ภาพจาก:China Daily
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2565 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ครั้งที่ 20 อย่างเป็นทางการ ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง โดยกล่าวสรุปผลงานด้านเศรษฐกิจจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2555-2564) และแนวทางนโยบายเศรษฐกิจ ดังนี้
1. สรุปผลงานด้านเศรษฐกิจจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2555 – 2564)
ตรงกับช่วงการปฏิบัติงานของ คกก. กลาง พคจ. ชุดที่ 18 และ 19 โดยมีนายสี จิ้นผิง เป็น ปธน. จีนตั้งแต่ปี 2555
1.1 ผลิตภัณฑ์ทมวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 114 ล้านล้านหยวนจากเดิม 54 ล้านล้านหยวน ซึ่งจัดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยเศรษฐกิจจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.5 ของเศรษฐกิจโลก เพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 11.3 เมื่อปี 2555
1.2 GDP เฉลี่ยต่อหัวของจีนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 81,000 หยวนจากเดิม 39,800 หยวน
1.3 ประชาชนในเขตชนบทเกือบ 100 ล้านคน และอำเภอยากจน 832 แห่งของจีนได้หลุดพ้นจากภาวะความยากจน ซึ่งจีนได้บรรลุเป้าหมายการเข้าสู่ “สังคมกินดีอยู่ดี” อย่างรอบด้าน
1.4 จีนเป็นประเทศคู่ค้าหลักของมากกว่า 140 ประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลก โดยมียอดมูลค่าการค้าสินค้ามากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก
1.5 มูลค่าการดึงดูดทุนต่างชาติและมูลค่าการลงทุนของจีนในต่างประเทศจัดอยู่ในอันดับต้นของโลก
1.6 ปริมาณการผลิตธัญพืชและอาหารของจีนมากเป็นอันดับ 1 ของโลก
1.7 ภาคอุตสาหกรรมของจีนมีขนาดที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของโลก
1.8 ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนมากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก
1.9 เทคโนโลยีหลัก (core technology) และอุตสาหกรรมใหม่เชิงยุทธศาสตร์ส่วนหนึ่งของจีนประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดด อาทิ การบินอวกาศ โครงการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ การผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ และชีวการแพทย์
2. แนวทางนโยบายเศรษฐกิจ
ระยะ 5 ปีต่อจากนี้มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสู่เป้าหมายช่วงที่ 1 (2563 – 2578) ของการให้จีนก้าวขึ้นมาเป็น key innovative country และเป้าหมายช่วงที่ 2 (2578 – 2593) ของการให้จีนเป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย โดยมีแนวทางนโยบายที่สำคัญ ดังนี้
2.1 “การพัฒนา” เป็นหัวใจของการกำหนดแนวทางนโยบายเศรษฐกิจโดย (1) “การพัฒนา” (development) เป็นภารกิจอันดับต้นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการฟื้นฟูประเทศจีน และ (2) “การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง” (high-quality development) เป็นภารกิจอันดับต้นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาจีนสู่การเป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัยอย่างรอบด้าน
2.2 หัวข้อหลักของแนวทางนโยบายเศรษฐกิจ ได้แก่ การเร่งสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ผ่านเศรษฐกิจวงจรคู่ (Dual Circulation) และผลักดันการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง (high-quality Development)
2.2.1 เศรษฐกิจวงจรคู่ (Dual Circulation)
(1) วงจรในประเทศ จีนมีภารกิจหลัก อาทิ (1) การสร้างระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมที่สมบูรณ์แบบ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ ธุรกิจภาคเอกชน และบริษัททุนต่างชาติ (2) การขยายอุปสงค์ในประเทศและการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจด้านอุปทาน (supply-side structural reform) (3) การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมที่ทันสมัย โดยจะสร้างจีนเป็นประเทศที่แข็งเกร่งทางด้านอุตสาหกรรมการผลิต คุณภาพสินค้า การบินและอวกาศ การคมนาคม อินเทอร์เน็ต และดิจิทัล (4) การผลักดันการฟื้นฟูชนบทอย่างรอบด้าน รวมทั้งป้องปรามไม่ให้ประชาชนที่หลุดพ้นจากภาวะยากจนแล้วกลับสู่ภาวะความยากจนอีกครั้ง ตลอดจนการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร (5) การผลักดันการพัฒนาอย่างสมดุลระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ของจีน และ (6) การยกระดับความยืดหยุ่นและความมั่นคงของห่วงโซ่ธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานของจีน
(2) วงจรนอกประเทศ โดยจีนมีภารกิจหลัก อาทิ (1) การส่งเสริมการเปิดประเทศที่มีคุณภาพสูง โดยเน้นการเปิดประเทศด้านกฎระเบียบและมาตรฐานต่าง ๆ (institutional opening up) (2) การเร่งพัฒนาให้จีนเป็นประเทศการค้าที่แข็งเกร่ง (3) การผลักดันการร่วมกันสร้างขอริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) ที่มีคุณภาพสูง และ (4) การรักษา ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพและในหลากหลายรูปแบบ
2.2.2 การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง (high-quality development)
(1) ยืนหยัดให้เทคโนโลยีเป็นกำลังผลิตอันดับแรก บุคลากรเป็นทรัพยากรอันดับแรก และนวัตกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนอันดับแรกในการพัฒนาเศรษฐกิจจีน
(2) การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อาทิ การขยายกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ปานกลาง การส่งเสริมการจ้างงาน การพัฒนาระบบประกันสังคมที่สมบูรณ์แบบ การรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการยกระดับความสามารถในการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง เพื่อบรรลุเป้าหมายการเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (common prosperity)
(3) การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม การผลักดันการประหยัดพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนตามเป้าหมายคาร์บอนคู่ของจีน การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ทางดิน และทางน้ำ และการมีส่วนร่วมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก
ที่มาของข้อมูล
http://guoqing.china.com.cn/2022-10/17/content_78469784.htm
http://www.news.cn/politics/cpc20/zb/2022zfwesdzb/kmh/wzsl.htm