จำนวนประชากรวัยทำงานลดลงและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้นทุนแรงงานในจีนเพิ่มขึ้นและเป็นสาเหตุที่บริษัททุนต่างชาติบางส่วนย้ายภาคการผลิตออกจากจีน สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุยังคงจะเป็นแนวโน้มในระยะยาวของการพัฒนาสังคมจีน
สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นความท้ายทายด้านการดูแลผู้สูงอายุของครอบครัวในจีน รวมทั้งเพิ่มแรงกดดันของระบบการให้บริการสาธารณะและการจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าวกลับเป็นโอกาสในการพัฒนาของธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพ และธุรกิจด้านทรัพยากรบุคคล
ธุรกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคลของนครฉงชิ่ง
ธุรกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคล (人力资源服务业/Human resource service industry) เป็นธุรกิจเฉพาะทางที่ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน การพัฒนาทักษะอาชีพของแรงงาน รวมถึงการสรรหาบุคลากร การประเมินความสามารถ การจัดส่งแรงงาน การให้คำปรึกษาด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล บริการซอฟต์แวร์ข้อมูลทรัพยากรบุคคล
ณ ปลายปี 2564 นครฉงชิ่งมีวิสาหกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคลทั้งหมด 2,846 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน 28,500 คน มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมด 61,805 ล้านหยวน มีแรงงานใช้บริการทั้งหมด 12.559 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.2 เมื่อเทียบกับปี 2563 จัดหางานให้แรงงานทั้งหมด 3.645 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับปี 2563
ธุรกิจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเสถียรภาพในการจ้างงานในนครฉงชิ่ง โดยในไตรมาส 2 ของปี 2565 สำนักงานทรัพยากรบุคคลและประกันสังคมนครฉงชิ่งเปิดเผยว่า สถานการณ์การจ้างงานในนครฉงชิ่งมีความมั่นคง โดยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 มีตำแหน่งใหม่ 401,000 ตำแหน่งและมีอัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.4
ธุรกิจดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมากต่อระบบอุตสาหกรรมของนครฉงชิ่ง โดยทำให้วิสาหกิจสามารถจ้างแรงงานได้อย่างสะดวก และจ้างแรงงานที่มีทักษะที่เหมาะสมตามตำแหน่งของงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาแรงงานและการบรรลุอัตราการว่างงานไม่เกินร้อยละ 5.5 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี (2564-2568) ฉบับที่ 14
การดำเนินงานส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจบริการด้านทรัพยากรมนุษย์ในยุคใหม่
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 สำนักงานทรัพยากรบุคคลและประกันสังคมนครฉงชิ่งได้ออก “แผนการดำเนินงานส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจบริการด้านทรัพยากรมนุษย์ในยุคใหม่” ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในนครฉงชิ่งรวม 12 หน่วยงาน อาทิ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูป สำนักงานเทคโนโลยี คณะกรรมการข้อมูลเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจ สำนักการเงิน คณะกรรมการพาณิชย์ สำนักงานกำกับดูแลการตลาด สำนักงานสถิติ สำนักงานกำกับดูแลการเงิน และสำนักงานภาษีอากร ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนฝ่ายปฏิบัติงาน เพื่อกำหนดแนวคิด หลักการพื้นฐาน เป้าหมายการพัฒนา และภารกิจสำคัญ ฯลฯ ของการพัฒนาธุรกิจบริการด้านทรัพยากรมนุษย์ในนครฉงชิ่ง
แผนการดำเนินงานดังกล่าว กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาไว้ ดังนี้ 1) ภายในปี 2566 นครฉงชิ่งจะต้องมีรายได้จากธุรกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคลถึง 1 แสนล้านหยวน 2) ภายในปี 2568 นครฉงชิ่งจะต้องมีรายได้จากธุรกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคลถึง 1.5 แสนล้านหยวน มีวิสาหกิจ 3,500 ราย ซึ่งในจำนวนนั้นต้องเป็นวิสาหกิจที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านหยวนมากกว่า 100 ราย ผลักดันให้วิสาหกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคล 1-2 รายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ 1-2 แห่ง และผลักดันวิสาหกิจชั้นนำขึ้นเป็นแบบอย่างระดับโลก รวมถึงก่อตั้งตลาดทรัพยากรบุคคลระดับชาติ 1-2 แห่งและระดับเมือง 5 แห่ง
