เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2566 นายหวงเฉียง ผู้ว่าการมณฑลเสฉวนได้แถลงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลเสฉวนในปี 2566 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนมณฑลเสฉวนสมัยที่ 14 ครั้งที่ 1 ดังนี้
1 ผลักดันการพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง ส่งเสริมการพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่งให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เน้นความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทั้ง 2 เมือง สนับสนุนโครงการสำคัญของเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง 248 โครงการ ริเริ่มแผนปฏิบัติการก่อตั้งเขตวงกลมเมืองนครเฉิงตู ระยะเวลา 3 ปี ส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจย่อยเสฉวน 3 เขต ภายใต้นโยบาย “1 เขต 1 แผนงาน” จัดสัมมนาส่งเสริมการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของพื้นที่ด้อยพัฒนา จัดประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพสูงระดับมณฑล
2. พัฒนาอุปสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขยายอุปสงค์ในประเทศเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการฟื้นตัวของภาคการบริโภค ปรับเปลี่ยนนโยบายที่ล้าสมัยซึ่งส่งผลเสียต่อภาคการบริโภค ออกมาตรการส่งเสริมการฟื้นตัวและเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ สนับสนุนให้นครเฉิงตูพัฒนาสู่เมืองศูนย์กลางการบริโภคระหว่างประเทศ พัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวให้มีชื่อเสียงระดับโลก ดำเนินการก่อสร้างวงแหวนคมนาคมเพื่อการท่องเที่ยว ส่งเสริมการอนุรักษ์ฟื้นฟูหมู่บ้านโบราณ เช่น หมู่บ้าน Daocheng Yading จัดทัวร์หรูฤดูหนาว เพิ่มความเข้มข้นในโครงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เร่งดำเนินการโครงการสำคัญระดับมณฑล 700 โครงการ เพิ่มวงเงินพันธบัตรรัฐบาลเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เร่งสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง อาทิ (1) เส้นทางเสฉวน-ทิเบต (2) เส้นทางเฉิงตู-ฉงชิ่ง (สายกลาง) และ (3) เส้นทางเฉิงตู-ต๋าโจว-ว่านโจว ฯลฯ พัฒนาโครงการชลประทานพื้นที่ 5,133.359 ล้านตารางเมตรเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน 36 ล้านคน รับคนงานในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าทำงานในโครงการก่อสร้างสำคัญ สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แรงงานไร้ฝีมือ กระตุ้นการลงทุนพัฒนาเมืองใหม่ เริ่มโครงการปรับปรุงพื้นที่อยู่อาศัยเก่า 5,200 แห่ง ชุมชนแออัด 67,000 แห่ง และติดตั้งลิฟต์ 4,500 ตัว สำหรับตึกที่อยู่อาศัย
3. เร่งสร้างระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ จัดการประชุมสัมมนาการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั่วมณฑลเสฉวน ร่างแผนการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ระยะยาว เพิ่มความแข็งแกร่งแก่อุตสาหกรรมที่โดดเด่นของมณฑลเสฉวน การพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์ อาทิ อุตสาหกรรมยาชีวภาพ อุตสาหกรรมการบินทั่วไป ออกแผนปฏิบัติการพัฒนาคลัสเตอร์การผลิตขั้นสูงระดับประเทศระยะ 3 ปี ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การสรรหาเหมืองแร่ใหม่ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล ออกนโยบายโครงการ “ดิจิทัลเสฉวน” โครงการ “ข้อมูลจากจีนตะวันออกประมวลผลในจีนตะวันตก” สนับสนุนให้วิหาหกิจใช้งานระบบ Cloud, Big Data และเทคโนโลยีอัจฉริยะ พัฒนาความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมบริการ ส่งเสริมการพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการเงินภาคตะวันตก จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ชนบทเสฉวนให้แล้วเสร็จ สนับสนุนให้วิสาหกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
