• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ‘เสือติดปีก’ เมืองท่าชินโจว สร้างฐานโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น รองรับสินค้าเกษตรนำเข้าจากอาเซียน โอกาสของผลไม้ไทย

‘เสือติดปีก’ เมืองท่าชินโจว สร้างฐานโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น รองรับสินค้าเกษตรนำเข้าจากอาเซียน โอกาสของผลไม้ไทย

ปัจจุบัน ‘ท่าเรือชินโจว’ (Seaport Code : CNQZH) ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้กลายเป็น ‘ประตูการค้า’ ที่สำคัญที่ใช้เชื่อมการขนส่งระหว่างจีน(ตะวันตก)กับต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน หลายปีมานี้ การขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือชินโจวมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและประเภทของสินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าห่วงโซ่ความเย็น หรือ Cold-chain ซึ่งเป็นประตูช่องทางเลือกหนึ่งสำหรับสินค้าเกษตรและสินค้าห่วงโซ่ความเย็นอื่นๆ ของประเทศไทยที่จะมาเข้าสู่จีน โดยเฉพาะจีนภาคใต้และภาคตะวันตก

ในบริบทที่ ‘ท่าเรือชินโจว’ ได้รับอนุมัติจากส่วนกลางให้เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้และเนื้อสัตว์” ซึ่งสินค้าดังกล่าวจำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สินค้าคงคุณภาพและความสดใหม่ก่อนถึงมือผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ เมืองชินโจวจึงได้ผลักดันโปรเจกต์ศูนย์โลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นเพื่อรองรับสินค้าห่วงโซ่ความเย็น

ข้อมูลสังเขปเกี่ยวกับฐานท่าเรือชินโจวโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นแบบครบวงจรหรือ Integrated Cold-Chain Logistics Qinzhou Port Base (综合冷链物流钦州港基地)

ผู้ลงทุน : การร่วมทุนของ 3 บริษัท คือ บริษัท Sichuan Port and Shipping Investment Group Co., Ltd (四川省港航投资集团有限责任公司) / บริษัท Guangxi Beibu Gulf International Port Group Co.,Ltd (广西北部湾国际港务集团有限公司) และ China Malaysia Holding Limited Park (Guangxi) investment Holding Group Co.,Ltd (广西中马钦州产业园区投资控股集团有限公司)

ข้อมูลโครงการ : เงินลงทุนราว 400 ล้านหยวน บนเนื้อที่เกือบ 60 ไร่ พื้นที่ก่อสร้างรวม 68,000 ตารางเมตร

พิกัดที่ตั้ง : ตั้งอยู่ภายในเขตโลจิสติกส์ต้าหลานผิง (Dalanping Logistics Park / 大榄坪物流园区) ในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจว

โปรเจกต์ ฐานท่าเรือชินโจวโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นแบบครบวงจรได้วางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 นับเป็นอีกโปรเจกต์ขนาดใหญ่ด้านโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นที่เกิดขึ้นในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ กว่างซี (คนไทยรู้จักชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) ต่อจาก สวนโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นสำหรับสินค้าสดและสินค้ามีชีวิตนานาชาติอ่าวเป่ยปู้กว่างซี” หรือ Guangxi Beibu Gulf International Cold Chain Logistic Park (广西北部湾国际生鲜冷链物流园) ที่เปิดตัวในเมืองท่าฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang City/防城港市) เมื่อกลางปี 2565 ที่ผ่านมา

บีไอซี เห็นว่า โปรเจกต์ดังกล่าวช่วย ‘เติมเต็ม’ ฟังก์ชันให้กับท่าเรือชินโจว และเป็นการสร้าง ‘โอกาส’ ให้กับมณฑลทางภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่างของประเทศจีนในการนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความต้องการสินค้าทางการเกษตรจากประเทศเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ

อีกทั้ง โครงการดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงกับฐานกระจายสินค้าโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นที่กระจายอยู่ในมณฑลต่างๆ เป็นเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้การขนส่งทางรถไฟผ่านโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ ที่มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนต่ำและเวลาการขนส่งที่รวดเร็ว เพื่อกระจายสินค้าห่วงโซ่ความเย็น (สินค้าเกษตรและผลพลอยได้ทางการเกษตร สินค้าประมง และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แช่เย็นแช่แข็ง) ผ่านโครงข่ายเส้นทางรถไฟดังกล่าวไปยัง 133 สถานีของ 60 เมืองใน 17 มณฑลทั่วประเทศได้อย่างวางใจ

นอกจากโครงการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมการนำเข้า-ส่งออกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการทั้งเรื่องระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่ง สอดรับกับนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ ‘Dual Circulation’ ที่มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างตลาดในประเทศกับตลาดต่างประเทศ และสอดคล้องกับความมุ่งมั่นในการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตรกับอาเซียนของจีน และจะเป็นอีกหนึ่ง ‘ฟันเฟือง’ สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้สินค้าทางการเกษตรจากอาเซียน โดยเฉพาะจากประเทศไทยไปขยายตลาดจีนตอนในได้มากยิ่งขึ้น

 

จัดทำโดย : นางสาวเนตรนภา บุญมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 22 ธันวาคม 2565
เว็บไซต์ http://subsites.chinadaily.com.cn/guangxi/ftz/index.html วันที่ 17 มิถุนายน 2565

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]