แผนการดำเนินงานดังกล่าวกำหนดภารกิจสำคัญ 6 ประการ ดังนี้
ประการที่ 1 การสนับสนุนวิสาหกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคลคุณภาพดี มอบเงินสนับสนุนจำนวน 500,000 – 1,500,000 หยวน ให้กับวิสาหกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคลที่จดทะเบียนขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด
ประการที่ 2 การยกระดับวิสาหกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคลขนาดกลางและขนาดย่อม การอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน รวมถึงการจ่ายเงินสมทบดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับวิสาหกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคลขนาดกลางและขนาดย่อม
ประการที่ 3 การพัฒนานวัตกรรมใหม่ในสาขาธุรกิจ ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่วิสาหกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคลที่ดำเนินงานภายใต้เทคโนโลยีขั้นสูง
ประการที่ 4 การสร้างแพลตฟอร์มในสาขาธุรกิจ มอบเงินอุดหนุนให้กับโครงการก่อตั้งศูนย์รวมธุรกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคล และการก่อตั้งศูนย์จัดหางาน-แลกเปลี่ยนทรัพยากรบุคคลระดับเมืองและระดับชาติ
ประการที่ 5 การบ่มเพาะบุคลากรชั้นนำ การฝึกอบรมบุคลากรชั้นนำ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงจัดการแข่งขันทักษะการบริการด้านทรัพยากรบุคคล เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความสามารถระดับมืออาชีพ
ประการที่ 6 การสร้างกลไกตลาดประสิทธิภาพสูง การกำกับดูแลศูนย์จัดหางาน-แลกเปลี่ยนทรัพยากรบุคคล การออกแบบระบบการคิดคำนวณคะแนนความน่าเชื่อถือระหว่างวิสาหกิจและบุคลากร รวมถึงการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลบุคลากร
กําลังแรงงานเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของทุกประเทศ โดยเฉพาะในกระบวนการผลิตทุกภาคอุตสาหกรรม ทั้งภาคเกษตร การผลิตและการบริการ สถานการณ์การขาดแคลนกำลังคนที่ไทยเผชิญอยู่ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญคือ การเป็นสังคมผู้สูงวัย ผลิตภาพแรงงานที่ตกต่ำลงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศขาดกำลังคนทั้งในเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และเชิงภูมิศาสตร์ที่จำเป็นจะต้องมีการบูรณาการความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาร่วมกันในทุกมิติ รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูงขึ้น และรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะขึ้นในระยะข้างหน้าและการพัฒนาแห่งอนาคต
รัฐบาลไทยและรัฐบาลนครฉงชิ่งต่างเห็นความสำคัญของกำหนดแผน กลยุทธ์ และมาตรการต่าง ๆ ในการพัฒนากำลังคนและส่งเสริมการจ้างงาน แผนและมาตรการในการส่งเสริมวิสาหกิจการบริการด้านทรัพยากรบุคคลของรัฐบาลนครฉงชิ่งจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชนในการพัฒนากำลังคน ส่งเสริมการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงาน ลดจำนวนผู้ว่างงานในสังคม ลดช่องว่างในตลาดแรงงาน และจัดสรรทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ทางการของสำนักข่าว ChongqingNews (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565)
http://cq.cqnews.net/html/2022-08/30/content_1014212232217501696.html
เว็บไซต์ทางการของกรมการจัดหางาน (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565)
https://www.google.co.th/urlsa=t&source=web&rct=j&url=https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/lmia_th/498391d8154f6237d5db6b423d5f1b85.pdf&ved=2ahUKEwi4q9j0pof6AhXPwosBHZkCARYQFnoECDIQAQ&usg=AOvVaw2FbGK_QmkAK71aAB1OnpAF