7 มี.ค. 66 – นายซุน เจ๋อโจว (Sun Zezhou) นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน (China Academy of Space Technology – CAST) และหัวหน้าผู้ออกแบบยานสำรวจห้วงอวกาศหลายลำ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่อาคารมหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่งว่า ก่อนภารกิจฉางเอ๋อ-3 (Chang’e 3) นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเอาชนะปัญหาทางเทคนิคมากมายในการพัฒนาเทคโนโลยีการหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางแบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีการอยู่รอดในคืนจันทรคติของยานสำรวจ ซึ่งนำไปสู่ความพยายามครั้งแรกของประเทศในการลงจอดยานบนดวงจันทร์ หลังจากลงจอดบนดวงจันทร์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ยานสำรวจฉางเอ๋อ-3 ของจีนยังคงทำงานอยู่และกลายเป็นยานอวกาศที่ทำงานบนดวงจันทร์นานที่สุด
ในปี พ.ศ. 2561 ภารกิจฉางเอ๋อ-4 (Chang’e 4) ได้สร้างดาวเทียมรีเลย์ (relay) เพื่อการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างภาคพื้นดินและอวกาศ และด้วยความช่วยเหลือของดาวเทียมรีเลย์ ทำให้ยานสำรวจฉางเอ๋อ-4 ลงจอดบนหลุมอุกกาบาตฟอนคาร์มันในแอ่งเอตเคน-ขั้วใต้ (South Pole-Aithen Basin) ได้สำเร็จ นับเป็นการสังเกตการณ์ด้านไกลของดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษยชาติ โดยส่วนประกอบหลักของภารกิจ คือ ยานสำรวจอวี้ทู่-2 (Yutu-2) ซึ่งเป็นรถโรเวอร์สำรวจของฉางเอ๋อ-4 ทำงานบนดวงจันทร์มานานกว่า 4 ปีและเดินทางมากกว่า 1,500 เมตร ทำให้เป็นรถโรเวอร์สำรวจฏิบัติภารกิจยาวนานที่สุดบนดวงจันทร์
ในภารกิจสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ได้ส่งยานอวกาศที่มีความซับซ้อนไปยังวงโคจรและลงจอดบนดาวอังคาร นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรได้ดำเนินการคำนวณ ทดลอง และทดสอบหลายครั้ง และในที่สุดได้สร้างยานสำรวจเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ยานสำรวจเทียนเวิ่น-1 เดินทางไกลกว่า 470 ล้านกิโลเมตรก่อนจะเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดยมียานสำรวจจูร่ง (Zhurong) ลงจอดบนดาวเคราะห์ดวงนี้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ในปัจจุบัน รถแลนด์โรเวอร์สำรวจจูร่งได้เดินทางเกือบ 2,000 เมตร และได้รับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากมาย
https://www.chinadaily.com.cn/a/202303/07/WS640718f9a31057c47ebb2e4c.html