พัฒนาการล่าสุด ขนส่ง ‘เรือ+ราง’ ปีนี้ ทะลุ 7,000 เที่ยวแล้ว

 

หลายปีมานี้ ประเทศจีนมุ่งเน้นการพัฒนา “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือ ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor / 国际陆海贸易新通道) ซึ่งเป็น ‘ช่องทางการค้าและการขนส่งใหม่’ ที่เชื่อมจีนตะวันตกกับประเทศสมาชิกกรอบ RCEP ที่มีความสะดวกและรวดเร็วที่สุด โดยหัวใจสำคัญของระเบียง ILSTC คือ โมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง”

ย้อนมอง โมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ปี 2564 มีสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้

  • สินค้าที่ขนส่งทางเรือสามารถขึ้นรถไฟไปยัง 91 สถานีใน 47 เมืองใน 13 มณฑลทั่วประเทศ และสามารถเชื่อมกับ China-Europe Railway Express แบบไร้รอยต่อ
  • มณฑลตามแนวเส้นทางรถไฟมีการก่อสร้าง “ท่าเรือบก” (Inland port) แล้วจำนวน 15 แห่ง และมีแผนจะก่อสร้างเพิ่มอีก 7 แห่ง
  • เที่ยวขบวนรถไฟในโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” เพิ่มขึ้นจาก 178 เที่ยวในปี 2560 เป็น 6,117 เที่ยวในปี 2564
  • ปี 2564 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อม “เรือ + ราง” วิ่งให้บริการไป-กลับรวม 6,117 เที่ยว เพิ่มขึ้น 33% (YoY) โดยสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ต่อเนื่อง 5 ปีนับตั้งแต่ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อม “เรือ + รางเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2560

พัฒนาการล่าสุดของโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าโมเดล “เรือ+ราง” เที่ยวที่ 7,000 ของปีนี้ ได้เคลื่อนตัวออกจากสถานีรถไฟชินโจวตะวันออกแล้ว โดยมีจุดหมายอยู่ที่นครฉงชิ่ง โดยขบวนรถไฟดังกล่าวลำเลียงเยื่อกระดาษ ทรายซิลิก้า (quartz sand) และผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ใช้ในการก่อสร้าง ใช้เวลาขนส่ง 3 วัน

นับตั้งแต่ต้นปี 2565 มานี้ ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าโมเดล “เรือ+ราง” ได้ขยายโครงข่ายเส้นทางขนส่งให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยสินค้าที่ขนส่งทางเรือสามารถขึ้นรถไฟไปยัง 133 สถานีของ 60 เมืองใน 17 มณฑลทั่วประเทศ ซึ่งรวม 12 มณฑลทางภาคตะวันตก และมณฑลอื่นทางภาคกลางและภาคเหนือของประเทศจีน อาทิ มณฑลหูเป่ย มณฑลเหอหนาน มณฑลเหอเป่ย เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และเขตปกครองตนเองทิเบต

ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่เปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าโมเดล “เรือ+ราง” มีจำนวนเที่ยวบริการสะสมทะลุ 20,000 เที่ยวแล้ว

ที่ผ่านมา กรมพาณิชย์เขตฯ กว่างซีจ้วง ได้มุ่งผลักดันการยกระดับประสิทธิภาพของด่าน ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการบริการ และส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศ อาทิ

(1) พิธีการศุลกากรใช้เวลาสั้นลง ปี 2564 พิธีการศุลกากรนำเข้าใช้เวลา 5.36 ชั่วโมง (ลดลง 3.6% จากปี 2563) ซึ่งรวดเร็วมากที่สุดในประเทศจีน (เร็วกว่าเวลาเฉลี่ยของทั้งประเทศ 31.82 ชั่วโมง) ขณะที่พิธีการศุลกากรส่งออกใช้เวลา 0.5 ชั่วโมง (สั้นลง 35% จากปี 2563) ซึ่งรวดเร็วเป็นอันดับ 8 ของประเทศ (เร็วกว่าเวลาเฉลี่ยของทั้งประเทศ 1.24 ชั่วโมง) / พิธีการศุลกากรนำเข้าทางเรือใช้เวลา 23.07 ชั่วโมง รวดเร็วเป็นอันดับต้นๆ ของจีน

(2) ลด/ยกเลิกรายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ในท่าเรือ ช่วยให้ค่าใช้จ่ายรวมในกระบวนการนำเข้าสินค้าที่กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ลดลงจาก 3,326 หยวน/TEUs ในปี 2562 เหลือ 1,750 หยวน/TEUs ในปัจจุบัน (ลดลง 47%) ส่วนค่าใช้จ่ายรวมในกระบวนการส่งออกสินค้า ลดลงจาก 2,309 หยวน/TEUs ในปี 2562 เหลือ 1,537 หยวน/TEUs ในปัจจุบัน (ลดลง 33%)

