• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • พาณิชย์จีนจัดงาน “Invest in China Year” ที่นครกว่างโจว เร่งเครื่องดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

พาณิชย์จีนจัดงาน “Invest in China Year” ที่นครกว่างโจว เร่งเครื่องดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2566 กระทรวงพาณิชย์จีนและรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง จัดงาน “Invest in China Year”  ที่นครกว่างโจว โดยมีนายเหอ ลี่เฟิง (He Lifeng) รองนายกรัฐมนตรีจีน เป็นประธานในพิธี โดยนายเหอฯ ย้ำว่า จีนจะยังคงนโยบายการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และพร้อมที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน จีนจะส่งเสริมการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตเมืองและชนบท เดินหน้ายกระดับการบริโภค ยกระดับและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตให้กับบริษัทต่างชาติในจีน

งานดังกล่าวมีจุดประสงค์ที่จะประชาสัมพันธ์แนวคิดการพัฒนาใหม่ของจีนที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงผลักดันการยกระดับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนของจีนกับต่างประเทศ

ภายในงาน “Invest in China Year” มีการลงนามในสัญญาโครงการสำคัญจำนวน 74 โครงการ มูลค่าการลงทุน 905 ล้านหยวน โดยโครงการที่ลงนามส่วนใหญ่เป็นโครงการในสาขาอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ เช่น อุตสาหกรรมวัสดุขั้นสูง การผลิตอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ รวมถึงโครงการ Hexagon Production Base Project ของสวีเดนที่เมืองเซินเจิ้น และโครงการ Covestro ของสหรัฐฯ ที่เมืองจูไห่ เป็นต้น

ทำไมต้องมณฑลกวางตุ้ง?

มณฑลกวางตุ้งเป็นประตูการค้าที่สำคัญของจีนตอนใต้ และเป็นพื้นที่นำร่องการปฏิรูปและเปิดประเทศแห่งแรกของจีนตั้งแต่เมื่อปี 2521 และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มณฑลกวางตุ้งมีขนาดการลงทุนจากต่างประเทศอยู่ในระดับแนวหน้าของจีน โดยการลงทุนโดยใช้เงินตราต่างประเทศสะสมมากกว่า 1.4 ล้านล้านหยวน มากเป็นอันดับ 2 ของจีน และมีจำนวนวิสาหกิจต่างชาติที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกว่า 135,000 ราย มากเป็นอันดับ 1 ของจีน

มณฑลกวางตุ้งมีแพลตฟอร์มสำหรับการขยายความร่วมมือกับต่างประเทศที่สำคัญ โดยเป็นที่ตั้งของเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือระหว่าง 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง[1] กับฮ่องกงและมาเก๊า และเขตสาธิต นำร่องสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีน (Pilot Demonstration Area of Socialism with Chinese Characteristics) เมืองเซินเจิ้น นอกจากนี้ ยังมีเขตส่งเสริมเขตความร่วมมือเชิงลึกกวางตุ้ง – มาเก๊า ที่เขตเหิงฉิน เมืองจูไห่ (Guangdong-Macao In-Depth Cooperation Zone in Hengqin) เขตความร่วมมืออุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่เซินเจิ้น – ฮ่องกง ที่เขตเฉียนไห่ เมืองเซินเจิ้น (Qianhai Shenzhen-Hong Kong Modern Service Industry Cooperation Zone) และเขตสาธิตความร่วมมือรอบด้านระหว่างมณฑลกวางตุ้งกับฮ่องกงและมาเก๊า ที่เขตหนานซา นครกว่างโจว (Demonstration zone of all-round cooperation among Guangdong, Hong Kong and Macao in Nansha, Guangzhou) ล้วนแล้วแต่เป็นแพลตฟอร์มที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคและรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ

นายจาง จิ้งซง  (Zhang Jingxiong) อธิบดีกรมพาณิชย์มณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า มณฑลกวางตุ้งมีข้อได้เปรียบในด้านขนาดเศรษฐกิจ ประชากรและตลาด โรงงานอุตสาหกรรม การคมนาคมที่สะดวก สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยา และคาดว่าจะดึงดูดการลงทุนในภาคการผลิตและการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติมากขึ้น นอกจากนี้ นายจาง ซิน (Zhang Xin) รองผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้งกล่าวในงานฯ ว่า เมื่อปี 2565 มณฑลกวางตุ้งมีการลงทุนที่แท้จริงที่ใช้เงินทุนต่างประเทศกว่า 180,000 ล้านหยวน โดยมีบริษัทต่างชาติกว่า 300,000 แห่ง ในจำนวนดังกล่าวเป็นบริษัทที่ติดอันดับบริษัท 500 อันดับที่ใหญ่ที่สุดในโลกจำนวนถึง 350 ราย

 

สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
19 เมษายน 2566

แหล่งที่มาของข้อมูล
http://www.gov.cn/xinwen/2023-03/28/content_5748896.htm
https://static.nfapp.southcn.com/content/202303/28/c7502179.html
https://www.newsgd.com/node_a21acd2229/fad84da8d8.shtml

[1] ได้แก่ นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น เมืองฝอซาน เมืองตงก่วน เมืองจูไห่ เมืองฮุ่ยโจว    เมืองจงซาน เมืองเจียงเหมิน และเมืองจ้าวชิ่ง

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]