• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • RCEP โอกาสใหม่ของ “ฉางอันห้าว” – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

RCEP โอกาสใหม่ของ “ฉางอันห้าว” – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ผู้อ่านหลายท่านอาจคุ้นเคยกับ “ฉางอันห้าว” หรือ “Chang-An Express” ดีว่า คือ เส้นทางการขนส่งสินค้านานาชาติของนครซีอานที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นกลไกสำคัญในการขนส่งสินค้าสู่ทวีปยุโรปของจีนด้วยความเป็นที่สุดใน 5 ด้าน หรือ“5 ที่สุด (5 Most)” ได้แก่ ขนส่งทางรางสู่ยุโรปเร็วที่สุด (the fastest time efficiency), เครือข่ายที่ทั่วถึงที่สุด (the widest route radiation), มีระบบติดตามการขนส่งอัจฉริยะที่ฉลาดที่สุด (the highest degree of intelligence), ต้นทุนค่าขนส่งย่อมเยาที่สุด (the lowest comprehensive cost) และมีรูปแบบการให้บริการที่ครบครันที่สุด (the most complete service functions)

อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์โลกปัจจุบันที่ผันผวนทั้งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์การสู้รบในยูเครน ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยในการขนส่งสินค้า ทำให้ “ฉางอันห้าว” ต้องหันมาให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น กับการโครงข่ายการขนส่งหลากหลายรูปแบบ (multi-modal transportation) อันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก หรือที่เรียกว่า New International Land and Sea Trade Corridor โดยร่วมมือกับท่าเรือที่เขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอานเป็นพันธมิตรอยู่รวมทั้งใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือของคณะทำงานร่วมการขนส่งทางรถไฟจีน-ยุโรปรถไฟเจ็ดประเทศอย่างเต็มที่ ทำให้ในปีนี้ได้เปิดเส้นทางการขนส่งทางรถไฟและทางทะเลใหม่จากเมืองต่าง ๆ อาทิ จากนครซีอานและนครฉงชิ่งไปยังคอนสแตนตา โรมาเนีย ผ่านทะเลดำและทะเลแคสเปียน และส่งผลให้ “ฉางอันห้าว” สามารถเดินขบวนรถไฟขนส่งสินค้าครบขบวนที่ 10,000 ของปี 2565 ได้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม (โดยเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจากนครซีอานไปยังนครฮัมบูร์ก เยอรมนี) เร็วขึ้นกว่าปี 2564 10 วัน โดยเป็นการขนส่งสินค้าหนักมาถึงร้อยละ 98.4

ฉางอันห้าว” กับรถไฟจีน-ลาว และ New International Land and Sea Trade Corridor

นอกจากนี้ “ฉางอันห้าว” ยังได้เริ่มมองหาช่องทางการขนส่งลงใต้ เพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยใช้ประโยชน์จากโครงข่ายรถไฟจีน-ลาว โดยภายหลังการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการของรถไฟจีน-ลาว เมื่อเดือนธันวาคม 2564 นครซีอานได้เริ่มหันมาใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 นครซีอาน ได้ปล่อยขบวนรถไฟขนส่งสินค้ารอบปฐมฤกษ์สู่นครหลวงเวียงจันทน์ โดยบรรทุกผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ ออกจากเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอาน (Xi’an International Trade and Logistics Park หรือเรียกโดยย่อว่า ITL) ใช้เวลาการขนส่งเพียง    5 วัน ถือเป็นครั้งแรกของมณฑลส่านซีที่มีการใช้ประโยชน์จากรถไฟจีน-ลาวในการส่งออกสินค้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 นครซีอานได้เริ่มขนส่งแป้งมันสำปะหลังจากท่าเรือแหลมฉบังไทย ผ่านท่าเรือชินโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง สู่นครซีอานด้วยการขนส่งทางราง โดยใช้เวลาเพียง 5.5 วัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 “ฉางอันห้าว” ได้เปิดตัวเส้นทางขนส่งสินค้าโดยขนส่งสินค้าจำพวกน้ำตาลทราย เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน สิ่งทอ และอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์  จากท่าเรือเมืองไฮฟอง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 และเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของภาคเหนือของประเทศเวียดนาม ผ่านนครซีอาน ส่งต่อไปยังอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน โดยบรรทุกสินค้าทางเรือจากเมืองไฮฟอง ไปยังท่าเรือชินโจว ในเขตฯ กว่างซีจ้วง จากนั้นจึงขึ้นบกขนถ่ายสินค้าสู่ระบบรางผ่านนครฉงชิ่งสู่นครซีอาน เพื่อขนส่งต่อไปยังประเทศคาซัคสถาน รวมระยะทาง 5,966 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งประมาณ 14 วัน เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงภาพรวมการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อของจีน และสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของนครซีอานในการเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างประเทศจากอาเซียนสู่เอเชียกลางและทวีปยุโรป

เขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอาน : ด่านคืนภาษีสินค้าส่งออกทางราง

จากการที่นครซีอานมีบทบาทเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางราง ดังนั้น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงพาณิชย์จีนร่วมกับศุลกากรแห่งชาติจีน จึงได้ประกาศให้ด่านขนส่งสินค้าระหว่างประเทศภายในเขตโลจิสติกสน์นานาชาตินครซีอาน เป็นพื้นที่แรกในจีนที่สามารถดำเนินเรื่องขอคืนภาษี ณ ด่านสินค้าทางรางขาออกได้ซึ่งถือเป็นการย่นเวลาการพิจารณาและอำนวยความสะดวกให้แก่วิสาหกิจผู้ส่งออกสินค้าให้สามารถยื่นเรื่องได้ทันทีเมื่อขนส่งสินค้าทางรางออกจากด่าน  (จากเดิมที่ต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีต่อสรรพกรและต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือนในการพิจารณาและคืนภาษี)

ต่อมาในวันที่ 29 เมษายน 2565 เส้นทางขนส่งสินค้าทางรางจากนครซีอาน ได้ส่งออกสินค้าทอและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง มูลค่า 224,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผ่านอ่าวเป่ยปู้ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยผู้ส่งออกได้รับคืนภาษีส่งออกสูงถึง 180,000 หยวนภายในระยะเวลาเพียง 2-3 วันภายหลังการส่งออก ถือเป็นการขนส่งสินค้าหลากหลายรูปแบบเที่ยวแรกที่ใช้นโยบายการขอคืนภาษีที่ท่าสินค้าขาออก ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการหมุนเวียนเงินทุนของธุรกิจและผู้ประกอบการ กระตุ้นตลาด ตลอดจนเพิ่มแรงจูงใจในการด้านการค้าระหว่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากการอนุมัติให้เป็นด่านสินค้าขาออกที่สามารถยื่นขอคืนภาษีได้แล้ว นครซีอานยังได้ใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลง RCEP ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศภาคีอีกด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลจากศุลกากรนครซีอานระบุว่า ภายหลัง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ศุลกากรกวนจง (ศุลกากรท้องถิ่นในนครซีอาน) ได้ออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP ไปแล้ว 6,300 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 3,800 ล้านหยวน ซึ่งมีส่วยช่วยให้วิสาหกิจส่งออกได้รับเงินคืนภาษีกว่า 187 ล้านหยวน

ไทยกับ RCEP และเส้นทางส่งออกสินค้าสู่จีน เอเชียกลาง และยุโรป

เป็นที่ทราบกันดีว่า จีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการคมนคมขนส่ง โดยเฉพาะเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางราง ซึ่งนั่นก็ได้กลายเป็นจุดแข็งของจีนภายใต้ความร่วมมือ RCEP (นอกเหนือไปจากการเป็นตลาดส่งออกสินค้าขนาดใหญ่) ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว ได้แก่ เส้นทางรถไฟมอมบาซา-ไนโรบี เคนยา, เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ส่วนเส้นทางที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ เส้นทางรถไฟจีน-ไทย, เส้นทางรถไฟความเร็วสูงบันดุง-จาการ์ตาในอินโดนีเซียและมีเส้นทางซึ่งถือเป็น key project ของจีน คือ เส้นทางรถไฟมอสโก-คาซาน ในรัสเซีย, เส้นทางรถไฟความเร็วสูงมาเลเซีย-สิงคโปร์ และเส้นทางรถไฟแทนซาเนีย-แซมเบีย

