• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ‘ลูกเสี้ยวไทย’ ในกว่างซี พร้อมเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเร็วๆ นี้

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ‘ลูกเสี้ยวไทย’ ในกว่างซี พร้อมเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเร็วๆ นี้

 

 

เมื่อพูดถึง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” บ้างคงนึกถึงภัยพิบัติฟูกูชิมะ บ้างก็นึกถึงสารกัมมันภาพรังสีที่มีอันตรายต่อมนุษย์ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า… ในปัจจุบัน“พลังงานนิวเคลียร์” ได้ถูกพัฒนาให้เป็นพลังงานสะอาดที่ช่วยตอบโจทย์วิกฤติพลังงานและภาวะโลกร้อน

ประเทศจีนถือเป็นผู้นำสำคัญด้าน “พลังงานนิวเคลียร์” ของโลก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่า 1/3 ของโลกตั้งอยู่ในประเทศจีน ประเทศที่เคยถูกสบประมาทจากชาติตะวันตกด้วยคำเรียกขาน ‘Sick man of East Asia’ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มาในวันนี้ ประเทศจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลกหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางการทหาร เทคโนโลยีการบินและอวกาศ รวมถึงเทคโนโลยีนิวเคลียร์

ปัจจุบัน ประเทศจีนเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ด้วยเทคโนโลยีของตนเอง ซึ่งประเทศจีนกล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นวิทยาการจีนที่มีความทันสมัยและมีความปลอดภัยมากที่สุดในโลก และประเทศจีนยัง ‘คิดใหญ่’ ไปถึงการสร้างแหล่งพลังงานใหม่ที่ให้พลังงานสะอาดได้มากมายมหาศาล เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรกว่า 1/6 ของโลก โดยพร้อม “ส่งออกเทคโนโลยี” เทียบชั้นประเทศผู้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยเมื่อระหว่างวันที่ 16-18 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา จีนได้จัดการประชุมระดับสูง The First China-ASEAN Peaceful Use of Nuclear Technology High-Level Forum ขึ้นที่นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และได้ใช้โอกาสนี้ ส่งเสียงสะท้อนความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตและส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนของภูมิภาคและของโลก

ในบริบทที่ภาครัฐกำลังส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิล (ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ด้วยเหตุผลดังนี้

  • ต้นทุนการผลิตต่ำ ทำให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้มีราคาถูก ช่วยให้การใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมมีราคาไม่แพง มีขีดความสามารถทางการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม
  • ราคาเชื้อเพลิงมีเสถียรภาพ ราคาแร่ยูเรเนียมซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ผันผวนเหมือนพลังงานฟอสซิลอย่างถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ
  • เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ อีกทั้งเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สมัยใหม่มีความทันสมัย สามารถควบคุมการจัดเก็บกากกัมมันตภาพรังสีได้อย่างปลอดภัย
  • กระแสไฟฟ้าเพียงพอ หากเปรียบเทียบกับพลังงานทางเลือกประเภทอื่นๆ เช่น พลังงงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ จะเห็นได้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีปัจจัยการผลิตไฟฟ้าที่แน่นอน ไม่ต้องอาศัยสภาพดินฟ้าอากาศที่มีความผันผวนตลอดเวลา

ในบรรดาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่มากมายในประเทศจีน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง(ในอ่าวตังเกี๋ย) เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในจีนตะวันตก และเป็นแห่งแรกที่เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในภูมิภาคตะวันตกด้วย

โครงการเฟสแรก เป็นของบริษัท Fangchenggang Nuclear Power (广西防城港核电有限公司) ใช้เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ CPR1000 ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และหมายเลข 2 เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมื่อ 1 มกราคม 2559 และ 1 ตุลาคม 2559 ตามลำดับ

ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการขยายโครงการเฟสสอง ซึ่งเป็นสัญญาร่วมทุนระหว่างบริษัท CGN บริษัท Guangxi Investment และบริษัท RATCH China Power (บริษัทย่อยของ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง) โดยถือหุ้นร้อยละ 51, 39 และ 10 ตามลำดับ (บริษัท RATCH ใช้เงินลงทุนจากกระแสเงินสดของบริษัทตามสัดส่วนการร่วมทุนคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,330 ล้านหยวนหรือราว 7,500 ล้านบาท (เมื่อปี 2558 อัตราแลกเปลี่ยน 1 RMB ประมาณ 5.6331 บาท))

โครงการเฟสสอง ใช้เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ HPR1000 หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “หัวหลง อีฮ่าว” (华龙一号) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการกำเนิดไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์รุ่นที่ 3 ที่จีนคิดค้นขึ้นเอง และเป็นเทคโนโลยีต้นแบบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Bradwell B ในสหราชอาณาจักรและปากีสถาน ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และหมายเลข 4

ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการเฟสสอง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ทีมวิศวกรได้เริ่มบรรจุแท่นปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 แล้ว และคาดว่าจะผลิตและส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในเร็วๆ นี้ ตามรายงาน เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 มีมูลค่าเงินลงทุน 20,150 ล้านหยวน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2558 และเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม 2559

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง เป็นโครงการสำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานของกว่างซี และมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงสร้างพลังงาน การสร้างความมั่นคงทางพลังงานของกว่างซี รวมถึงการสร้างระบบพลังงานสมัยใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด คาร์บอนต่ำ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง คาดหมายว่า ภายหลังโครงการสองเฟสแรกแล้วเสร็จ จะสามารถป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซีได้ปีละ 31,500 ล้านกิโลวัตต์

บีไอซี เห็นว่า การศึกษาข้อมูลและติดตามพัฒนาการของประเทศต้นแบบความสำเร็จอย่างจีน จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อม และการสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ที่สะอาดและปลอดภัยของไทยในอนาคต โดยเฉพาะการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การบริหารจัดการสารตกค้างจากการผลิต และการลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงอาจสามารถขยายผลไปสู่การต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน (กว่างซี) ในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 9 ธันวาคม 2565
เครดิตภาพประกอบ : http://ex.chinadaily.com.cn

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]