• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เมืองก้านโจวเริ่มเปิดบริการรถไฟรางแม็กเลฟซึ่งผลิตจากแม่เหล็กถาวรจากแร่ธาตุหายากสายแรกของโลก

เมืองก้านโจวเริ่มเปิดบริการรถไฟรางแม็กเลฟซึ่งผลิตจากแม่เหล็กถาวรจากแร่ธาตุหายากสายแรกของโลก

เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 อำเภอซินโก่ว เมืองก้านโจวเริ่มใช้รถไฟรางแม็กเลฟ (Maglev) ซึ่งผลิตจากแม่เหล็กถาวรจากแร่ธาตุหายากในระยะทาง 800 เมตร โดยขบวนรถไฟสายนี้ถูกเรียกขานในนามว่า “ขบวนซินโก่ว” หรือ “รางแดง” (Red Rail) ซึ่งเป็นรางรถไฟรูปแบบใหม่กล่าวคือ มีการใช้เทคโนโลยีแม็กเลฟที่ใช้แม่เหล็กถาวร (Permanent magnet) ที่ผสมผสานวัสดุจากแร่ธาตุหายากแทนการใช้แม่เหล็กไฟฟ้าเป็นครั้งแรกของโลก โดยระบบการทำงานของรางรถไฟจะใช้เทคโนโลยีการลอยตัวของแม่เหล็กถาวรและเทคโนโลยีขั้นสูงในการยกตัวรถไฟขึ้นไปให้ลอยสูงจากราง และสร้างแรงขับให้ตัวรถไฟเคลื่อนที่ไปตามรางโดยไม่ต้องจ่ายไฟฟ้า นอกจากนี้ การเพิ่มแร่ธาตุหายากลงในรางแม่เหล็กถาวรยังช่วยยืดอายุการใช้งานของรางรถไฟได้อย่างมาก สามารถลดการสูญเสียสนามแม่เหล็กให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 5 ในระยะเวลา 100 ปี สามารถทดแทนรถไฟใต้ดินและรถไฟฟ้ารางเบาเพื่อใช้งานได้ในหลายสถานที่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรม สถานที่ท่องเที่ยวจุดเชื่อมต่อท่าอากาศยาน ตลอดจนในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมพิเศษ เช่น พื้นที่แห้งแล้งหรือพื้นที่หนาวเย็นสูง เนื่องจากมีคุณสมบัติความทนทานสูง

รถไฟรางแม็กเลฟ เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจียงซีในปี 2558 ต่อมาในปี 2561 มหาวิทยาลัย Science and Technology มณฑลเจียงซีร่วมมือบริษัท China Railway Group จำกัด ผู้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟลอยฟ้าชั้นนำของจีน ช่วยส่งเสริมให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีรถไฟลอยฟ้าแห่งที่ 3 ของโลก ต่อจากเยอรมนีและญี่ปุ่น

รถไฟรางแม็กเลฟแม่เหล็กถาวรจากแร่ธาตุหายาก “ขบวนซินโก่ว” ที่อำเภอซินโก่ว เมืองก้านโจว

รถไฟ “รางแดง” สามารถรองรับผู้โดยสาร 88 คน สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รางวิ่งสูงเหนือพื้น 10 เมตร มีความได้เปรียบด้านการใช้เทคโนโลยีที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานในการเดินรถได้ร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับการใช้รางที่มีแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นวัสดุประกอบ นอกจากนี้ ยังมีรัศมีวงเลี้ยวที่เล็ก สามารถขับเคลื่อนในที่ลาดชั้นและขึ้นภูเขาได้อย่างดีเยี่ยม มีเสียงรบกวนต่ำ และใช้ต้นทุนในการก่อสร้างต่ำ โดยค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างคิดเป็น 1 ใน 5 ของค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างรถไฟใต้ดิน ต่อไป รัฐบาลอำเภอซินโก่วจะให้ความสำคัญกับการสร้างรถไฟรางแม็กเลฟแม่เหล็กถาวรจากแร่ธาตุหายากในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอ ขณะที่เมืองก้านโจวเป็นเมืองแห่งแร่ธาตุหายากของจีน โดยมีทรัพยากรแร่ธาตุหายาก เช่น นีโอดิเมียม (Neodymium) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของการผลิตแม่เหล็กถาวรมากที่สุดในโลก โดยการผลิตรถไฟรางแม็กเลฟแต่ละขบวนจะใช้ปริมาณแร่ธาตุหายาก 50 – 100 ตันต่อกิโลเมตร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมแม่เหล็กถาวรหายากของมณฑลเจียงซีอีกด้วย

โดยสรุป รถไฟรางแม็กเลฟแม่เหล็กถาวรจากแร่ธาตุหายากได้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์หลายสาขา อาทิ วัสดุแม่เหล็กถาวร การขนส่งทางรถไฟ AI และโทรคมนาคม และคาดว่าจะกลายเป็นระบบการคมนาคมแห่งอนาคตเนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยจึงควรพิจารณาโอกาสในการศึกษานวัตกรรมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแม็กเลฟแม่เหล็กถาวรจากแร่ธาตุหายากของมณฑลเจียงซีเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาวิศวกรรมขนส่งทางรางและระบบคมนาคมของไทยได้

แหล่งอ้างอิง https://v.jxcn.cn/system/2022/08/16/019746061.shtml

http://news.cnhubei.com/content/2022-08/09/content_14968357.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]