4. ฟื้นฟูชนบทอย่างรอบด้าน ควบคุมการเพาะปลูกข้าวและธัญพืชให้มากกว่า 63,333.65 ล้านตารางเมตร การเลี้ยงสุกรมากกว่า 60 ล้านตัว สร้างหรือปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกมาตรฐานสูง 2,833.34 ล้านตารางเมตร พัฒนาการเกษตรที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและมีเอกลักษณ์ ขึ้นทะเบียนนิคมการเกษตรใหม่ พัฒนาให้เป็นมณฑลสาธิตการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร เดินหน้าขยายขอบเขตการขจัดความยากจน เพิ่มงบส่วนกลางสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้นร้อยละ 60 ตั้งเป้าหมายให้ครอบครัวยากจนที่ตกงานมีงานทำอย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน เดินหน้าพัฒนาชนบท สร้างเขตสาธิตหมู่บ้านน่าอยู่ชีวิตดีมีงานทำ สร้างถนนในชนบทขึ้นใหม่ 10,000 กิโลเมตร
5. เสริมสร้างการศึกษาสมัยใหม่ สนับสนุนการพัฒนาความทันสมัยทางการศึกษา เทคโนโลยี และพัฒนาศักยภาพบุคลากร รักษาอัตราการเติบโตของเงินทุนเพื่อการศึกษา สนับสนุนการสร้างโรงเรียนอนุบาลรัฐบาลในเมืองและอำเภอ 200 โรงเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ใช้นโยบายสนับสนุนศูนย์ทดลองวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่งเสริมให้มณฑลเสฉวนเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญในโครงการวิทยาศาสตร์สำคัญระดับชาติ สนับสนุนการก่อสร้างศูนย์ทดลองแผ่นดินไหวจีนและศูนย์วิทยาศาสตร์สำคัญอื่น ๆ เร่งสร้างเวทีนวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งชาติ อาทิ การแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) อุปกรณ์อวกาศ การผลิตวิดีโอภาพคมชัดระดับสูง ฯลฯ ดำเนินโครงการรวบรวมข้อได้เปรียบและความสามารถด้านอุตสาหกรรมพัฒนามณฑลเสฉวน พัฒนาเมืองศูนย์กลางผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญและสร้างทีมผู้นำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาศักยภาพวิศวกรและแรงงานฝีมือดี
6. ส่งเสริมความมั่นคงของวิสาหกิจของรัฐและเอกชน ดำเนินการภายใต้กรอบนโยบาย “สนับสนุนเศรษฐกิจภาครัฐและภาคเอกชนอย่างมั่นคง” ใช้มาตรการพิเศษในการปฏิรูปเงินทุนของรัฐและรัฐวิสาหกิจแบบเจาะลึก สนับสนุนให้ทุนของรัฐมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรม สนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจขยายภาคเศรษฐกิจจริงโดยอาศัยธุรกิจหลัก เร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการทำกำไรของรัฐวิสาหกิจ ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับการเติบโตของวิสาหกิจเอกชน แนะนำนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาให้กับวิสาหกิจเอกชน ที่มีประโยชน์และใช้งานได้จริง แก้ไขข้อบกพร่องของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยศึกษาจากเมืองที่พัฒนาแล้ว ชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่วิสาหกิจเอกชนและปรับปรุงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจเอกชน รัฐบาลเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามแนวคิด “เจ้าหน้าที่ใหม่ไม่ทิ้งงานเก่า” (เจ้าหน้าที่รับตำแหน่งใหม่จะต้องดำเนินโครงการหรือสัญญา ข้อตกลงที่คนเก่าทำค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ) ปฏิรูปเชิงลึกในประเด็นและความเชื่อมโยงที่สำคัญ ดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติงานของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ผลักดันแนวคิด “ลงทุนน้อยได้ผลผลิตมาก” และการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ขยายสัญญาที่ดินออกไปอีก 30 ปีหลังจากหมดอายุ ดำเนินงานด้านนวัตกรรมและการปฏิรูปที่ครอบคลุม
7. ผลักดันการพัฒนาที่มั่นคงของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ พัฒนาสู่มณฑลที่มีศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศ จัดวิสาหกิจไปดูงานต่างประเทศเป็นประจำ จัดการอบรมเรื่องการค้าต่างประเทศ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งเสริมการดำเนินงานของโครงการลงทุนจากต่างประเทศ ดึงดูดการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีของ SMEs ต่างประเทศ สร้างศูนย์กลางและช่องทางที่เปิดว้าง เน้นพัฒนาเส้นทาง ILSTC พัฒนาสู่เมืองยุทธศาสตร์หลักของเส้นทางรถไฟจีน-ลาว สร้างศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศเส้นทาง Eurasian Land Bridge ที่ 3 เป็นผู้นำโครงการเขตทดลองการค้าเสรี เสนอขอก่อสร้างเขตปลอดอากรที่ครอบคลุมท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่ สร้างเขตสาธิตเศรษฐกิจสนามบินระดับประเทศ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่
8. ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมผลักดันการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การลดมลพิษ และการขยายพื้นที่สีเขียว ดำเนินโครงการเขตทดลองเมืองสวยเสฉวน ปฏิบัติตามแผนลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 10 ประการ ปฏิเสธโครงการที่ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ปล่อยมลพิษสูง และมีประสิทธิภาพต่ำ รักษาคุณภาพอากาศ น้ำและดิน ปรับปรุงคุณภาพอากาศ แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในชนบท สร้างแนวกั้นระบบนิเวศแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำฮวงโห สร้างอุทยานแพนด้าแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติรั่วเอ่อร์ก้าย เสริมความแข็งแกร่งในการปกป้องต้นไม้เก่าแก่และมีชื่อเสียง ปรับปรุงระบบเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ
9. เพิ่มสวัสดิการทางสังคมให้ประชาชน พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในการจำกัดจุดด้อย ส่งเสริมการดำรงชีวิตพื้นฐานของผู้สูงอายุและประชาชนในชนบท ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้อยู่ในระดับต้น ๆ ของจีน เพิ่มรายได้ให้ประชาชน ส่งเสริมการจ้างงานวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ คุ้มครองสิทธิแรงงาน พัฒนาเสฉวนสู่เมืองสุขภาพดี สร้างศูนย์การแพทย์แห่งชาติ ศูนย์การแพทย์ภูมิภาคแห่งชาติ และศูนย์สืบทอดนวัตกรรมการแพทย์แผนจีนแห่งชาติ ส่งเสริมการปฏิรูปอย่างรอบด้าน การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลรัฐ ปรับปรุงระบบประกันสังคม การแก้ปัญหาของครอบครัวที่มีแต่เด็กและคนชรา พัฒนาบริการดูแลเด็กในชุมชน เร่งการก่อสร้างสิ่งก่อทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น ศูนย์วัฒนธรรมและศิลปะเสฉวน และพิพิธภัณฑ์ซานซิงตุยแห่งใหม่ พัฒนาศาลซานซูเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติระดับ 1 จัดงานกีฬามหาวิทยาลัยโลกครั้งที่ 31 ที่นครเฉิงตู
10. รักษาความสงบเรียบร้อยทางสังคม รักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกใหม่ ป้องกันการเจ็บป่วยที่รุนแรง ประสานงานและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางการแพทย์ รักษาผู้ป่วยหนักอย่างเต็มที่ เสริมสร้างความมั่นคงในการจัดหายา เสริมสร้างบริการสุขภาพสำหรับประชาชน รักษาความปลอดภัย ป้องกันและควบคุมโรคระบาดในพื้นที่ชนบท เพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนและดูแลบุคลากรทางการแพทย์อย่างจริงจัง ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ป้องกันและควบคุมไฟป่าและทุ่งหญ้า รักษาความสงบของสังคม ปราบปรามอาชญากรรมและสิ่งผิดกฎหมาย รักษาธรรมาภิบาล ส่งเสริมการสร้างหลักนิติธรรมในมณฑลเสฉวน ร่างกฎหมายท้องถิ่นในประเด็นสำคัญใหม่ สร้างเขตสาธิตการปกครองแบบนิติธรรม ลดความเสี่ยงของโครงการอสังหาริมทรัพย์ ลดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ
นโยบายการพัฒนาในปี 2566 ไม่แตกต่างไปจากปี 2565 มากนัก โดยการขยายอุปสงค์ การฟื้นฟูชนบท คุณภาพชีวิตประชาชน การรักษาสิ่งแวดล้อม การรักษาความมั่นคง ฯลฯ ยังคงเป็นประเด็นที่รัฐบาลเสฉวนให้ความสำคัญตลอดมา ทั้งนี้ การที่มณฑลเสฉวนยังคงบรรจุภารกิจ “ส่งเสริมการพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง” เป็นภารกิจสำคัญลำดับแรกในปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ระดับชาติอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจในภาพรวมของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2566 โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการการป้องกันโควิด-19 และการฟื้นฟูการขนส่งและการเดินทางระหว่างประเทศ จีนน่าจะเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านการค้าด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การนำคณะผู้บริหารวิสาหกิจจีนเดินทางไปเจรจาการค้ากับคู่ค้าในต่างประเทศ การออกมาตรการสนับสนุนการค้า การลงทุนกับต่างประเทศ ทั้งนี้ ในปีนี้ กรมพาณิชย์มณฑลเสฉวนมีแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าอาเซียน โดยนำผู้ประกอบการเดินทางไปยังประเทศสมาชิก RCEP รวมทั้งไทย ซึ่งไทยสามารถใช้โอกาสดังกล่าวส่งเสริมการค้าการลงทุนกับมณฑลเสฉวนได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : การประชุมสภาผู้แทนประชาชนมณฑลเสฉวนสมัยที่ 14 ครั้งที่ 1