ในฐานะ ‘ประตู’ ที่ใช้เปิดสู่ภายนอกของจีนตะวันตก และเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จีนตะวันตกใช้ในการพัฒนาการค้าและโลจิสติกส์กับประเทศสมาชิกอาเซียน หลายปีมานี้ ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ได้เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งมีการเพิ่มความถี่ของเส้นทางเดินเรือเดิมและบุกเบิกเส้นทางเดินเรือใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง
ปี 2565 ในบรรดาท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเล การขนส่งสินค้าผ่าน ‘ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้’ รักษาระดับการเติบโตด้วยตัวเลข ‘สองหลัก’ เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน บีไอซี ขอสรุปตัวเลขที่น่าสนใจ ดังนี้
1.ปริมาณขนถ่ายสินค้ารวม 370 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.7% (YoY) สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ขยายตัวเพียง 0.9% (YoY) ทั้งนี้ การขนถ่ายสินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีน้ำหนักมากเป็นอันดับที่ 10 ของประเทศ และมีอัตราขยายตัวสูงเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ (รองจากมณฑลเจียงซู มณฑลซานตง และนครเทียนจิน)
ในจำนวนนี้ข้างต้น เป็นปริมาณขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 1.67 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.4% (YoY) สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ขยายตัวลดลง -1.9% (YoY) ทั้งนี้ การขนถ่ายสินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีน้ำหนักมากเป็นอันดับที่ 9 ของประเทศ และมีอัตราขยายตัวสูงเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ (รองจากมณฑลเหอเป่ย นครเทียนจิน มณฑลไห่หนาน
2.ปริมาณขนถ่ายตู้สินค้ารวม 7.02 ล้าน TEUs เพิ่มขึ้น 16.8% (YoY) สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ขยายตัว 4.7% ทั้งนี้ การขนถ่ายสินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีน้ำหนักมากเป็นอันดับที่ 8 ของประเทศ และมีอัตราขยายตัวสูงเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ (รองจากมณฑลไห่หนานที่ขยายตัว 17.2%)
จำนวนนี้ เป็นปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าผ่านระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (ILSTC) ไปยังประเทศสมาชิก RCEP ราว 69,000 TEUs เพิ่มขึ้น 9.7% (YoY)
3.เส้นทางการเดินเรือ ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ได้บุกเบิกเส้นทางเดินเรือสายใหม่ จำนวน 11 สาย แบ่งเป็นเส้นทางเดินเรือต่างประเทศ 10 สาย และเส้นทางเดินเรือท่าเรือในประเทศ 1 สาย รวมทั้งเพิ่มความถี่ของเที่ยวเดินเรือไปยังประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม
ปัจจุบัน มีเส้นทางเดินเรือรวม 75 เส้นทาง ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศ 47 เส้นทาง ครอบคลุมท่าเรือสำคัญในอาเซียน 36 เส้นทาง รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพด้วย และเส้นทางเดินเรือกับฮ่องกง 9 เส้นทาง
หลายปีมานี้ การขนถ่ายตู้สินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีแนวโน้มการเติบโต ในรายงานการพัฒนาท่าเรือทั่วโลก ประจำปี 2564 ซึ่งประกาศโดย Shanghai International Shipping Institute (上海国际航运研究中心) อันดับการขนถ่ายตู้สินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ขยับขึ้น 6 อันดับ ไปอยู่อันดับที่ 28 ของโลก โดยปีนี้ ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2566 นี้ ท่าเรือฯ จะมีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า 8 ล้าน TEUs
บีไอซี เห็นว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของมณฑลทางภาคตะวันตกของจีน และรากฐานความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือและระบบราง เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ปริมาณการขนถ่ายสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้สามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
การเดินเกมรุกของจีนในการสร้างความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงพื้นที่จีนตอนในกับอาเซียน โดยกว่างซีเป็นมณฑลเดียวในภาคตะวันตกที่มีทางออกสู่ทะเล และเป็น Gateway to ASEAN จึงเป็น ‘ผู้เล่นตัวสำคัญ’ บนกระดานหมากรุกนี้ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้มุ่งพัฒนาให้มณฑลเป็น Hub เชื่อมโยงการขนส่งทางบก+เรือ โดยมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว) เป็นตัวเชื่อมการขนส่งทางรถไฟ+เรือ
บีไอซี เชื่อว่า ปริมาณสินค้าที่ขนส่งผ่าน ‘ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้’ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจากการ ‘ปลดล็อก’ มาตรการคุมเข้มโควิด-19 ในคนและสินค้านำเข้าตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 และเป็น ‘โอกาส’ สำหรับผู้ประกอบการไทยจะใช้ประโยชน์จากท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างไทย-จีน(ตะวันตก)ผ่านโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ ได้
จัดทำโดย : นายกฤษณะสุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 08-09 กุมภาพันธ์ 2566
เว็บไซต์ http://bbwb.gxzf.gov.cn (中国新闻网) วันที่ 08 กุมภาพันธ์ 2566
เว็บไซต์ www.chinaports.org (中国港口网) วันที่ 01 กุมภาพันธ์ 2566