แผนการและนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีน

1. แผนแม่บท AI 2030

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 รัฐบาลจีนได้แถลงการณ์ “แผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่” (The Next Generation Artificial Intelligence Development Plan) เป็นแผนแม่บทที่กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างเป็นระบบ กำหนดให้เทคโนโลยี AI เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งชาติ มีความสำคัญต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน โดยที่จีนมีพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนา AI แต่สถานะปัจจุบันของเทคโนโลยี AI ยังล้าหลังกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป โดยแผนแม่บทฯ ได้กำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ภารกิจหลัก และมาตรการส่งเสริม เพื่อให้ประเทศจีนเป็นผู้นำด้าน AI ภายในปี 2573 สรุปได้ดังนี้

1.1 เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเทคโนโลยี AI แบ่งออกเป็นสามระยะ ได้แก่

– ระยะที่ 1 ปี 2563 บรรลุเป้าหมายการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ทัดเทียมระดับสากล การวิจัยทฤษฎีและเทคโนโลยี New Generation AI มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม อุตสาหกรรม AI กลายเป็นปัจจัยใหม่ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงกว่า 150,000 ล้านหยวน และดึงการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มีมูลค่าสูงกว่า 1,000,000 ล้านหยวน อีกทั้งใช้เทคโนโลยี AI เป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายหลักในการเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Nation) และมีสังคมที่มีความกินดีอยู่ดีระดับปานกลาง (Moderately Prosperous Society) ในทุกด้าน

– ระยะที่ 2 ปี 2568 สามารถค้นพบสิ่งใหม่ด้านการวิจัยทฤษฎีพื้นฐาน AI โดยเฉพาะ AI ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Self-learning AI) ยกระดับอุตสาหกรรม AI ของจีนขึ้นสู่ส่วนยอดของห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain) และมีมูลค่าสูงกว่า 400,000 ล้านหยวน ดึงการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มีมูลค่าสูงกว่า 5,000,000 ล้านหยวน เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมและการบปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ และเริ่มดำเนินการยกร่างกฎหมาย กฎระเบียบ บรรทัดฐานทางจริยธรรม และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI

– ระยะที่ 3 ปี 2573 เป็นผู้นำด้านทฤษฎี เทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้ AI  และเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม และแหล่งบ่มเพาะบุคลากร AI ของโลก อุตสาหกรรม AI มีมูลค่าสูงกว่า 1,000,000 ล้านหยวน และดึงการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มีมูลค่าสูงกว่า 10,000,000 ล้านหยวน กฎหมาย กฎระเบียบ บรรทัดฐานทางจริยธรรม และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอัจฉริยะมีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นพื้นฐานของการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

1.2 ภารกิจหลัก 6 ด้าน ได้แก่

– การสร้างระบบเปิดในการร่วมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม AI

– บ่มเพาะเศรษฐกิจดิจิทัลขั้นสูงและประสิทธิภาพสูง

– สร้างสังคมอัจฉริยะที่สะดวกสบายและปลอดภัย

– ส่งเสริมการบูรณาการใช้ AI ในกองทัพและพลเรือน

– สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

– วางแผนโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำคัญล่วงหน้าสำหรับ New Generation AI

1.3 มาตรการส่งเสริม

เพื่อให้การดำเนินงานตามภารกิจหลักเป็นไปอย่างราบรื่น แผนแม่บทฯ ได้กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมและปกป้องการพัฒนา AI ของจีน 6 ด้าน ได้แก่

– จัดตั้งข้อกฎหมาย กฎระเบียบ และบรรทัดฐานทางจริยธรรมเกี่ยวกับการพัฒนา AI

– ปรับปรุงนโยบายสำคัญด้านการพัฒนา AI

– จัดทำมาตรฐานและระบบการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของเทคโนโลยี AI

– สร้างระบบกำกับควบคุมและประเมินความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยี AI

– ให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะบุคลากรด้าน AI

– จัดกิจกรรมให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ AI

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือหลักในการจัดสรรทรัพยากร โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ชี้นำ ทั้งด้านระบบการสนับสนุนทางการเงิน การวางจุดและโครงข่ายพื้นที่พัฒนานวัตกรรม AI และการรวบรวมจัดสรรทรัพยากรจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2. นโยบายและมาตรการอื่นๆ ที่สนับสนุนแผนแม่บท AI 2030

