ไฮไลท์
- เมืองหลิ่วโจวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็น 1 ใน 5 ฐานการผลิตรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน จึงกล่าวได้ว่า “รถยนต์” เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับเมืองแห่งนี้ หลายปีมานี้ เมืองหลิ่วโจวให้ความสำคัญกับการพัฒนา “รถยนต์พลังงานทางเลือก” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ (emerging industry) เพิ่มเติมจากรถยนต์สันดาปที่เป็นรากฐานเดิมของเมืองอยู่แล้ว
- บริษัท SGMW เป็นผู้ผลิตรถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำระดับโลกที่มีโรงงานตั้งอยู่ในเมืองหลิ่วโจว และเป็นธุรกิจรถยนต์ที่ทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทะลุ 1 ล้านคันได้เร็วที่สุดในโลก โดยมีรถยนต์ขนาดจิ๋ว หรือที่เรียกว่า Mini EV เป็นพระเอก ด้วยจุดเด่นในเรื่องของรูปทรงที่กระทัดรัด มีราคาถูก ขับขี่ง่าย และมีสมรรถนะสูง (คุ้มค่าเกินราคา) ตอบโจทย์การเดินทางในตัวเมือง
- กว่างซี ยังได้จัดตั้ง Guangxi Laboratory of New Energy Automobile เพื่อแสวงหาเทคโนโลยีที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของรถยนต์พลังงานทางเลือก (Breakthrough technology) โดยเฉพาะเทคโนโลยีและการผลิตเหล็กคุณภาพสูงที่ใช้ในยานยนต์ การพัฒนาฮาร์ดแวร์ซอฟแวร์ด้วยตนเอง การเชื่อมต่อกับผู้ใช้เสียง (Voice-User Interface: VUI) รวมถึงเทคโนโลยีแกนของแบตเตอรี่ โดยมี Lab ย่อยที่ได้รับอนุมัติแล้ว 4 สาขา คือ Lab วัสดุโลหะขึ้นรูป / Lab การใช้อุปกรณ์ควบคุมและชิป / Lab ระบบเสียงอัจฉริยะ และ Lab แบตเตอรี่ขับเคลื่อนและวัสดุหลัก
- ทิศทางการพัฒนาดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยด้วย จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยจะได้แสวงหาความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การนำเข้ารถยนต์พลังงานทางเลือกและการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ การสร้างตัวตนในตลาดให้อีกฝ่ายได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการต่อยอดความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทยกับกว่างซี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของทั้งสองฝ่ายต่อไปอนาคตด้วย
ยุคปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแส “รถยนต์ไฟฟ้า” หรือที่เรียกสั้นๆว่า รถ EV (Electric Vehicle) เป็นนวัตกรรมใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน โดยจุดเด่นของรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ปล่อยมลพิษสู่อากาศ ลดการสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิง และสอดรับกับนโยบายในหลายประเทศที่กำลังให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดย “จีน” ถือเป็นประเทศที่มีการผลิตและใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก
“อุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนกำลังเปลี่ยนถ่ายสู่ “รถยนต์พลังงานทางเลือก” และตลาดผู้ใช้งานก็หันมานิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับทิศทางของตลาดโลก”
เมืองหลิ่วโจว (Liuzhou City/柳州市) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็น 1 ใน 5 ฐานการผลิตรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน จึงกล่าวได้ว่า “รถยนต์” เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับเมืองแห่งนี้ หลายปีมานี้ เมืองหลิ่วโจวให้ความสำคัญกับการพัฒนา “รถยนต์พลังงานทางเลือก” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ (emerging industry) เพิ่มเติมจากรถยนต์สันดาปที่เป็นรากฐานเดิมของเมืองอยู่แล้ว
รถยนต์ไฟฟ้าได้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางความคิดจากผู้ใช้งานรถยนต์ได้ไม่น้อย เกิดเป็นกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ปัจจุบัน ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนมีการพัฒนาออกมาหลายรุ่น หลายแบบ มีระดับราคาให้เลือกซื้อได้ตามความต้องการ โดยบริษัท SGMW (上汽通用五菱) เป็นผู้ผลิตรถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำระดับโลกที่มีโรงงานตั้งอยู่ในเมืองหลิ่วโจว และเป็นธุรกิจรถยนต์ที่ทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทะลุ 1 ล้านคันได้เร็วที่สุดในโลก (เมื่อ 8 สิงหาคม 2565 ยอดขายสะสมทะลุ 1 ล้านคัน)
รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็น “พระเอก” ของบริษัท SGMW คงหนีไม่พ้นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดจิ๋ว Wuling Hongguang MINI EV หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “อู่หลิง หงกวาง” (五菱宏光) ด้วยรูปทรงที่กระทัดรัด มีราคาถูก ขับขี่ง่าย และมีสมรรถนะสูง (คุ้มค่าเกินราคา) ตอบโจทย์การเดินทางในตัวเมือง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ได้รับความนิยมจากชาวจีนรุ่นใหม่ จากข้อมูลในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565 รถยนต์รุ่นนี้สามารถทำยอดขายได้มากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก และรถยนต์รุ่นนี้ทำยอดขายสูงสุดในจีนประจำเดือนมิถุนายน 2565 ด้วยจำนวน 39,798 คัน เพิ่มขึ้น 36.6% (YoY) มากกว่าอันดับ 2 จากค่าย BYD รุ่น Qin ที่ขายได้ 26,383 คัน และอันดับ 3 จากค่าย Tesla รุ่น Model 3 ที่ขายได้ 25,788 คัน
