รางวัลส่งเสริมผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของจีนประจำปี 2561

1. รางวัลสูงสุดแด่นักวิทยาศาสตร์แห่งชาติปี 2561

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 รัฐบาลกลางและสภาแห่งรัฐจีน (State Council) จัดพิธีมอบรางวัลส่งเสริมผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2561 ณ มหาศาลาประชาชน (The Great Hall of People) กรุงปักกิ่ง โดยประธานาธิบดี นาย สี จิ้นผิง ทำการมอบรางวัลสุดยอดผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศขั้นสูงสุดสำหรับนักวิทยาศาสตร์จีนจำนวน 2 รางวัล ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างผลงานที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ดังนี้

1.1 นาย หลิว หยงถ่าน ผู้เชี่ยวชาญด้านเรดาร์และเทคโนโลยีตรวจจับสัญญาณ เกิด ณ เมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู ปี 2470 อายุ 82 ปัจจุบันเป็นนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Harbin Institute of Technology มีผลงานโดดเด่นด้านการวิจัยพัฒนาระบบเรดาร์ทางทะเล เคยได้รับรางวัลผลงานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับหนึ่งในปี 2534 จากความสำเร็จในการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจจับเรือทางทะเลระยะไกล และรางวัลเดียวกันในปี 2558 จากผลงานวิจัยอุปกรณ์เรดาร์ทางทะเลขนาดเล็กที่สามารถติดตั้งบนเรือบรรทุกเครื่องบิน และสามารถตรวจจับภัยคุกคามทางทะเลได้กว้างไกลและแม่นยำมากขึ้น ทำงานได้ทุกเวลา ทุกสภาพอากาศ ถือเป็นเทคโนโลยีเรดาร์ทางทะเลที่มีความทันสมัยเทียบเท่ากับนานาประเทศ นาย หลิว หยงถ่าน ถือเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างคุณูปการด้านการพัฒนาระบบเรดาร์ป้องกันประเทศทางทะเลของจีนให้มีความทันสมัย เปรียบดั่งการสร้าง “กำแพงเมืองจีนทางทะเล”

1.2 นาย เฉียน ชีหู่ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการป้องกันประเทศ เกิด ณ เมืองคุนซาน มณฑลเจียงซู ปี 2470 อายุ 81 ปัจจุบันเป็นนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Army Engineering University of the People’s Liberation Army เป็นผู้บุกเบิกการวิจัยด้านวิศวกรรมการป้องกันประเทศของจีน เคยได้รับรางวัลผลงานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับสอง ในปี 2541 จากผลงานวิจัยวัสดุและโครงสร้างป้องกันระเบิดนำวิถีความเร็วสูง และรางวัลผลงานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับหนึ่งในปี 2554 จากผลงานวิจัยทฤษฎีคำนวณการขุดเจาะเส้นทางใต้ดินที่สามารถทนต่อแรงระเบิดนิวเคลียร์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้อุทิศตนและสร้างผลงานสำคัญด้านวิศวกรรมป้องกันประเทศอย่างยาวนานกว่า 60 ปี

การคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์แห่งชาติเพื่อมอบรางวัลเกียรติยศสูงสุดดังกล่าวเริ่มขึ้นในปี 2543 และมีนักวิทยาศาสตร์จำนวน 31 คนที่ได้รับมอบรางวัลจนถึงปัจจุบัน และในปีนี้รัฐบาลโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ประกาศเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 ทำการปรับเพิ่มเงินรางวัลของรางวัลสุดยอดผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจาก 5 ล้านหยวนเป็น 8 ล้านหยวนต่อคน

2. ทิศทางนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน

ภายหลังพิธีการมอบรางวัล นายกรัฐมนตรี นาย หลี่ เค่อเฉียง เป็นผู้แทนรัฐบาลกลาง กล่าวปาฐกถาแสดงความยินดีและขอบคุณผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน โดยกล่าวว่า ตลอดการปฏิรูปประเทศ 40 ปี ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงผลสำเร็จของการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอนและซับซ้อน และภารกิจการปฏิรูปพัฒนาประเทศที่ยากลำบาก จีนยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรมและผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ในอนาคตจีนจะเร่งรัดการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่เป็นประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยี เพิ่มนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจะปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยพื้นฐานเป็นอันดับแรก ส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการระหว่างการวิจัยพื้นฐาน การวิจัยประยุกต์ และการสร้างอุตสาหกรรมการวิจัย อีกทั้งจะเดินหน้าปฏิรูประบบการจัดการและการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านเทคโนโลยี ขยายขอบเขตอำนาจและสิทธิ์ของนักวิทยาศาสตร์ในการวิจัย การใช้ทุนวิจัย และการนำผลวิจัยไปปรับใช้จริง รวมถึงปรับปรุงระบบการให้รางวัลสนับสนุนนักวิจัยที่หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น

นาย หลี่ เค่อเฉียง ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของภาคธุรกิจในการพัฒนาและผลิตนวัตกรรม เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน โดยรัฐบาลจะส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความเท่าเทียม เป็นธรรมและเอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม ลดต้นทุนเชิงระบบของการดำเนินธุรกิจและการวิจัยนวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะจะเร่งรัดการสร้างระบบสำหรับทรัพย์สินทางปัญญาที่จะสร้างสรรค์ ปกป้อง นำไปใช้ และให้บริการอย่างครบวงจร ปราบปรามการลอกเลียนและปลอมแปลงอย่างจริงจัง และท้ายที่สุดจะส่งเสริมการเปิดกว้างและการสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรม กำหนดเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัย สะสมและรวบรวมทรัพยากรสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรม

3. การสร้างผลงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติของกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา

นอกจากรางวัลสูงสุดสำหรับสุดยอดผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รัฐบาลยังได้คัดเลือกและมอบรางวัลประเภทต่างๆ เพื่อส่งเสริมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนานาชาติในจีนแก่นักวิทยาศาสตร์ชาวต่างชาติ จำนวน 5 คน และรางวัลโครงการวิจัยซึ่งประกอบไปด้วยรางวัล 3 ประเภท ได้แก่ รางวัลผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ (State Natural Sciences Award) 38 โครงการ รางวัลผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีแห่งชาติ (State Technological Inventions Award) 67 โครงการ และรางวัลผลงานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (State Scientific and Technological Progress Award) 173 โครงการ รวมทั้งสิ้น 278 โครงการ ซึ่งภายหลังพิธีมอบรางวัลส่งเสริมผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2561 กระทรวงศึกษาธิการจีนได้แถลงข่าวว่ามีผลงานจากโครงการวิจัยของกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาได้รับรางวัลมากถึง 185 โครงการ อาทิ โครงการ Large-depth, high-precision and wide-field electromagnetic exploration technology and equipment ของมหาวิทยาลัย Central South University และ Resource reflection mechanism and efficient interoperable technology for a Cloud-End fusion System ของมหาวิทยาลัย Peking ซึ่งได้รับรางวัลผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีแห่งชาติอันดับหนึ่ง และ โครงการ Experimental findings on the quantum anomalous hall effect ของมหาวิทยาลัย Tsinghua ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติอันดับหนึ่ง เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคส่วนสถาบันอุดมศึกษาในการสร้างสรรค์ผลงานผ่านการวิจัยขั้นพื้นฐานและการวิจัยนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงเศรษฐกิจจีนในอนาคต

(photo: ecns.cn)

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็น

การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนเป็นไปอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิจัยพื้นฐานเป็นอันดับแรก ส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการระหว่างการวิจัยพื้นฐาน การวิจัยประยุกต์ และการสร้างอุตสาหกรรมการวิจัย อีกทั้งยังส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์ในหลายด้าน เช่น การสนับสนุนทุนวิจัย การนำผลวิจัยไปปรับใช้จริง การมอบรางวัลสนับสนุนนักวิจัยผู้สร้างผลงานสำคัญ การเปิดกว้างและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัย ซึ่งไทยสามารถนำมาปรับใช้ สร้างความเชื่อมโยงเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับจีน และส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในระดับสถาบันอุดมศึกษาซึ่งจีนมีทรัพยากรคุณภาพจำนวนมาก

ที่มา

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]