จุฑารัตน์ วงค์จันทร์ (แจ๊กกี้) | นักศึกษาไทยสาขา Nuclear Engineering and Management, Tsinghua University

ปริญญาโท Nuclear Engineering and Management Program of Energy and Power Engineering, Department of Engineering Physics, Tsinghua University

ปริญญาตรี Nuclear Science Department of Applied Radiation and Isotope, Kasetsart University

“ประเทศจีนถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความโดดเด่นในด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างพลังงานนิวเคลียร์ โดยคุณสมบัติอันโดดเด่นของพลังงานนิวเคลียร์คือการผลิตพลังงานอย่างยั่งยืนที่มาควบคู่กับมาตราฐานความปลอดภัยระดับสูง ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้จีนสามารถผ่านพ้นวิกฤตด้านพลังงานมาได้อย่างดีเยี่ยม”

หากกล่าวถึงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในไทย หลายคนอาจจะยังคงมีข้อสงสัยถึงความจำเป็นในการใช้พลังงานและศักยภาพความพร้อมของไทยนั้นดีพอหรือไม่ ทั้งในเวทีภายในประเทศและในด้านเวทีพลังงานระดับโลก ดังนั้นการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในไทยจึงดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับใครหลาย ๆ คน แต่ไม่ใช่กับผู้เขียนที่มีความหวังว่าสักวันหนึ่งไทยจะสามารถใช้พลังงานสะอาดที่ยั่งยืนนี้ได้ในอนาคต

ในอดีตประเทศไทยเคยมีนโยบายสนับสนุนและวางแผนการใช้งานพลังงานสะอาด โดยมีการกล่าวถึงพลังงานนิวเคลียร์ มาตั้งแต่ปี 2509 และได้เริ่มวางแผนปรับปรุงนโยบายและรับฟังประชามัติจากประชาชนในพื้นที่ในการก่อตั้งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์

หากแต่ในปี 2011 เกิดแผ่นดินไหว ณ ประเทศญี่ปุ่น ที่ทำให้โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะระเบิด เกิดจากระบบหล่อเย็นไม่ทำงานเนื่องจากน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ผลิตกระแสไฟฟ้าสำรองสำหรับการหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า ส่งผลให้และเกิดการระเบิดในเวลาต่อมา ซึ่งผลจากการระเบิดได้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ส่งผลกระทบกระจายเป็นวงกว้างไปทั่วโลกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงต้องกลับมาทบทวนความพร้อมในการจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศอีกครั้ง ในเรื่องของแผนการดำเนินงาน ความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคล ต้นทุนการผลิต และการรับมือกับผลกระทบ ความเสี่ยง หรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต แม้ว่าพลังงานนิวเคลียร์จะเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดมีความปลอดภัยในระดับสูง ในทางกลับกันก็สามารถสร้างผลกระทบเป็นพื้นที่วงกว้างและส่งผลระยะยาว ดังนั้นการเลือกใช้พลังงานสะอาดนี้จึงต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ และยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และการจัดเตรียมความพร้อมด้านบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านสำหรับพลังงานนิวเคลียร์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ในการรับมือและโอกาสการก่อสร้างและเลือกใช้พลังงานนิวเคลียร์ในอนาตค

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) ได้เล็งเห็นถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาบุคคลากรในด้านนี้ จึงมีการจัดการการเรียนการสอนที่เฉพาะด้านในระดับอุดมศึกษา อาทิเช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป สาขาวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ โดยทั้งสองมหาวิทยาลัยมีการเปิดหลักสูตรการเรียนทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก

หากใครสนใจที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในด้านนี้ ก็มีตัวเลือกที่หลายหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอเมริกา โดยประเทศเหล่านี้มีความโดดเด่นในด้านการพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ในเฉพาะด้านที่เหมาะกับการศึกษาและวิจัยในเชิงลึกอีกด้วย

