ฝาก ‘นครหนานหนิง’ ในอ้อมใจ – ทางเลือกใหม่ของการกระจายสินค้าในจีน

ที่ผ่านมา บีไอซี ได้ติดตามนำเสนอความคืบหน้าของการพัฒนา “ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง หรือ Nanning International Railway Port (南宁国际铁路港) ท่าสถานีที่ได้รับการกำหนดให้เป็น “ฮับ” การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางรถไฟของนครหนานหนิง และเป็นอีกหนึ่ง ‘ทางเลือก’ ในกระจายสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด การก่อสร้าง “ศูนย์คัดแยกอัตโนมัติ” ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัท China Railway Nanning Group Co., Ltd.  กับบริษัท  SF Express ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในวงการขนส่งสินค้าและพัสดุ (courier) ของจีน ซึ่งตั้งอยู่ในภายในพื้นที่ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว โดยศูนย์แห่งนี้ถือเป็นศูนย์คัดแยกอัตโนมัติมุ่งสู่อาเซียนที่มีความทันสมัยและมีขนาดใหญ่ที่สุดของกว่างซี มีพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 1.5 แสน ตร.ม. มีมูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านหยวน มีศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ปีละ 1 ล้านตัน

ภายในศูนย์คัดแยกอัตโนมัติ ประกอบด้วย 2 อาคาร คือ อาคารคัดแยกสำหรับสินค้าและพัสดุที่มีขนาดใหญ่ (ในภาษาจีน เรียกการบริการนี้ว่า “ไคว่ อวิ้น”) กับอาคารคัดแยกสำหรับสินค้าและพัสดุขนาดเล็ก (ในภาษาจีน เรียกการบริการนี้ว่า “ซู่ อวิ้น”) โดย SF Express ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในอุปกรณ์คัดแยกอัตโนมัติ ซึ่งช่วยให้การคัดแยกสินค้าและพัสดุมีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์การพัฒนาของธุรกิจโลจิสติกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce ได้เป็นอย่างดี

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนให้ความสำคัญกับระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ด้วย “รถไฟ” เป็นอย่างมาก และการขนส่งทางรถไฟถือเป็นหนึ่งใน ‘ฟันเฟือง’ ชิ้นสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาให้เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็น “ฮับ” การขนส่งสินค้าเชื่อมจีน(ตะวันตก) กับประเทศสมาชิก RCEP เอเชียกลาง และยุโรป โดยมี “ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” เป็นหนึ่งใน ‘ผู้เล่นตัวจริง’ ของระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ทางรางของกว่างซี

ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง เป็นจุดข้อต่อสำคัญในระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (International Land and Sea Trade Corridor – ILSTC) และเป็นโครงการสำคัญในแผนการพัฒนาเมืองศูนย์กลางโลจิสติกส์ประเภทท่าเรือบก (Inland port) แห่งชาติจีน ถือเป็นด่านการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกว่างซี เริ่มให้บริการด้านพิธีการศุลกากรสินค้าขาเข้า-ขาออกแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวตั้งแต่เดือน พ.ค. 2564 และเป็นสถานีแม่ข่ายสำคัญในโครงข่ายรถไฟจีน และโครงข่ายรถไฟ China- Europe Railway

โดยสรุป บีไอซี เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเชิงบวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อได้เปรียบด้านที่ตั้ง โครงข่ายการขนส่งทางรถไฟ และระบบศุลกากรที่มีศักยภาพและทันสมัย ประสิทธิภาพงานขนส่ง ความสะดวกรวดเร็วที่ได้รับจากการใช้บริการ ตลอดจนต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายที่ลดลง ผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาและพิจารณาใช้ประโยชน์จาก “ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิงในการขนส่งสินค้าไทยต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ และขอเพิ่มข้อมูลให้อีกนิดว่า ขณะนี้ นครหนานหนิงกำลังได้รับความสำคัญและได้รับการส่งเสริมผลักดันจากรัฐบาลจีนให้เจริญเติบโต เห็นได้จากในเวทีการประชุมสำคัญๆ กับอาเซียนที่นครหนานหนิง ผู้แทนจากรัฐบาลกลาง กระทรวงพาณิชย์จีน จะใช้คำว่า การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอาเซียนผ่าน “ช่องทางหนานหนิง” ที่ภาษาจีนใช้คำว่า หนานหนิงทงต้าว (南宁通道) หรือ Nanning Channel ดังนั้น นครหนานหนิงจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจมากในการตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการไทยในการหาจุดกระจายสินค้าไทยในจีน

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 14 เมษายน 2566
เครดิตภาพ  xinhua

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]