• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ที่นี่…กว่างซี ธุรกิจแฟชั่นและสิ่งทอไทยมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ที่นี่…กว่างซี ธุรกิจแฟชั่นและสิ่งทอไทยมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 เขตฯ กว่างซีจ้วงได้จัดงานนิทรรศการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนานาชาติกว่างซี-อาเซียน ประจำปี 2566 เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มแบบครบวงจรระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการ ภาคการวิจัย และภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบูรณาการห่วงโซ่อุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมสิ่งทอ บ่มเพาะธุรกิจที่มีศักยภาพ และขยายบทบาทไปยังตลาดอาเซียน โดยนายวศิน ธรรมวาสี รักษาการกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ได้เข้าร่วมเป็นแขกกิตติมศักดิ์ในพิธีเปิดด้วย

ภายในงานฯ แบ่งพื้นที่เป็น 10 โซน บนเนื้อที่กว่า 20,000 ตร. ม. มีจำนวน 600 บูธ มีผู้ประกอบการชั้นนำด้าน สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มเข้าร่วมมากกว่า 400 รายจากทั้งในพื้นที่ และจากมณฑลกวางตุ้ง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลอันฮุย และมณฑลฝูเจี้ยน งานดังกล่าวได้รับความสนใจจากธุรกิจกลางน้ำ – ปลายน้ำ ตลอดจนนักลงทุน ผู้จัดซื้อ ผู้จัดจำหน่าย และผู้ค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และมีกิจกรรมย่อยหลายเวที ซึ่งรวมถึงงานประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดการลงทุน และการเดินแบบแฟชั่นโชว์

นายหยาง จ้าวหัว (Yang Zhaohua / 杨兆华) รองประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอของจีน ให้ข้อมูลว่า ปี 2565 ที่ผ่านมา ธุรกิจรายใหญ่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในจีนที่มีอยู่ราว 36,000 ราย มีรายได้รวมกว่า 5.2 ล้านล้านหยวน มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของจีนสร้างสถิติใหม่ และชาติสมาชิกอาเซียนก้าวขึ้นเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของจีนเป็นครั้งแรก

ในบริบทที่อุตสาหกรรมเบาอย่าง “อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม” เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักดั้งเดิมของประเทศจีน หลายปีมานี้ อุตสาหกรรมดังกล่าวในจีนเกิดความเปลี่ยนแปลงจากในอดีต จากปัจจัยด้านต้นทุนแรงงานที่ ‘พุ่ง’ สูงขึ้น และความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างความเป็นกลางของคาร์บอน (carbon neutrality) ทำให้โรงงานกว่า 80% ที่เคยกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศ อย่างมณฑลกวางตุ้ง ฝูเจี้ยน เจ้อเจียง และเจียงซู ต่างทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่อื่นแทน

โดย “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายการลงทุนใหม่ของโรงงานเหล่านี้ ความได้เปรียบด้านทรัพยากรวัตถุดิบ การคมนาคมขนส่ง และทำเลที่ตั้งที่ใกล้อาเซียน รัฐบาลกว่างซีได้กำหนดให้ “อุตสาหกรรมสิ่งทอ” เป็นหนึ่งในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย และเป็น 1 ใน 15 ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเป้าหมายประเภทส่งเสริมของมณฑล ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของเครือข่ายอุตสาหกรรม และมอง “ตลาดอาเซียน” เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกที่สำคัญ

ปัจจุบัน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสิ่งทอที่สำคัญของจีน ปริมาณผลผลิตรังไหมมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของทั้งประเทศ ปริมาณผลผลิตเส้นใยไหมมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของทั้งประเทศ ปริมาณการส่งออกไหมดิบมากกว่า 50% ของทั้งประเทศ มีฐานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มระดับชาติ จำนวน 5 แห่ง มีผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มรายใหญ่มากกว่า 300 ราย และผู้ค้าสิ่งทอมากกว่า 7,000 ราย

เชื่อว่า “คลัสเตอร์” (Cluster) เป็นคำศัพท์ที่ติดหูของผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมมาสักระยะหนึ่งแล้ว จากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบของการรวมกลุ่มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในพื้นที่ เขตฯ กว่างซีจ้วงถือเป็นพื้นที่ที่มีองค์ประกอบของปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการรวมกลุ่มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ดังเช่น การปลูกอ้อยกับการเป็นฐานการผลิตน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในจีน

โอกาสของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มไทยในกว่างซี ในภาพรวม อุตสาหกรรมดังกล่าวในกว่างซีเป็น “อุตสาหกรรมต้นน้ำ-กลางน้ำ” ส่วนใหญ่เน้นการผลิตวัตถุดิบเส้นใย ปั่นด้าย และทอผ้าสำเร็จรูป ซึ่งยังมี “ช่องว่าง” ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า (Value added) ให้แก่ตัวสินค้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งครอบคลุมในเรื่องของการออกแบบตัดเย็บและการนำวัตถุดิบมาผนวกเข้ากับนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอสมัยใหม่ จึงเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจ (ไทย) สามารถเข้ามาเติมเต็มในส่วนของการแปรรูป หรืออุตสาหกรรมกลางน้ำและอุตสาหกรรมปลายน้ำได้

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงและมีศักยภาพด้านผ้าไหม โดยหน่วยงานภาครัฐ / ภาคเอกชนสามารถพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี หรือเข้ามาขยายธุรกิจเกี่ยวกับแพรไหม โดยใช้จุดแข็งด้านทรัพยากรในท้องถิ่นของกว่างซี สอดผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายของไทย ทั้งในธุรกิจสายตรงอย่างสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อม โดยเฉพาะกลุ่มสกินแครอย่างสารสกัดจากรังไหม มาร์สใยไหม ซึ่งเป็นที่นิยมและทำเงินได้มากในตลาดจีน

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 19 มีนาคม 2566
เว็บไซต์
http://gx.news.cn (广西新闻) วันที่ 19 มีนาคม 2566

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]