กว่างซีลุยพัฒนา Green Energy ในอ่าวตังเกี๋ย ภาคธุรกิจไทยสนใจหรือไม่

 

ปัจจุบัน จีนมีความต้องการด้านพลังงานเพิ่มสูงขึ้นตามสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายมณฑลในจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายในการจัดหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) โดยเฉพาะในภาวะที่แหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ) มีความผันผวนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวทางของรัฐบาลจีน (ถ่านหินสร้างมลพิษ)

ความกระหายพลังงานจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรกว่า 1/6 ของโลก ทำให้แนวโน้มการลงทุนด้านพลังงานในจีนเริ่มเปลี่ยนทิศ รัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านพลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้นด้วยเหตุนี้ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ใช้ไม่หมดและมีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติรอบตัวโดย‘พลังงานลม’กลายเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยเทคโนโลยีกังหันลม

บนพื้นฐานที่มณฑลแห่งนี้เป็นฐานพลังงานทางเลือก (พลังงานน้ำ) ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีนอยู่แล้ว เขตฯ กว่างซีจ้วงกับการพัฒนาพลังงานทางเลือกจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลกใหม่แต่อย่างใด นอกจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการในมณฑลแล้ว กว่างซียังมีไฟฟ้าที่ส่งป้อนพื้นที่เศรษฐกิจทางฝั่งตะวันออก (ปากแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง) และขายให้กับเวียดนามด้วย

เขตฯ กว่างซีจ้วง มีเส้นแนวชายฝั่งทะเลคิดเป็นระยะทางยาวกว่า 1,600 กิโลเมตร ปัจจุบัน มีทุ่งกังหันลมนอกชายฝั่ง จำนวน 9 แห่ง เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีกำลังการผลิตรวม 23.5 ล้านกิโลวัตต์ล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วง ได้เริ่มต้นโครงการสาธิตด้านพลังงานลมในทะเลอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักชื่ออ่าวตังเกี๋ย) โดยเริ่มต้นที่เมืองฝางเฉิงก่าง (โครงการสาธิตดังกล่าวจะดำเนินการใน 2 เมืองริมทะเล คือ เมืองฝางเฉิงก่าง และเมืองชินโจว)

โปรเจกต์ที่เมืองฝางเฉิงก่าง มีเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า 1.8 ล้านกิโลวัตต์ (ที่เมืองชินโจว 9 แสนกิโลวัตต์) คาดใช้เงินลงทุน 24,500 ล้านหยวน สามารถส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้ปีละมากกว่า 5,000 ล้านหน่วย สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าขั้นพื้นฐานได้ 5 ล้านหลังคาเรือน สร้างรายได้ผลประกอบการได้ปีละ 2,000 ล้านหยวน รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี 800 ล้านหยวน สามารถลดการสิ้นเปลืองถ่านหิน 1.5 ล้านตัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4 ล้านตัน หรือเท่ากับการปลูกป่า 33.65 ล้านต้น ทั้งนี้ คาดว่าเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าชุดแรกจะเริ่มส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ภายในสิ้นปี 2566 นี้ และก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการได้ภายในปี 2567

ตามรายงาน โปรเจกต์ดังกล่าวได้รับความสำคัญจากรัฐบาลกว่างซีเป็นอย่างมาก โดยนายหลิว หนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตฯ กว่างซีจ้วง และนายหลาน เทียนลี่ ประธานเขตฯ กว่างซีจ้วง (เทียบเท่าผู้ว่าการมณฑล) ซึ่งเป็นผู้นำระดับสูงของมณฑล ได้ให้เกียรติเดินทางไปเข้าร่วมในพิธีเปิดโครงการที่เมืองฝางเฉิงก่างด้วย (และกำลังเร่งรัดการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุปกรณ์พลังงานทางเลือก เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานลมและห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อพัฒนาฐานการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่มีกำลังการผลิต 10 ล้านกิโลวัตต์และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมพลังงานลมในทะเลที่มีมูลค่าการผลิตแสนล้านหยวน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเล (Seaward Economy) ของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่มีคุณภาพสูง

โปรเจกต์ที่เมืองฝางเฉิงก่างจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมในกว่างซี โดยมุ่งเน้นที่การผลิตชิ้นส่วนประกอบหลัก (แกนหมุนใบพัด ห้องเครื่อง และเสา) และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง (อุปกรณ์ในห้องเครื่อง) รวมถึงการต่อยอดอุตสาหกรรม (การทำฟาร์มทะเล การผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากน้ำทะเล และการกักเก็บพลังงาน) กลายเป็นห่วงโซ่อุตสาหกรรมแบบครบวงจร (งานสำรวจและออกแบบ การผลิตอุปกรณ์ การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การก่อสร้างและบำรุงรักษา การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยว)

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อหลายปีก่อน บริษัท SIEMENS Energy และกลุ่มบริษัท China Huaneng Group (中国华能集团公司) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีนเป็นบริษัทแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในอ่าวเป่ยปู้ในเมืองชินโจว

บีไอซีเห็นว่า กระแสพลังงานทางเลือกในกว่างซีเป็นอีกโอกาสของภาคธุรกิจไทยที่กำลังมองหาลู่ทางการลงทุนในจีนโดยสามารถเรียนรู้แบบอย่างความสำเร็จจาก บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) ที่เข้าถือหุ้น10% ในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝางเฉิงก่าง เฟสที่ 2 โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566 เวลา 06.55 น.ได้เริ่มการผลิตและส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการแล้ว

ทั้งนี้ รัฐบาลกว่างซีกำลังมุ่งส่งเสริมการลงทุนจากธุรกิจต่างชาติโดยได้เน้นว่าธุรกิจต่างชาติจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเสมอภาคและทัดเทียมทางกฎหมายการแข่งขัน และการคุ้มครอง/สิทธิประโยชน์ทางการลงทุนรวมทั้งได้พัฒนากลไกการทำงานเพื่อให้บริการและติดตามความคืบหน้าในการลงทุนรวมถึงเคาน์เตอร์รับเรื่องร้องเรียนสำหรับนักลงทุนต่างชาติแล้ว

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มาเว็บไซต์www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 25 มีนาคม 2566
เว็บไซต์www.cctv.com (央视新闻) วันที่ 25 มีนาคม 2566
เว็บไซต์www.gxtv.cn (广西广播电视台) วันที่ 25 มีนาคม 2566
เว็บไซต์www.gxnews.com (广西新闻网) วันที่ 25 มีนาคม 2566

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]