การดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคนและสินค้านำเข้าด้วยความเข้มงวดตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ภายใต้นโยบาย Dynamic Zero COVID ของรัฐบาลจีน ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะ ‘การค้าต่างประเทศ’ ซึ่งเป็นสาขาที่ได้รับผลกระทบมากอย่างมีนัยสำคัญ
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นหนึ่งในมณฑลที่มีด่านการค้าจำนวนมากที่สุดในประเทศจีน โดยเฉพาะด่านทางบก (ทั้งด่านสากล ด่านทวิภาคี และด่านประเพณี) เนื่องจากมีพรมแดนติดกับประเทศเวียดนาม ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้ดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดฯ ทั้งในคนและสินค้าอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการปิดด่านหลายแห่งโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าเมื่อมีพบเชื้อโควิด และการดำเนินมาตรการตรวจและฆ่าเชื้อโควิด-19 ในสินค้าอาหารแช่เย็นแช่แข็ง (cold-chain) ส่งผลให้ระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้านานขึ้น เกิดปัญหารถบรรทุกแออัด สินค้าตกค้างและเน่าเสียที่บริเวณด่าน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแบบประเมินค่าไม่ได้
อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการเร่งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของการขนส่งบริเวณชายแดน ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของการค้ากับต่างประเทศจึงได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการอย่างมีระบบและค่อยเป็นค่อยไป จนในที่สุด ‘วันฟ้าหลังฝนโควิด-19’ ของจีนก็มาถึง โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนได้ประกาศ ‘ปลดล็อก’ มาตรการโควิด-19 ในประเทศจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทยอยขานรับนโยบายดังกล่าวแล้ว
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการไทย สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้ออกประกาศฉบับที่ 131 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2565 เกี่ยวกับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องภายหลังการปรับลดระดับมาตรการจัดการโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยสาระสำคัญ ดังนี้
- นับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 ยกเลิกมาตรการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศจีน โดยให้แสดงผลตรวจโควิดเป็นลบ (PCR) ภายใน 48 ชั่วโมง
- มณฑล (เขตปกครองตนเอง) ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการฟื้นฟูด่านพรมแดนทางบกให้กลับมาขนส่งสินค้าและผู้โดยสารอย่างเป็นขั้นตอน
- นับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 ยกเลิกมาตรการทั้งหมดเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในอาหารแช่เย็นแช่แข็ง (cold-chain) และสินค้าทั่วไปที่ไม่ใช่ cold-chain ที่ด่านนำเข้า
เช่นเดียวกับสำนักงานการบินพลเรือแห่งชาติจีน (CAAC) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ได้ออกมาประกาศมาตรการฟื้นฟูเที่ยวบินผู้โดยสารระหว่างประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้ สนามบินนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิงได้เตรียมการฟื้นฟูเที่ยวบินผู้โดยสารระหว่างประเทศกับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศไทยอยู่ด้วยแล้ว (ปัจจุบัน มีสายการบินนกแอร์ และสายการบิน Spring Airlines ที่ให้บริการในเส้นทาง “นครหนานหนิง-กรุงเทพ” ในวันพุธ และวันศุกร์ของสัปดาห์)
ความเคลื่อนไหวข้างต้นเป็นข่าวดีสำหรับภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านเขตฯ กว่างซีจ้วง ที่จะสามารถกลับมาทำธุรกิจการค้าได้อย่างราบรื่นอีกครั้ง การขนส่งสินค้าและบริการ รวมไปถึงการเดินทางไปมาหาสู่เพื่อติดต่อธุรกิจและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไม่ช้า
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศจะถูก ‘ม่านกำบัง’ ด้วยมาตรการโควิดที่เข้มงวด แต่ภาครัฐและภาคเอกชนกว่างซียังคงเดินหน้าผลักดันโครงการต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง ไฮไลท์ที่เห็นได้เด่นชัดคือการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งภายในและระหว่างมณฑล ให้เชื่อมโยงถึงกัน รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผ่านด่านให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการค้า การขนส่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะกลับมาเป็นปกติภายหลังการเปิดประเทศ
บีไอซี เห็นว่า พัฒนาการด้านความเชื่องโยงเหล่านี้ กอปรกับข่าวดีที่จีนจะปลดล็อกมาตรการโควิด-19 ทั้งในคนและสินค้า จะเป็น ‘โอกาส’ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งและความพร้อมด้านระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ของเขตฯ กว่างซีจ้วงในการส่งออกสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนได้
จัดทำโดย : นายกฤษณะสุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.customs.gov.cn (海关总署) วันที่ 28 ธันวาคม 2565