auto.ifeng.com
การที่รถยนต์ไฟฟ้าประสบความสำเร็จได้ในประเทศจีนนั้น การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนเป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งในด้านภาษีและเงินอุดหนุน จุดชาร์จไฟ และการบริการหลังการขาย ทำให้ชาวจีนไม่ลังเลที่จะลองซื้อรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ มาใช้งาน
ปัจจุบัน เมืองหลิ่วโจวได้กำหนดแผนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้มีความครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ นอกจากรากฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งแล้ว หัวใจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของเมืองหลิ่วโจวอยู่ที่ R&D หรือ “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์” (อุตสาหกรรมขั้นปลายน้ำ) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยรองรับ สนับสนุน และต่อยอดนวัตกรรรมในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้เดินหน้าสู่โลกอนาคต
กล่าวได้ว่า บริษัท SGMW เป็นภาพย่อส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของเมืองหลิ่วโจว ความเคลื่อนไหวของบริษัท SGMW ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่น่าติดตามในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ ล่าสุด บริษัท SGMW ได้กำหนด “กลยุทธ์การพัฒนาพลังงานทางเลือก 125” (หมายถึง 1 แพลตฟอร์ม / 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการผลิตล้านหยวน / 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการผลิตหมื่นล้านหยวน)
กล่าวคือ บริษัท SGMW ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก “ห้องปฏิบัติการยานยนต์พลังงานทางเลือกกว่างซี” (เป็นแพลตฟอร์มเปิดที่ประสานองค์กรภาครัฐ ภาคการผลิต ภาควิชาการ ภาคการวิจัย และภาคการประยุกต์ใช้ไว้ด้วยกัน) เป็นตัวขับเคลื่อนและพัฒนา 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการผลิตล้านหยวน (รถยนต์ไฟฟ้า และรถไฮบริด) และ 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการผลิตหมื่นล้านหยวน (แบตเตอรี่ ควบคุมระบบไฟฟ้า ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หุ่นยนต์ และการบริการเชิงพาณิชย์)
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ด้วยการสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชน บริษัท SGMW ได้เปิดตัว “ห้องปฏิบัติการยานยนต์พลังงานทางเลือกกว่างซี” หรือ Guangxi Laboratory of New Energy Automobile คาดว่ามีมูลค่าการลงทุน 10,200 ล้านหยวน โดยจะเป็นแพลตฟอร์มการแบ่งปัน 5 สาขา คือ แพลตฟอร์มความร่วมมือข้ามวงการ (บูรณาการการทำงานในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังงานทางเลือก) แพลตฟอร์มการพัฒนาสู่ดิจิทัล แพลตฟอร์มการประสานความร่วมมือในห่วงโซ่อุตสาหกรรม แพลตฟอร์มการพัฒนาระหว่างแวดวงวิชาการกับแวดวงอุตสาหกรรมการผลิต และแพลตฟอร์มการแบ่งปันทรัพยากร
ปัจจุบัน มีห้องปฏิบัติการย่อยที่ได้รับอนุมัติจัดตั้งแล้ว 4 สาขา คือ (1) ห้องปฏิบัติการวัสดุโลหะขึ้นรูป (2) ห้องปฏิบัติการใช้อุปกรณ์ควบคุมและชิป (3) ห้องปฏิบัติการระบบเสียงอัจฉริยะ และ (4) ห้องปฏิบัติการแบตเตอรี่ขับเคลื่อนและวัสดุหลัก (key materials) โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของรถยนต์พลังงานทางเลือก (Breakthrough technology) โดยเฉพาะเทคโนโลยีและการผลิตเหล็กคุณภาพสูงที่ใช้ในยานยนต์ การพัฒนาฮาร์ดแวร์ซอฟแวร์ด้วยตนเอง การเชื่อมต่อกับผู้ใช้เสียง (Voice-User Interface: VUI) รวมถึงเทคโนโลยีแกนของแบตเตอรี่
บีไอซี เห็นว่า การส่งเสริมนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) และแนวโน้มเทรนด์การใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกกำลังมาแรง กลายเป็น key industrial sector ที่น่าจับตามองของกว่างซี โดยมีเมืองหลิ่วโจว เมืองกุ้ยก่าง และนครหนานหนิง เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของกว่างซี
ที่สำคัญ ทิศทางการพัฒนาดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยด้วย จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยจะได้แสวงหาความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การนำเข้ารถยนต์พลังงานทางเลือกและการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ การสร้างตัวตนในตลาดให้อีกฝ่ายได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการต่อยอดความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทยกับกว่างซี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของทั้งสองฝ่ายต่อไปอนาคตด้วย
.
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 10 สิงหาคม 2565
เว็บไซต์ www.cet.com.cn (中国经济新闻网) วันที่ 05 สิงหาคม 2565
เว็บไซต์ https://cleantechnica.com