(3) การพัฒนาสู่ดิจิทัลเพื่อำนวยความสะดวกด้านการค้า เช่น การพัฒนาระบบ Single window สำหรับการค้าต่างประเทศ การพัฒนาระบบการทำงานแบบ paperless ในกระบวนการนำเข้าส่งออก

(4) การปรับปรุงและพัฒนาฟังก์ชันการทำงานของด่าน เช่น การดำเนินขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงเอกสาร (customs transfer) สำหรับตู้สินค้าส่งออกจากท่าเรือชินโจวไปยังท่าเรืออื่น การยอมรับข้อมูลการตรวจปล่อยสินค้าศุลกากรเพื่อการขนส่งต่อทางรถไฟโดยไม่จำเป็นต้องยื่นสำแดงเอกสารตัวจริง การผ่านพิธีการศุลกากรทางรถไฟแบบด่วนผ่านระบบออนไลน์ /กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง (pre-arrival processing) การผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้าแบบ Two-Step Declaration (รับของก่อน ส่งเอกสารเพิ่มเติมทีหลัง) การผ่านพิธีการศุลกากรแบบ Two Stage Access (รับของออกไปพักไว้นอกด่านในสถานที่ที่กำหนด เพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้นก่อนจะปล่อยสินค้าเข้าสู่ตลาด) การผลักดันโมเดล “การรับตู้สินค้าข้างเรือ” สำหรับสินค้านำเข้า และโมเดล “การขึ้นตู้สินค้าข้างเรือ” สำหรับสินค้าส่งออก

(5) เพิ่มจำนวนท่าเทียบเรือเพื่อขยายขีดความสามารถรองรบการขนถ่ายสินค้า โดยสามารถรองรับตู้สินค้าเพิ่มอีกปีละ 5 แสนTEUs / สินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มอีกปีละ 14.87 ล้านตัน / สารเคมีเหลวปีละ 1 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเที่ยวเรือกับเวียดนาม เพื่อระบายสินค้าไปใช้การขนส่งทางทะเล สถิติเดือน ม.ค. – ก.ค. 2565 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายสินค้า 161 ล้านตัน (+5% YoY) และปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 3.8 ล้าน TEUs (+22% YoY)

(6) เที่ยวขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น กรมพาณิชย์กว่างซีเร่งผลักดันการก่อสร้างและดำเนินงานของ “ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” ผลักดันการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อาทิ จีน-เวียดนาม จีน-สปป.ลาว และจีน-เอเชียกลางผ่าน China-Europe Railway Express

แผนการดำเนินงานในระยะต่อไป รัฐบาลกว่างซีจะยกระดับการเปิดสู่ภายนอกของท่าเรือชินโจว การให้บริการเส้นทางขนส่งผลไม้ทางเรือ (express route) ระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือชินโจวให้มีเสถียรภาพ การยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าและประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ การส่งเสริมให้เส้นทางรถไฟขนส่งตู้สินค้าจีน-เวียดนาม และจีน-สปป.ลาวให้บริการแบบเที่ยวประจำ การส่งเสริมเที่ยวรถขนส่งทางถนนระหว่างประเทศระหว่างจีนกับคาบสมุทรอินโดจีน การส่งเสริมให้อาเซียน รวมถึงประเทศไทย เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานในระเบียง ILSTC เพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการเชิงลึกด้านโลจิสติกส์ การค้า และอุตสาหกรรมของพื้นที่เลียบระเบียง ILSTC

สำหรับผู้ประกอบการไทย บีไอซี เห็นว่า ‘กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี’ ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ ‘ท่าเรือชินโจว’ ซึ่งมีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะท่าเทียบเรือที่ทำงานด้วยระบบอัจฉริยะ (Smart port) และการขนส่งโมเดล  ‘เรือ+ราง’

ทั้งนี้ หากพิจารณาในเชิงกายภาพ การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศไทยและกว่างซีมีระยะทางสั้น ขณะที่ในเชิงนโยบาย หน่วยงานภาครัฐก็พยายามพัฒนาและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการนำเข้า-ส่งออก และกระจายสินค้า อีกทั้ง ท่าเรือแต่ละแห่งยังมีฟังก์ชันในการนำเข้าสินค้ากลุ่มพิเศษที่ต้องได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ อาทิ ผลไม้ เนื้อสัตว์ ข้าวเปลือก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาและใช้ประโยชน์จากกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีในการทำการค้ากับประเทศจีน (โดยเฉพาะจีนตะวันตก) ผ่านโมเดลการขนส่งโมเดล  ‘เรือ+ราง’

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gxnews.com.cn (中国新闻网广西) วันที่ 21 ตุลาคม 2565
       เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网广西) วันที่ 21 ตุลาคม 2565
ข้อมูลจากการรับฟังงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “ท่าเรือชินโจว : ประตูการค้าใหม่ของผู้ส่งออกไทยไปจีน” โดยวิทยากร : คุณเติ้ง เหวินเจวียน (ญ.) ผู้ตรวจการระดับ 2 ประจำกรมพาณิชย์เขตฯ กว่างซีจ้วง

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]