กล่าวได้ว่า… ปัจจุบัน สังคมเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่เกือบจะเป็น ‘สังคมไร้เงินสด’ โดยสมบูรณ์อยู่แล้ว การใช้จ่ายส่วนใหญ่ทำได้ง่ายๆ เพียง ‘ตี๊ด’ สแกน QR code ผ่านแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ Alipay และ Wechat Pay บนสมาร์ทโฟน แม้กระทั่งคนเก็บค่าจอดรถจักรยานข้างทาง ไปจนถึงตู้รับบริจาคในวัดก็เช่นเดียวกัน พูดง่ายๆ ว่า ออกจากบ้าน พกเพียงโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวก็เพียงพอ
แต่… ความก้าวหน้าด้าน FinTech ของจีนไม่ได้หยุดเพียงการใช้ e-Wallet เท่านั้น ณ จุดนี้ เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า ‘ดิจิทัลหยวน’ ผ่านหูกันมาบ้างแล้ว
เรามาทบทวนและทำความรู้จักกับ ‘ดิจิทัลหยวน’ กันอีกครั้ง ‘ดิจิทัลหยวน’ หรือที่เรียกสั้นๆว่า e-CNY คือ เงินหยวนในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางจีน (The People’s Bank of China: PBOC) ที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเหมือนเงินสด เพื่อสร้างทางเลือกให้กับประชาชนใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจควบคู่กับเงินหยวนในรูปแบบเดิม (ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์) และการพัฒนา ‘ดิจิทัลหยวน’ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-2568) ด้วย
จุดเริ่มต้นของ ‘ดิจิทัลหยวน’ เกิดขึ้นปี 2557 ธนาคารกลางจีน (The People’s Bank of China) ได้เริ่มต้นโครงการ ‘ดิจิทัลหยวน’ และใช้เวลาในการศึกษาวิจัยและพัฒนายาวนานกว่า 5 ปีจนกระทั่งเมื่อปลายปี 2562 จึงได้นำ ‘ดิจิทัลหยวน’ มาทดลองใช้ในพื้นที่นำร่อง 4 แห่งที่เมืองเซินเจิ้น (มณฑลกวางตุ้ง) เมืองซูโจว (มณฑลเจียงซู) เขตเมืองใหม่โสงอัน (มณฑลเหอเป่ย) และนครเฉิงตู (มณฑลเสฉวน) และได้ขยายจุดทดลองการใช้ ‘ดิจิทัลหยวน’ เพิ่มอีกหลายพื้นที่ในเวลาต่อมา
ล่าสุด เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา นครหนานหนิง และเมืองฝางเฉิงก่างของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็น 2 เมืองน้องใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางให้เป็นจุดทดลอง ‘ดิจิทัลหยวน’ ทำให้ปัจจุบัน จีนมีจุดทดลอง ‘ดิจิทัลหยวน’ แล้ว 26 พื้นที่ใน 17 มณฑลทั่วประเทศ หลังจากที่ได้รับการอนุมัติแล้ว ธนาคารกลางจีน สาขาศูนย์หนานหนิง (ดูแลทั้งมณฑล) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกว่างซีจะศึกษาและกำหนดแผนดำเนินการจุดทดลอง ‘ดิจิทัลหยวน’
เค้าโครงการดำเนินงานจุดทดลอง ‘ดิจิทัลหยวน’ ของเขตฯ กว่างซีจ้วง คือ
- มุ่งเน้นเรื่องการนำ ‘ดิจิทัลหยวน’ มาประยุกต์เข้ากับ ‘ประตูสู่อาเซียน เขตทดลองการค้าเสรี และการค้าชายแดน’ ซึ่งเป็น ‘อัตลักษณ์กว่างซี’ โดยมีเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยหนานหนิง และเขตการค้าชายแดนฝางเฉิงก่าง เป็นพื้นที่นำร่องสำคัญ
- 9 รูปแบบ/เหตุการณ์ของการทดลองที่ใช้เหมือนกันทั่วประเทศจีน (Scenarios) ได้แก่ การค้าปลีกย่านธุรกิจ โรงอาหารอัจฉริยะ การเดินทางสีเขียว นิคมอัจริยะ การแพทย์อัจฉริยะ การชำระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต และความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงิน
- 8 รูปแบบ/เหตุการณ์ของการทดลองที่นำมาประยุกต์เข้ากับจุดเด่นของเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้แก่ ความร่วมมือจีน-อาเซียน มหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) การชำระบัญชีการค้าในตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดน การพัฒนาสู่ความเจริญรุ่งเรืองในพื้นที่ชายแดนและความมั่งคั่งของชาวชายแดน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ แพลตฟอร์มการให้บริการในพื้นที่ และการสร้างความเจริญมั่งคั่งในชนบท
บีไอซี เห็นว่า การส่งเสริมการใช้ ‘ดิจิทัลหยวน’ ของรัฐบาลจีนในปัจจุบัน เป็นไปเพื่อการเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินที่มีอยู่ (ไม่ได้มาทดแทนหรือแทนที่ทางเลือกใดหายไป) เนื่องจาก ‘ดิจิทัลหยวน’ เปรียบเสมือนเงินสดเพียงแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล มีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่าและสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินได้
สิ่งที่น่าจับตา คือ เมื่อ ‘ดิจิทัลหยวน’ ใช้อย่างแพร่หลายจะสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่ ‘พฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีน’ และ ‘ระบบการค้าต่างประเทศ’ มากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับการปฏิวัติรูปแบบการชำระเงินแบบเดิมด้วย e-Wallet ของ Alipay และ Wechat Pay โดยเฉพาะการใช้ ‘ดิจิทัลหยวน’ ในพื้นที่นำร่อง 2 เมืองของกว่างซี ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอาเซียนด้วย
ทั้งนี้ บีไอซี จะติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับแผนดำเนินการจุดทดลอง ‘ดิจิทัลหยวน’ ในเขตฯ กว่างซีจ้วงมานำเสนอให้กับผู้ประกอบการไทยในโอกาสแรก เพื่อที่ผู้ประกอบการไทยจะได้เตรียมความพร้อม พัฒนาประสิทธิภาพของระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงิน และการบริการให้รองรับกับ ‘ดิจิทัลหยวน’ เมื่อรัฐบาลจีนประกาศใช้งานแบบเต็มรูปแบบ
จัดทำโดย : นายกฤษณะสุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 02 มกราคม 2565
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 02 มกราคม 2565