• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีตั้งฐานปั้น ‘หัวกะทิ’ ป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอาเซียน โอกาสที่ภาคธุรกิจการศึกษาไทยต้องเร่งคว้าไว้ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

กว่างซีตั้งฐานปั้น ‘หัวกะทิ’ ป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอาเซียน โอกาสที่ภาคธุรกิจการศึกษาไทยต้องเร่งคว้าไว้ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ปัจจุบัน ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ หรือที่เรียกสั้นๆว่า รถยนต์ EV (Electric Vehicle) เป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังมาแรงและมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในจีนและทั่วโลก ในฐานะที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นหนึ่งในแหล่งลงทุนและฐานการผลิตยานยนต์ที่มีความสำคัญของประเทศ ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้าเป็นโจทย์ที่ผู้ผลิตยานยนต์ต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจและตลาดยานยนต์ไฟฟ้า

ในเขตปกครองตนเองกว่างซี ต้องบอกว่า… “อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า” เป็นหนึ่งในประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมของเขตฯ กว่างซีจ้วง รัฐบาลกว่างซีไม่เพียงมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้น ยังรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุตสาหกรรมดังกล่าวด้วย

ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ตั้งแต่การผลิตรถยนต์สำเร็จรูป อะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ แบรนด์ และตลาดหลังการขาย (Aftermarket) โดยเฉพาะ “เมืองหลิ่วโจว” ซึ่งเป็นฐานการผลิตเก่าแก่ และ “นครหนานหนิง” ที่เป็นดาวรุ่งดวงใหม่ในวงการรถยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องตบเท้าเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานทรัพยากรบุคคลและหลักประกันสังคมนครหนานหนิง ให้ข้อมูลว่า นครหนานหนิงกำลังเร่งส่งเสริมการบ่มเพาะ ‘หัวกะทิ’ (Talent) ด้านเทคนิคเพื่อป้อนสู่ตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ล่าสุด ยักษ์ใหญ่วงการยานยนต์ไฟฟ้าจีนอย่าง BYD (比亚迪) ร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีหนานหนิง (南宁职业技术学院 / Nanning College for Vocational Technology – NCVT) จัดตั้ง ‘วิทยาลัยอุตสาหกรรม BYD’ ที่นครหนานหนิง เพื่อใช้เป็นฐานบ่มเพาะบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า

กล่าวได้ว่า ‘วิทยาลัยอุตสาหกรรม BYD’ เป็นผลผลึกของความสำเร็จและเป็นต้นแบบในการพัฒนาความร่วมมือด้านศึกษาเพื่อบ่มเพาะบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็น ‘ฟันเฟือง’ สำคัญในการขับเคลื่อนและรองรับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของจีนและอาเซียน

จากข้อมูลพบว่า ค่ายรถยนต์ BYD และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้จับมือลงนามข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับสถาบันอาชีวศึกษา 10 แห่งในมณฑล และจัดตั้ง “สมาพันธ์ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจในการบ่มเพาะบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคในอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกของนครหนานหนิง” (南宁新能源汽车产业技能人才培养政校企合作联盟)

เฉพาะปี 2565 นครหนานหนิง ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจาก BYD คิดเป็นมูลค่า 28,000 ล้านหยวน เป็นโครงการลงทุนที่มีมูลค่าการผลิตมากกว่า 50,000 ล้านหยวน จำนวน 5 โครงการ ซึ่งบางโครงการได้เริ่มเดินสายการผลิตแล้ว

บีไอซี เห็นว่า บนพื้นฐานเดิมที่ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศเศรษฐกิจ (ecosystem) ในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นโจทย์ที่ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัว  เพราะแนวโน้มในอนาคตมีความชัดเจนมากขึ้นว่าชิ้นส่วนยานยนต์ที่ประเทศไทยผลิตอยู่นั้นมีแนวโน้มลดลงในตลาดโลก

ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องของไทยต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ในการเป็น EV Hub ระดับภูมิภาค ซึ่ง “ภาคการศึกษากับการพัฒนากำลังคน” ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อการวิจัยและพัฒนา และต่อยอดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างระบบนิเวศน์ให้มีความพร้อมต่อการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นโอกาสที่ภาคการศึกษาไทยจะพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในเขตฯ กว่างซีจ้วง

 

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แหล่งบ่มเพาะบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้านอกจากจะมีที่นครหนานหนิงแล้ว ยังมีที่เมืองหลิ่วโจว เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เมืองหลิ่วโจวเพิ่งเปิดหลักสูตรฝึกอบรมเสริมสร้างสมรรถนะอาจารย์ด้านเทคนิคอาชีวะในสาขายานยนต์ไฟฟ้าจีน-ไทย โดยมีอาจารย์มาจากหลายสถาบันการศึกษาในไทยเข้าร่วมการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าวที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีการรถไฟหลิ่วโจว (Liuzhou Railway Vocational Technical College / 柳州铁路职业技术学院)

นอกจากนี้ ภายหลังจากที่รัฐบาลจีนได้ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ นักศึกษาไทยจากวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการอยุธยาก็ได้เริ่มทยอยเดินทางกลับมาศึกษาต่อในสาขาเทคนิคยานยนต์ไฟฟ้า (หลักสูตรทวิวุฒิ) ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีการรถไฟหลิ่วโจวแล้ว นับเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นฟูความร่วมมือในมิติที่ขาดหาย และเป็นต้นแบบความร่วมมือด้านการบ่มเพาะทักษะที่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถนำไปเรียนรู้และต่อยอดได้

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 25, 26 และ 27 เมษายน 2566
เว็บไซต์ www.ltzy.edu.cn (
柳州铁路职业技术学院) วันที่ 26 เมษายน 2566
ภาพประกอบ
www.ltzy.edu.cn

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]