ผู้เขียนมีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิต ณ Department of Engineering Physics, Program of Energy and Power Engineering, Nuclear engineering and Management มหาวิทยาลัย Tsinghua สาธารณรัฐประชาชนจีน โปรแกรมนี้เป็นสูตรภาษาอังกฤษ มีชื่อเรียกว่า “TUNEM” นักศึกษาในโปรแกรมนี้ เรียกว่า TUNEMERs โดยแต่ละปีมีผู้ที่สนใจเข้าศึกษาจากหลากหลายประเทศจากทั่วโลก

การเรียนที่นี้ ค่อนข้างกดดันนิดหน่อย (นักศึกษาที่นี้ขยันและเรียนเก่งกันมาก ๆ) อาจมีเรื่องการปรับตัวด้านวัฒนธรรมและภาษาโดยทั่วไป ในปีแรกจะเป็นการเรียนการสอนอย่างเข้มข้น (เหมือนเอาหลักสูตรวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ที่เคยเรียนที่ไทยในช่วงปี 2- 4 มารวมกันในวิชาเดียว) อย่างไรก็ตาม การเรียนไม่ยากเกินความสามารถและความขยันแน่นอน ในปี 2 เทอม 1 จะเป็นการฝึกงานภายใต้บริษัทที่สนับสนุนทุน ผู้เขียนเป็นการฝึกงานแบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในจีนส่วนใหญ่ จึงเข้ารับฝังการบรรยายและสรุปความรู้ที่ได้และข้อโดดเด่นของบริษัทนั้นๆ) ในปี 2 เทอม 2 จะเป็นการทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จลุล่วงและนำเสนอผลงาน โดยหัวข้อวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนคือ “The Heat Transfer Efficiency Study of Pebble bed Reactor” โดยการทดลองนี้จะมุ่งเน้นไปที่การจำลองโครงสร้างของเตาปฎิกรณ์แบบ HTGR เพื่อศึกษาและดูการแลกเปลี่ยนความร้อนและการพาความของระบบภายในเตาปฎิกรณ์และตัวหล่อเย็นของเตาปฎิกรณ์ โดยมีการปรับเปลี่ยนวัสดุตัวหล่อเย็นเพื่อเพิ่มศักยภาพ ประสิทธิภาพหรือเพิ่มทางเลือกใหม่ให้แก่ตัวหล่อเย็นภายในเตาปฎิกรณ์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตกระไฟฟ้าเพื่อเพิ่มโอกาสการใช้งานที่สามารถทดแทนกันได้ในอนาคต

นักศึกษาทุกคนที่กำลังศึกษาอยู่ จะได้รับทุนการศึกษาครอบคลุมทั้งค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าหอพัก และค่าประกันสุขภาพ โดยทุนนี้จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขทุนของ CSC (Chinese Scholarship Council ) และได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานนิวเคลียร์ถึง 3 บริษัท อาทิเช่น CGN , CNNC and SPIC ที่ให้โอกาสผู้ที่อยู่ภายใต้โปรแกรม TUNEM ได้รับทุนการศึกษาสนับสนุนเพิ่มเติม และมีโอกาสเข้าไปศึกษาดูงาน ณ สถานที่จริงของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในจีน โดยทุนนี้จะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนตุลาคมถึงช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารการรับสมัครและคุณสมบัติได้ที่ https://www.ep.tsinghua.edu.cn/en/info/1029/1373.htm

หากใครสนใจการศึกษา พัฒนาและการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกที่สะอาด ปลอดภัยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของไทย พลังงานนิวเคลียร์ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ยังน่าสนใจและยังคงสามารถพัฒนาได้อีกหลายๆขั้นในอนาคตอีกทั้งประเทศจีนก็มีศักยภาพที่โดดเด่นในด้านนี้มาก ๆ อีกด้วย เรียนเชิญผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นชาว TUNEMERs กันเยอะ ๆ นะคะ

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]