2.1 นโยบายกำหนดแนวทางการวิจัยโครงการขนาดใหญ่ของปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2561 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนได้แถลงการณ์เอกสารเรื่อง “แนวทางการยื่นคำขอวิจัยโครงการขนาดใหญ่ด้านปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่ (New Generation AI) ภายใต้นโยบายนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ ปี 2573” กำหนดทิศทางการวิจัยพัฒนา New Generation AI ในสามกลุ่มหลัก ได้แก่ ทฤษฎีพื้นฐานของเทคโนโลยี New Generation AI เทคโนโลยีสำคัญที่มีความต้องการสูง และการวิจัยชิปและระบบ AI มีระยะเวลาบังคับใช้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2563 เพื่อเร่งบรรลุเป้าหมายระยะแรกของแผนแม่บทการพัฒนา AI ภายในปี 2563

2.2 นโยบายการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสำหรับ New Generation AI

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนได้แถลงการณ์เอกสารเรื่อง “ข้อชี้แนะการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมแบบเปิดสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่แห่งชาติ” ระบุว่า การเปิดกว้างและการร่วมแบ่งปันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม AI โดยให้บริษัทรายใหญ่ในอุตสาหกรรม AI เป็นผู้นำและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย ในการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมแบบเปิด เพื่อให้บุคลากร องค์กร และบริษัทเอกชนขนาดกลางเล็กสามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ผ่านการใช้ทรัพยากรซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้น เพื่อยกระดับความสามารถในการวิจัยและการให้บริการของอุปกรณ์พื้นฐานในองค์รวม ส่งเสริมการเผยแผ่ผลงานวิจัยเพื่อนำไปประยุกต์ใช้จริง เพื่อให้ AI เป็นปัจจัยใหม่ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม

2.3 การจัดตั้งเขตสาธิตการพัฒนานวัตกรรมยุคใหม่และ AI ในมหานครเซี่ยงไฮ้

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 สำนักข่าวซินหวารายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นมหานครเซี่ยงไฮ้ทำการเปิดตัวเขตสาธิตการพัฒนานวัตกรรมยุคใหม่และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Pilot Zone for the New-generation Innovation and Artificial Intelligence)  ในเขตผู่ตง มหานครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเขตสาธิตที่สองต่อจากกรุงปักกิ่งที่เปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยจะมุ่งยกระดับการวิจัยพัฒนา AI ในด้านต่างๆ อาทิ การวิจัยค้นคว้า การพัฒนาและประยุกต์ใช้ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อการใช้ชีวิตของประชาชน (การแพทย์และสุขภาพ การคมนาคมอัจฉริยะ และชุมชนอัจฉริยะ) การประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้จะเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการผลิตนวัตกรรม ดำเนินการทดลองการวางโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งก่อสร้างพื้นฐาน ลดข้อจำกัดด้านคุณสมบัติ ข้อมูลและความปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินทางปัญญาในอุตสาหกรรม AI ตลอดจนถึงร่างกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและบรรทัดฐานทางจริยธรรมของ AI โดยตั้งเป้าหมายให้เขตสาธิตดังกล่าวเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม AI ที่จะมีมูลค่าราว 100,000 ล้านหยวน ภายในปี 2563 และเป็นผู้นำในด้านทฤษฎี เทคโนโลยี การประยุกต์ใช้ แหล่งทรัพยากรบุคคล และธรรมาภิบาลของอุตสาหกรรม AI ในปี 2566

(photo: innovationisrael)

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็น

แผนแม่บท AI 2030 ของรัฐบาลจีนได้กำหนดกรอบการพัฒนา AI อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน การบ่มเพาะบุคลากร การประยุกต์ใช้ การกำหนดกฎระเบียบกำกับดูแล ตลอดจนถึงการกำหนดบทบาทของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนประชาสังคม แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี AI ต่อการพัฒนาและปฏิรูปประเทศจีนในยุคสมัยใหม่ที่สถานการณ์ทั่วโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความท้าทายใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ นอกจากนี้ นโยบายและมาตรการเพิ่มเติม เช่น การกำหนดแนวทางโครงการวิจัยขนาดใหญ่ การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมสำหรับ New Generation AI การจัดตั้งเขตสาธิตในมหานครเซี่ยงไฮ้ ล้วนสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาในแต่ละช่วงเวลา เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงจุดในส่วนของเทคโนโลยี AI ที่จีนยังตามหลังประเทศอื่นๆ อีกทั้งเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยดึงดูดและรวบรวมทรัพยากร เร่งรัดการพัฒนาและทดลองเทคโนโลยี AI ให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจและสังคมของจีนและการเดินหน้าสู่เป้าหมายประเทศแห่งนวัตกรรมยุคใหม่และการเป็นมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์

ที่มา

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]