1. ฮั่วจวี้-1 ดาวเทียมเพื่อการทดลองชีววิทยาศาสตร์ดวงแรก ขึ้นสู่อวกาศ
9 ธ.ค. 65 – ศูนย์ปล่อยดาวเทียมไท่หยวนของจีน โดยจรวดขนส่ง “เจี๋ยหลง-3” ได้ส่งดาวเทียม 14 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรตามที่กำหนด รวมถึง “ฮั่วจวี้-1” (ฮั่วจวี้ แปลว่า คบเพลิง) ซึ่งเป็นดาวเทียม เพื่อการทดลองด้านชีววิทยาศาสตร์ดวงแรกที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดยบริษัท Rocket (Taicang) Aerospace Technology Co., Ltd. ตัวดาวเทียมมีน้ำหนัก 12.798 กิโลกรัม โดย “ฮั่วจวี้-1” จะเริ่มการสังเกตการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในอาหารภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ผ่านการรับข้อมูลการสังเกตจากภาคพื้นดิน
2. “ดวงตาผสมของจีน” และแผนที่สามมิติบนพื้นผิวดวงจันทร์ แห่งแรกของโลก
10 ธ.ค. 65 – ศูนย์สังเกตการณ์เชิงรุกในห้วงอวกาศ หรือที่เรียกว่า “ดวงตาผสมของจีน” (China Compound Eye) ตั้งอยู่ในเขตใหม่ เหลียงเจียงของนครฉงชิ่ง กำลังตรวจสอบขั้นสุดท้ายของ การติดตั้งเรดาร์ลำกล้องขนาด 16 เมตร 4 ตัว ซึ่งเป็นเรดาร์กระจายรูรับแสงขนาดใหญ่พิเศษ มีความละเอียดสูง และจะเริ่มใช้งานในเร็ว ๆ นี้ เพื่อถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์แบบสามมิติเป็น ครั้งแรกของโลก
3. ดวงตาจักรวาลจีนรับภาพความละเอียดสูงของทางช้างเผือก
10 ธ.ค. 65 – หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติจีน (National Astronomical Observatories of the Chinese Academy of Sciences) เปิดเผยภาพทางช้างเผือกรายละเอียดสูงจากการใช้ดวงตาจักรวาล China Sky Eye หรือ กล้องโทรทรรศน์วิทยุจานรับสัญญาณเดี่ยวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตร (Five-Hundred-Meter Aperture Spherical Radio Telescope-FAST) ในกระบวนการค้นหาพัลซาร์ในทางช้างเผือก ทีมนักวิจัยได้บันทึกข้อมูลเส้นสเปกตรัมของตัวกลางระหว่างดาวไปพร้อม ๆ กัน เผยให้เห็นโครงสร้างที่ละเอียดอ่อนของก๊าซไฮโดรเจนที่เป็นกลางและลักษณะการแพร่กระจายของก๊าซไอออไนซ์ในทางช้างเผือก และได้วัดเอฟเฟ็กต์ฟาราเดย์ของพัลซาร์จาง ๆ จำนวนมาก ซึ่งเผยให้เห็นสนามแม่เหล็กขนาดใหญ่ในทางช้างเผือก เป็นหลักฐานใหม่ที่ระบุถึงเศษซากจากการระเบิดของซูเปอร์โนวา 2 ครั้ง การค้นพบนี้มีนัยสำคัญต่อการทำความเข้าใจวัฏจักรของระบบนิเวศระหว่างดวงดาวในทางช้างเผือก ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องได้รับการตีพิมพ์เป็นหัวข้อพิเศษในวารสาร “วิทยาศาสตร์ในประเทศจีน : ฟิสิกส์ กลศาสตร์ และดาราศาสตร์” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565
4. เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
12 ธ.ค. 65 – เรือบรรทุกตู้สินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก “ซินฝู-102” (Xinfu 102) ออกจากท่าที่ อู่ต่อเรือหยางจือ ซินฝู ในเมืองไท่ซิง มณฑลเจียงซู และถูกลากไปยังอู่ต่อเรือ ไท่ชาง หยางจือ มิตซุย อย่างปลอดภัย ภายใต้การคุ้มกันของเรือลาดตระเวนทางทะเล 21 ลำจากกรมการเดินเรือ โดยเรือ ซินฝู-102 มีความยาวรวม 399.99 เมตร ความกว้าง 61.3 เมตร ความสูงสูงสุดเหนือกระดูกงู 78.1 เมตร พื้นที่ดาดฟ้า 24,000 ตารางเมตร เทียบเท่าสนามฟุตบอลมาตรฐาน 3.3 สนาม ที่วางซ้อนกันได้สูงสุด 25 ชั้น ความสูงของแต่ละชั้น สามารถบรรจุตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐานขนาด 20 ฟุต ได้สูงสุด 24,346 ตู้ต่อชั้น
5. โครงการทำความร้อนอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ของจีนเสร็จสมบูรณ์
15 ธ.ค. 65 – โครงการทำความร้อนสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์โครงการแรกในประเทศจีนเสร็จสมบูรณ์อย่างเป็นทางการ และนำไปใช้งานในเมืองไห่เยี่ยน มณฑลเจ้อเจียง ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ฉินชาน โดยบริษัท Qinshan Nuclear Power Plant, China National Nuclear Corporation เพื่อเป็นทางเลือกด้านพลังงานให้กับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความร้อนจำนวนมาก ประมาณ 288,000 กิกะจูลต่อปี สามารถทดแทนถ่านหิน 10,000 ตัน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 24,000 ตัน รับประกันการจ่ายความร้อนตลอด 24 ชั่วโมง
- http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202212/218b9ed78b0041d9af87b8b607ecb511.shtml
- http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202212/56891e7027904b1f9c6f32278ef2486d.shtml
- http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202212/2db84d6cad6045cbac965a5fccc88bfb.shtml
- http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202212/d16abf6a6d7042e28c41ec12e8afcedd.shtml
- http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202212/5f7bf145b841429398e5f74a8c0894e4.shtml
ผู้จัดทำ นวัต จึงเจริญธรรม
ผู้ตรวจทาน บุษรินทร์ เณรแก้ว