึ่งเป็นหัวเมืองเศรษฐกิจใหม่ของจีน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 03, 04 สิงหาคม 2565