ในส่วนของนครซีอาน มณฑลส่านซี ภายหลังจากเริ่มมองหาช่องทางการขนส่งลงใต้ เพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตระหนักถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของตลาดในแถบอาเซียน โดยเฉพาะภายหลังจากที่ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ ทำให้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ศูนย์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน กรมระหว่างประเทศของคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (The China Economic Cooperation Center of the International Department of the CPC Central Committee) และสำนักงานการต่างประเทศมณฑลส่านซี ได้ร่วมกันจัดการประชุมแบบออนไลน์ในหัวข้อ Conference on Coordinated Regional Cooperation under RCEP Framework โดยได้เชิญนางสาวสุรีย์ ไตรรัตนนุกูล กงสุลใหญ่ ณ นครซีอานเข้าร่วมกล่าวปาฐกถาด้วย กงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน ได้กล่าวปาถกฐา มีใจความโดยสรุปว่า RCEP จะมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและของภูมิภาคที่กำลังประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทุกด้าน รวมถึงการคมนาคมขนส่งสินค้าซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเพิ่มมูลค่าการค้าในภูมิภาค และไปสู่การนำการขนส่งหลากหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) มาใช้ นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกการขนส่งสินค้าที่เกิดขึ้นล่าสุด คือ การขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งสอดคล้องกับการหารือระหว่าง ฯพณฯ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กับ ฯพณฯ หวังอี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ที่กล่าวถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาตร์และคมนาคม โดยท่านหวัง อี้ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งหวังในการขยายเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟไทย-จีน ลงไปจนถึงมาเลซียได้ เพื่อให้เกิดเส้นทาง Pan-Asia Railway ที่สมบูรณ์ จึงคาดหวังว่า ในอนาคตอันใกล้ สินค้าจากไทยและอาเซียน จะสามารถขนส่งต่อไปทั่วประเทศจีนด้วยโครงข่ายเส้นทางรถไฟของจีน หรือส่งออกต่อไปยังประเทศในเอเชียกลาง และยุโรป โดยบูรณาการเข้ากับเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป หรือ “ฉางอันห้าว” จึงหวังที่จะได้เห็นส่านซีมีบทบาทในโครงข่ายการคมนาคมขนส่งไทย-จีน โดยเป็นข้อต่อสำคัญในการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสาย Pan-Asia เข้ากับเส้นทางรถไฟสายจีน-ยุโรป และภายใต้ RCEP นครซีอานสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของประเทศสมาชิก RCEP และประเทศในยุโรปได้ พร้อมทั้งได้เน้นย้ำว่า ภายใต้ RCEP จะไม่มีผู้ชนะหรือผู้แพ้ทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก RCEP ไม่ใช่เกมที่ไม่มีผลรวม (zero sum game) แต่เป็นกลไกในการขยายและกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในหมู่ประเทศสมาชิก

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

1.https://baijiahao.baidu.com/s?id=1725178234341622322&wfr=spider&for=pc&searchword=%E8%A5%BF%E5%AE%89%E5%88%B0%E9%92%A6%E5%B7%9E%E5%88%B0%E6%B3%B0%E5%9B%BD

2. https://baijiahao.baidu.com/s?id=1730794320969088107&wfr=spider&for=pc

3.https://baijiahao.baidu.com/s?id=1731453446808710558&wfr=spider&for=pc

4.https://esb.sxdaily.com.cn/pc/content/202206/21/content_786017.html

5.http://www.news.cn/local/2022-04/21/c_1128582032.htm

6.https://www.ditp.go.th/contents_attach/659122/659122.pdf

7. https://mp.weixin.qq.com/s/hEVU3ObuijNzsB07cyM5Rg

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]