เขตปกครองตนเองกว่างซี เป็นมณฑลเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศจีน โดยมี ‘อ้อย’ เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเขตฯ กว่างซีจ้วง ปัจจุบัน กว่างซีมีพื้นที่ปลูกอ้อยและกำลังการผลิตน้ำตาลมากกว่า 60% ของจีน นอกจากมูลค่าทางเศรษฐกิจจากต้นอ้อยในการผลิตน้ำตาลแล้ว อ้อยยังเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกหลายสาขา ทั้งการผลิตไฟฟ้า เอทานอล หัวเชื้อสุรา กระดาษ และไม้อัด
ช่วง 2-3 ปีมานี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในกว่างซี (และจีน) สามารถ ‘ลืมตาอ้าปาก’ ได้แล้ว หลังจากที่ต้องเผชิญปัญหารุมเร้าจากต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและแรงกดดันจากการทะลักเข้าของน้ำตาลราคาถูกจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลจีนได้มอบนโยบายพิเศษเพื่อสร้างเกราะให้กับอุตสาหกรรมน้ำตาลในกว่างซี
อาทิ การพัฒนางานวิจัยอ้อยพันธุ์ดี การพัฒนาฐานการผลิตอ้อยที่ให้ผลผลิตและค่าน้ำตาลสูง การส่งเสริมให้เกษตรกรนำอ้อยพันธุ์ดีที่วิจัยได้ไปปลูกพร้อมจ่ายเงินอุดหนุน การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการจัดการและเครื่องจักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงาน การพัฒนาระบบชลประทานที่ทันสมัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล การกำหนดพื้นที่สงวนสำหรับการปลูกอ้อย การสนับสนุนให้เกษตรกรกับโรงงานน้ำตาลทำสัญญาซื้อขาย และการส่งเสริมธุรกิจน้ำตาลพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอีกประการ คือ การพลิก ‘สวนป่ายูคาลิปตัส’ เป็น ‘ไร่อ้อย’ เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘ยูคาลิปตัส’ เป็นไม้เศรษฐกิจของโลก เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตเยื่อกระดาษ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในอุตสาหกรรมกระดาษชนิดต่างๆ เป็นพืชพลังงานที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นวัสดุก่อสร้างและเพิ่มมูลค่าด้วยการนำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ในครัวเรือน
แนวคิดการเปลี่ยน ‘สวนป่ายูคาลิปตัส’ เป็น ‘ไร่อ้อย’ เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐและโรงงานน้ำตาล (จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อจูงใจให้เกษตรกร) เพื่อสร้างหลักประกันด้านวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลและสร้างความมั่นคงให้อุตสาหกรรมการผลิตของมณฑล
ในช่วงปีสองปีมานี้ กระแสการเปลี่ยน ‘สวนป่ายูคาลิปตัส/สวนผลไม้’ เป็น ‘ไร่อ้อย’ ได้เริ่มเป็นที่แพร่หลายในหลายเมืองที่เป็นแหล่งผลิตน้ำตาล โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สงวนเพื่อการปลูกอ้อย (ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามสอดส่อง เกษตรกรต้องกำจัดพืชเศรษฐกิจที่ไม่ใช่อ้อยในเขตพื้นที่สงวนฯ) ไม่ว่าจะเป็นเมืองฉงจั่ว นครหนานหนิง เมืองหลิ่วโจว และเมืองหลายปิน
บีไอซี เห็นว่า แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือ Digital Disruption เป็นแรงผลักให้สังคมเข้าสู่ยุค paperless แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า.. อุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อกระดาษยังมีความสำคัญ แนวโน้มความต้องการใช้กระดาษในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร บรรจุภัณฑ์ ของใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
หลายเมืองในเขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นฐานอุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อกระดาษที่สำคัญในจีน และยังเป็นที่ตั้งของโรงงานขนาดใหญ่จากทั้งในและต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ บริษัท Guangxi Jingui Pulp & Paper Co, Ltd. (广西金桂浆纸业有限公司) ซึ่งมียักษ์ใหญ่แห่งวงการอุตสาหกรรมกระดาษของโลกอย่าง APP (China) of Sinar Mas Group เป็นผู้ลงทุนในเมืองชินโจว บริษัท stora Enso จากประเทศฟินแลนด์ บริษัท Sun Paper (太阳纸业) และโปรเจกต์ฐานการผลิตกระดาษไฮเอนด์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของบริษัท Nine Dragons Paper (Holding) Limited (玖龙纸业) ที่กำลังก่อสร้างอยู่ที่เมืองเป๋ยไห่ (คาดว่าเดือนมิถุนายน 2566 จะเริ่มเดินสายการผลิตได้)
จากข้อมูลที่บีไอซีรวบรวมมา จะเห็นว่า ในแต่ละปี เขตฯ กว่างซีจ้วง ยังคงมีความต้องการวัตถุดิบ และความต้องการใช้ไม้ยูคาลิปตัสในปริมาณที่สูง มีการผลิตยูคาลิปตัสเชิงอุตสาหกรรม และมีการนำเข้าเยื่อไม้เพื่อผลิตกระดาษ เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน ฐานการผลิตวัตถุดิบในมณฑลกลับมีพื้นที่ลดลง จึงเป็นโอกาสที่ผู้ค้าไทยจะเข้าไปแสวงหาโอกาสเปิดตลาดวัตถุดิบเพื่อการผลิตกระดาษในกว่างซี ทั้งในลักษณะของการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหรือการเป็นตัวกลางซื้อมาขายไป (เมื่อปลายเดือนมกราคม 2566 นครฉงชิ่งได้นำเข้าเยื่อกระดาษ 770 ตันจากประเทศไทยผ่านท่าเรือชินโจว และลำเลียงขึ้นรถไฟไปยังจุดหมายที่ศูนย์โลจิสติกส์ทางรถไฟเสี่ยวหนานย่านครฉงชิ่ง) รวมถึงการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและออกแบบใหม่ๆ ให้สอดรับกับพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคและกระแสอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมในจีน
จัดทำโดย : นายกฤษณะสุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 02, 09 มีนาคม 2566 / 24 กุมภาพันธ์ 2566
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 21, 26 กุมภาพันธ์ 2566