• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ผลไม้อาเซียน ไปได้สวยในตลาดกว่างซี มีด่านนำเข้าผลไม้ได้ในทุกมิติ ทั้งทางถนน รถไฟ ทะเล และอากาศ

ผลไม้อาเซียน ไปได้สวยในตลาดกว่างซี มีด่านนำเข้าผลไม้ได้ในทุกมิติ ทั้งทางถนน รถไฟ ทะเล และอากาศ

ทุเรียน มังคุด เงาะ …. ผลไม้นำเข้าที่เคยมีราคาแพงในสายตาผู้บริโภคชาวจีน มาในวันนี้ กลายเป็นผลไม้ที่เห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาดในนครหนานหนิง ปัจจุบัน ผลไม้เมืองร้อนมากกว่า 20 ชนิดจากประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถส่งออกไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ได้

หลายปีมานี้ “นครหนานหนิง” ในฐานะเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง พยายามใช้ความได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งในการขยายช่องทางการนำเข้าผลไม้จากอาเซียน เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนมีโอกาสเข้าถึงผลไม้เมืองร้อนได้ง่ายในราคาที่จับต้องได้

โดยท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (เรียกสั้นๆ ว่า สนามบินหนานหนิง) เป็นด่านแห่งล่าสุดของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่ได้รับอนุมัติให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ โดย ‘ทุเรียนไทย’ เป็นผลไม้นำเข้าล็อตแรกที่ประเดิมใช้ “ด่านสนามบินหนานหนิง” โดยเที่ยวบิน HT3828 ของสายการบิน Tianjin Air Cargo (天津货运航空有限公司) เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เป็นอีก ‘ทางเลือก’ ของผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน โดยเฉพาะช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

การที่จีนเปิดกว้างตลาดผลไม้เพิ่มมากขึ้น ช่วยให้มีการนำเข้าผลไม้เพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคจึงมีโอกาสได้บริโภคผลไม้นำเข้าในราคาที่ย่อมเยามากขึ้น และหาซื้อได้ง่ายตามร้านผลไม้ทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องไปซื้อที่ตลาดค้าส่งผลไม้เหมือนเมื่อก่อน หรืออย่างในกรณีของทุเรียนจากมาเลเซีย ซึ่งเป็นทุเรียนแช่เย็นแช่แข็ง ร้านผลไม้ก็เริ่มมีตู้แช่ไว้เฉพาะสำหรับเก็บทุเรียนมาเลเซีย ผู้บริโภคมีทุเรียนได้บริโภคได้ตลอดทั้งปี ตรงตามคอนเซ็ปต์—-อยากทานเมื่อไหร่ก็แวะมา

 

“คุณภาพของผลไม้เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาโดยตลอด นโยบายที่เอื้ออำนวย ทำให้มีจำนวนซัพพลายเออร์เพิ่มมากขึ้น ร้านผลไม้จึงมีทางเลือกในการนำเข้าผลไม้ที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น เปอร์เซ็นต์ที่จะได้ผลไม้คุณภาพดีก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ผลไม้ตามฤดูกาลจากอาเซียนมีความคุ้มค่ากับราคา มีอยู่ปีหนึ่ง มังคุดนำเข้าที่ร้านขายในราคากิโลกรัมละ 9.98 หยวน แถมการันตีคุณภาพได้ด้วย” คำบอกเล่าของเจ้าของร้านผลไม้รายหนึ่งในนครหนานหนิง

 

กล่าวได้ว่า… เขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นหนึ่งในมณฑลที่มี “ด่านนำเข้าผลไม้” ที่สามารถนำเข้าผลไม้ได้จริงในทางปฏิบัติมากที่สุดของจีน สามารถนำเข้าผลไม้ได้ในทุกมิติ ทั้งทางถนน ทางรถไฟ ทางทะเล และทางอากาศ

ในบัญชีรายชื่อประเทศ/ดินแดนที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลไม้สดเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน (เดือนกันยายน 2565) ปรากฎดังตารางด้านล่าง มีผลไม้มากถึง 30 ชนิดจาก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังประเทศจีน (ยกเว้นสิงคโปร์) โดยประเทศไทยก้าวขึ้นมา ‘ยื่นหนึ่ง’ ในฐานะประเทศ/ดินแดนที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลไม้สดไปจีนได้มากชนิดที่สุด หลังจากที่ผลไม้หลายชนิดของไต้หวันถูกระงับการนำเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่

           

 

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วง 2-3 ปีมานี้ ศุลกากรแห่งชาติจีนเปิดไฟเขียวให้ประเทศ/ดินแดนต่างๆ ทั่วโลกสามารถส่งออกผลไม้สดชนิดต่างๆ ไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้นหลายรายการ หากมองเฉพาะในอาเซียน อาทิ มังคุดและทุเรียนเวียดนาม มะม่วงและลำไยกัมพูชา เสาวรส ส้ม ส้มโอ มะนาวของสปป.ลาว กล้วยหอมเมียนมา รวมถึงแก้วมังกรและสับปะรดอินโดนีเซีย

แนวโน้มดังกล่าวอาจส่งผลให้การแข่งขันของผลไม้อาเซียนในตลาดจีนมีความดุเดือนมากขึ้น (ผลไม้หลายชนิดทับซ้อนกัน) บีไอซี เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับกลยุทธ์ในการขยายตลาดผลไม้ไทยในระดับ premium ไปยังตลาดจีนได้ หัวใจสำคัญอยู่ที่การศึกษาและพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับตลาดเป้าหมาย ให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้า หาคู่ค้าที่น่าเชื่อถือ ติดตามกฎระเบียบอย่างใกล้ชิด และทำความเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนในตลาดเป้าหมายให้มากขึ้น เพราะแต่ละพื้นที่อาจมีความต้องการ/ความนิยมชื่นชอบในชนิดผลไม้ที่แตกต่างกัน

ในบรรดาผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปประเทศจีนมีทั้งหมด 22 ชนิด นอกจากผลไม้ที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนอย่างทุเรียน มังคุดแล้ว ยังมีผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก ช่วยตอบโจทย์ตลาดผลไม้ระดับพรีเมียม ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ ลองกอง และชมพู่

การที่ผลไม้สดเป็นสินค้าที่ต้องแข่งขันกับเวลา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกว่างซีได้พยายามยกระดับมาตรการอำนวยความสะดวกในพิธีการศุลกากร เสริมสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก และบูรณาการโครงข่ายโลจิสติกส์ทั้งทางถนน ราง เรือ และเครื่องบิน และการขออนุมัติด่านนำเข้าผลไม้เพิ่มเติมจากส่วนกลาง เพื่อเพิ่มช่องทางการนำเข้าที่หลากหลาย แก้ไขปัญหา ให้ผลไม้นำเข้ายังคงความสดใหม่ให้ได้มากที่สุด

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรหนานหนิง (กำกับดูแลด่านทั่วเขตฯ กว่างซีจ้วง) พบว่า ปัจจุบัน กว่างซีมีสถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้ามากกว่า 10 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณด่านที่ได้รับอนุญาตนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ ทั้งที่เป็นด่านสากล (ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน ด่านทางบกตงซิง ด่านทางบกหลงปัง ด่านทางบกสุยโข่ว ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านท่าเรือชินโจว ด่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง ด่านสนามบินอู๋ซวีหนานหนิง และด่านสนามบินเหลี่ยงเจียงกุ้ยหลิน) และด่านทวิภาคีกับเวียดนาม

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565
เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 13 พฤศจิกายน 2565
เว็บไซต์ http://www.customs.gov.cn/

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]